ส่องภารกิจสร้างโอกาสการศึกษา ผ่าน กสศ. และ มูลนิธิ 50 ปี ธปท.
คอลัมน์แจงสี่เบี้ย | 04 มีนาคม 2568
การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจนะคะ โดยเฉพาะในบริบทของไทยที่ปัจจุบันเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้าง “แก่ก่อนรวย” การเพิ่มคุณภาพคนจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อชดเชยไม่ให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจถดถอยลงมากจากจำนวนคนที่ลดลง โดย Growth แรงงานในช่วง 20 ปีย้อนหลัง (ปี 2547-56) โต 1.2% เทียบกับช่วง 10 ปีหลัง (ปี 2557-66) แทบจะเหลือ 0% ผลก็คือ GDP ไทยในช่วงหลังโตต่ำตาม ทางรอดที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การพัฒนาคุณภาพของคนผ่านการศึกษาค่ะ
แบงก์ชาติมีส่วนสนับสนุนการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กยากจน โดยได้จัดตั้งมูลนิธิ 50 ปี ธปท. ขึ้นในปี 2535 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนา ธปท. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ไขปัญหาทางการศึกษา และสืบทอดเจตนารมณ์ที่มีมาตั้งแต่อดีตผู้ว่าการป๋วย อึ๊งภากรณ์ จนถึงปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนจาก ธปท. ผู้บริหาร และพนักงาน ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธา บริจาคเงิน
ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ มีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาสแก่เด็กยากจนให้สามารถเรียนจบในหลายสาขาอาชีพ หนึ่งในมุมมองของเด็กที่ได้รับทุน สะท้อนให้ฟังว่า “ขอบคุณมากค่ะที่มอบโอกาสให้หนู พวกพี่เป็นเหมือนแสงสว่างของหนู ถ้าไม่ได้รับทุนนี้ หนูก็คงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ”และยังมีเสียงจากน้องคนอื่นๆ ซึ่งพระสยาม BOT Magazine (4 ต.ค.67) ได้รวบรวมไว้ค่ะ
ในปี 2566 มูลนิธิฯ ได้ทำ MOU กับ กสศ. เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนยากจนผ่านโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ในหลายหลักสูตร โดยมุ่งหวังให้เด็กกลุ่มนี้โตเป็นกลุ่มคนทำงานที่จะมีบทบาทมากขึ้นในโลกยุคใหม่ ทั้งเรื่องดิจิทัล เทคโนโลยี และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และให้รอดจากการเป็นแรงงานทักษะต่ำ ซึ่งจะมีผลต่อการหลุดออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่นได้ และตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กันด้วย
ทาง กสศ. เอง ยังมีโครงการดีๆ ทั้งประเภททุนต่างๆ ที่หลากหลาย รองรับเด็กหลายกลุ่ม และยังร่วมมือกับหลายหน่วยงาน รวมถึงมูลนิธิ 50 ปี ธปท. เป็นภาคี "All for Education" โดยเห็นตรงกันว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็น Game changer ที่จำเป็นของประเทศค่ะ
ในฐานะกรรมการและเลขานุการมูลนิธิ 50 ปี ธปท. ผู้เขียนมีโอกาสเป็นวิทยากรในการเสวนางานมหกรรมรวมพลังนักสร้างการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน ที่จัดโดย กสศ. เมื่อ ส.ค. 67 โดยได้เสนอความเห็นว่าโอกาสทางการศึกษาควรต้องมี T.R.U.S.T ประกอบด้วย
ตามรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2567 และทิศทางสำคัญในปี 2568 ที่จัดทำโดย กสศ. เมื่อเดือนที่แล้ว สะท้อนว่า จากผลประเมิน PISA ของ OECD ปี 2565 พบว่า นักเรียนไทยอายุ 15 ปี กว่า 2 ใน 3 มีสมรรถนะด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐาน และ กว่าครึ่งมีสมรรถนะด้านวิทยาศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐาน โดยเด็กยากจนมีผลลัพธ์การเรียนรู้ต่ำกว่าเด็กรวย
ที่น่าสนใจ คือ มีนักเรียนในครัวเรือนยากจนที่สุดแต่สามารถทำคะแนนสมรรถนะด้านคณิตศาสตร์ได้ในระดับสูงสุด 25% ของประเทศ หรือ "กลุ่มนักเรียนช้างเผือก" ซึ่งประเทศไทยมีกว่า 15% ซึ่งหากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ ก็จะเป็นการสูญเสียโอกาสของประเทศ
กสศ. ยังชี้ว่า ไทยมีรายจ่ายด้านการศึกษารวมต่อ GDP ราว 4.9% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย OECD แต่การจัดสรรงบประมาณเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษายังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย (4% ของรายจ่ายด้านการศึกษา) จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อาทิ การเพิ่มศักยภาพของสวัสดิการแบบมุ่งเป้า (Targeting) เพื่อลดต้นทุนการเข้าถึงการศึกษาให้กับเด็กที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ และควรมีการบูรณาการข้อมูลรายบุคคลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเกิดความเชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลระหว่างกัน
นอกจากนี้ กสศ. ยังมีข้อเสนอแนะให้ยกระดับบัตรประจำตัวประชาชนของเด็กเยาวชนให้เป็น Learning Passport โดยรัฐสามารถจัดสรรการอุดหนุนไปยังเลข 13 หลักของเด็กเยาวชนโดยตรง โดยเฉพาะผู้อาศัยอยู่กับครัวเรือนยากจนและเปราะบาง เพื่อที่เด็กจะสามารถใช้เครดิตดังกล่าวในการเลือกเรียนได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งใช้ในการเก็บข้อมูลเครดิตการเรียน เพื่อการศึกษาต่อ และ สมัครงานในอนาคตได้
โดยที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และ ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) เป็นกลไกที่จะช่วยให้การเรียนรู้ทุกรูปแบบสามารถเทียบโอนหน่วยกิต เชื่อมต่อกันได้ทั้งหมดตลอดช่วงชีวิต นับเป็นการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยกระดับทักษะอาชีพ และขจัดปัญหาครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นได้
ทั้งหมดนี้ เป็นภารกิจการสร้างโอกาสการศึกษา ที่มี กสศ. เป็นหน่วยงานหลัก โดยมูลนิธิ 50 ปี ธปท. เป็นหนึ่งในภาคี "All for Education" เพื่อสนับสนุนการเพิ่มคุณภาพคน ตอบโจทย์การเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนค่ะ
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **
ดร.พรเพ็ญ สดศรีชัย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ.กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2568