เจาะลึกการส่งออกสินค้าและบริการของอาเซียน:
โครงสร้างที่แตกต่างสู่การฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน
คอลัมน์ร่วมด้วยช่วยคิด | 18 มีนาคม 2568
ในช่วงหลังวิกฤตโควิดที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าและบริการของอาเซียนขยายตัวได้ดี แต่การฟื้นตัวของแต่ละประเทศกลับไม่เท่ากัน ผู้เขียนพบความแตกต่างเชิงโครงสร้างของการส่งออกที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1. การผลิตและส่งออกสินค้าที่เป็นกระแสความต้องการในปัจจุบันและอนาคต และ 2. ความสมดุลของโครงสร้างการส่งออก ทั้งระหว่างประเภทสินค้าและบริการ จึงขอถอดบทเรียนเพื่อทบทวนโครงสร้างการผลิตและส่งออกของไทยว่าควรเดินหน้าไปสู่ทิศทางใด
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ความต้องการสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะมากขึ้นในอนาคต ส่งผลดีต่ออาเซียนเพราะเป็นฐานการผลิตและ supply chain ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยประเทศที่ส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงอย่างสิงคโปร์สามารถขยายตัวได้เป็นลำดับต้น ๆ ตามมาด้วยมาเลเซียและเวียดนามที่การส่งออกเพิ่มขึ้นจากการที่บริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุน สำหรับการส่งออกไทยโดยรวมถือว่าได้ประโยชน์บางส่วนเช่นกัน
สิงคโปร์และมาเลเซียถือเป็นสองประเทศหลักที่สามารถคว้าโอกาสผลิตสินค้าสำคัญอย่างแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนที่ตลาดโลกกำลังต้องการตามกระแส AI ที่จะมาเป็นแรงขับเคลื่อนโลกในระยะข้างหน้า และมีมูลค่าการส่งออกสูงกว่าสินค้าอื่นในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ โดยการส่งออกจากสิงคโปร์มีสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่าการส่งออกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของอาเซียน ขณะที่ส่วนแบ่งของมาเลเซียทยอยปรับเพิ่มขึ้นจากการผลักดันของภาครัฐและแรงงานที่มีคุณภาพสูง
อีกหนึ่งประเทศที่ก้าวกระโดดมาสู่อันดับ 1 ของการส่งออกสินค้าอาเซียนในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี คือ เวียดนาม โดยสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มอุปกรณ์เพื่อการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ และก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกหลักในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เทียบเท่าสิงคโปร์ได้ในปี 2566 ซึ่งสาเหตุหลักมาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเนื่องจากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐที่เน้นดึงดูดนักลงทุนต่างชาติและการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี
กรณีของไทย พบว่าการส่งออกสินค้าในช่วงหลังโควิด ไทยก็สามารถเกาะกระแสโลกได้บ้างเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับการขยายตัวของ data center ที่ดึงดูดให้ FDI เพิ่มขึ้นกว่า 25% ในปี 2566 เทียบกับปี 2562 เช่น กลุ่มอุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องคอมพิวเตอร์ และ Hard disk drive (HDD) อย่างไรก็ดี สินค้ากลุ่มนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
หากพิจารณาการส่งออกบริการ พบว่าสิงคโปร์ยังเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในภูมิภาค ครองสัดส่วนสูงถึง 67% ของมูลค่าการส่งออกบริการทั้งหมดในอาเซียนในปี 2565 เนื่องจากสิงคโปร์เน้นธุรกิจบริการสมัยใหม่ (modern services) ที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูง เช่น บริการให้คำปรึกษา และบริการด้านการเงิน ซึ่งผู้บริโภคมีความต้องการบริการด้านนี้สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น ไทย และมาเลเซีย ยังคงพึ่งพาธุรกิจบริการแบบดั้งเดิม (traditional services) เช่น การท่องเที่ยว ทำให้มูลค่าเพิ่มเติบโตต่ำ
อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความยืดหยุ่นทนทาน (resilient) ต่อความท้าทายในระยะข้างหน้า คือความสมดุลของโครงสร้างการส่งออก เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด (shock) ประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าและฟื้นตัวได้เร็วกว่าคือประเทศที่มีความสมดุลในโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและบริการมากกว่า โดยไม่พึ่งพาอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากจนเกินไป
โดยหากพิจารณาโครงสร้างการส่งออกสินค้ารายประเทศ จะเห็นได้ว่าไทยมีความสมดุลและมีความหลากหลายสูง ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตต่าง ๆ ไทยจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม กระจุกตัวอยู่ในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการกระจุกตัวดังกล่าวอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงหากอุตสาหกรรมมีปัญหา อย่างเช่นในปี 2566 ที่อุปสงค์ของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ชะลอลงหลังจากที่เร่งไปมากในปีก่อนหน้า การส่งออกของทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียต่างหดตัวสูงถึง 13.1% และ 8.0% ตามลำดับ ในขณะที่ไทยหดตัวเพียง 1.5%
สำหรับโครงสร้างการส่งออกบริการ เกือบทุกประเทศในอาเซียนยกเว้นฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ มีสัดส่วนของการส่งออกบริการกระจุกตัวอยู่ในหมวดท่องเที่ยวสูง เมื่อเกิดวิกฤตโควิดที่มีมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศจึงได้รับผลกระทบรุนแรง สำหรับสิงคโปร์มีสัดส่วนที่สมดุลมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่า หากพิจารณามูลค่าการส่งออกบริการของไทยในปี 2563 พบว่าปรับลดลงจากปีก่อนหน้ามากถึง 61.8% ขณะที่มูลค่าการส่งออกบริการของสิงคโปร์ลดลงเพียง 2.6%
จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกของแต่ละประเทศฟื้นตัวหลังวิกฤตได้ คือความสามารถในการจับกระแสโลกอนาคต อย่างในสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่ส่งออกหมวดอิเล็กทรอนิกส์ได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ การมีโครงสร้างการส่งออกสินค้าและบริการที่กระจายตัว ช่วยกระจายความเสี่ยงและลดทอนผลกระทบโดยรวมได้เมื่อเกิดวิกฤตเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนควรคำนึงถึงการผลิตสินค้าใหม่เพื่อให้ก้าวทันกระแสโลก และควรให้ความสำคัญกับความสมดุลของโครงสร้างการส่งออกสินค้าและบริการ เพื่อให้ประเทศสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
** บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่สังกัด **
ณัฐิกา ทองธวัช
ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ "ร่วมด้วยช่วยคิด" นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 17-19 มีนาคม 2568