แกะรอยนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และนัยต่อเศรษฐกิจไทย 

คอลัมน์แจงสี่เบี้ย | 19 มีนาคม 2568

การกลับมาอีกครั้งของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ สะเทือนการค้าระหว่างประเทศ นับตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ซึ่งแม้จุดมุ่งหมายหลักของรัฐบาลทรัมป์จะยังเหมือนเดิม คือ “Make America Great Again” แต่ครั้งนี้มาพร้อมกับนโยบายการค้าที่มีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าในสมัยแรก (ทรัมป์ 1.0) โดยเฉพาะท่าทีที่มุ่งเน้นการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับหลายประเทศที่ได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ และหลายสินค้าที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ แล้วประเทศไทยต้องกังวลกับสถานการณ์นี้แค่ไหน

 

นโยบายการค้าของรัฐบาลทรัมป์ 2.0

 

นับตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จนถึงตอนนี้ มีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับจีน และขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมไปแล้ว และก็ยังต้องจับตาว่าจะมีนโยบายจะออกมาอีกเป็นซีรีส์ในระยะข้างหน้า โดยเบื้องต้นพอสรุปแนวนโยบายการค้าได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) การขึ้นภาษีรายประเทศ เช่น การขึ้นภาษีกับจีน 20% และการขึ้นภาษีสินค้าบางส่วนกับเม็กซิโกและแคนาดา 25% รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาประเด็นการค้าไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะรู้ผลในเดือนเมษายนนี้ (2) การขึ้นภาษีรายสินค้า ได้แก่ เหล็กและอะลูมิเนียมที่บังคับใช้แล้ว และกลุ่มสินค้าที่จะเตรียมประกาศเพิ่มเติม อาทิ ยานยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ ยาและเวชภัณฑ์ (3) การขึ้นภาษีต่างตอบแทน (reciprocal tariff) ที่ใช้กลไกกฎหมายแตกต่างจากที่เคยใช้ช่วงทรัมป์ 1.0 โดยสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าให้เท่ากับภาษีที่ประเทศต่างๆ เก็บจากสหรัฐฯ และอาจนับรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี ที่เป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในมุมมองของสหรัฐฯ

1

จับตา "ประเทศไทยอาจถูกระบุเป็นกลุ่มเสี่ยง"

 

นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ครั้งนี้มีรูปแบบที่หลากหลาย และอาจกระทบต่อหลายประเทศมากขึ้น หากย้อนกลับไปค้นเอกสารทำเนียบขาว จะพบรายงานน่าสนใจที่เผยแพร่เมื่อปี 2019 ชื่อว่า “The United States Reciprocal Trade Act: Estimated Job & Trade Deficit Effects” ซึ่งสะท้อนมุมมองจากฝั่งสหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯ เสียเปรียบด้านภาษีนำเข้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ขณะที่การบังคับใช้ reciprocal tariff กับประเทศต่าง ๆ จะช่วยลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ได้กว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. (สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 6.2 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2018) และสร้างการจ้างงานในสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นกว่า 3.5 แสนอัตรา ที่สำคัญ ผลการประเมินในรายงานดังกล่าวระบุว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มเสี่ยง (โซนสีเหลือง) ที่มีส่วนต่างของภาษีกับสหรัฐฯ และเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูง ตามหลังเพียงประเทศอย่างอินเดีย เกาหลีใต้ และจีน (กลุ่มโซนสีแดง) และหากสหรัฐฯ บังคับใช้ reciprocal tariff รวมถึงเก็บภาษีรายสินค้าในเดือนเมษายนนี้ ภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 10% สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่ภาษีนำเข้าจะเพิ่มขึ้น 1-5% และส่งผลให้แต้มต่อด้านราคาของสินค้าไทยที่ส่งไปยังสหรัฐฯ ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน

กราฟ

ทั่วโลกเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบอย่างไร

 

แม้ว่านโยบายภาษีของสหรัฐฯ จะมีความไม่แน่นอนสูง แต่หลายประเทศเริ่มหาแนวทางรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อต่อรองกับสหรัฐฯ และรองรับผลกระทบจากการแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศที่จะตามมา โดยสรุปได้ 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่ (1) ลดความเสี่ยงผ่านการเจรจาแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ เพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลดส่วนต่างอัตราภาษีกับสหรัฐฯ และ/หรือแสดงเจตจำนงในการเข้าไปลงทุนยังสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น อินเดีย ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในหลายสินค้า เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มการนำเข้าพลังงานและอุปกรณ์การทหารจากสหรัฐฯ ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เริ่มเจรจากับสหรัฐฯ และแสดงเจตจำนงค์ในการเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ ให้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกใหม่ เช่นเดียวกับ ไต้หวัน ที่บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง TSMC ที่เตรียมขยายการลงทุนในสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2) เพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันการเข้ามาแข่งขันของสินค้าจากต่างประเทศผ่านมาตรการป้องกันการทุ่มตลาด (Anti-Dumping) อาทิ เกาหลีใต้และเวียดนาม ที่ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กจีนบางประเภทสูงสุด 38% และ 28% ตามลำดับ รวมถึงอินโดนีเซีย ที่ใช้ทั้งมาตรการป้องกันการทุ่มตลาด กำหนดโควตานำเข้า ควบคุมการค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และปราบปรามการนำเข้าผิดกฎหมายแบบเข้มข้น เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศแข่งขันอย่างเป็นธรรม และต่อเวลาในการปรับตัวสำหรับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น (3) เตรียมความพร้อมรองรับการกระจายฐานการผลิต และพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตในประเทศ อาทิ เวียดนาม มีแผนให้เงินอุดหนุนสูงสุด 50% ของการลงทุนวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์  ขณะที่อินโดนีเซีย เจรจากับบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Apple เพื่อเพิ่มการลงทุนมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. พร้อมกับจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาสำหรับฝึกอบรมแรงงานท้องถิ่น รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศที่ 40% หากต้องการขายสินค้าในอินโดนีเซีย

 

ทั่วโลกต่างตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อรับมือกับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และปรับตัวเพื่อหาช่องทางอยู่รอดภายใต้โลกที่สงครามทางการค้าและการแข่งขันระหว่างประเทศเข้มข้นขึ้น ดังนั้น หากไทยสามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานการค้าของโลก เพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และเพิ่มบทบาทของไทยในห่วงโซ่การผลิตของโลกได้ ก็จะเพิ่มโอกาสที่ภาคการผลิตและภาคการค้าของไทยจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรค และเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไปในระยะยาว


 

** บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่สังกัด **

ผู้เขียน

jirayu photo
จิรายุ จันทรสาขา





apichaya photo
อภิชญา ผู้อุตส่าห์

 


ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 
ฉบับวันที่ 18 มีนาคม 2568

Tag ที่เกี่ยวข้อง

บทความ