ความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงิน (Financial Wellbeing) คุณพร้อมแล้วหรือยัง?
คอลัมน์แจงสี่เบี้ย | 01 เมษายน 2568
นับเป็นเวลาหลายทศวรรษที่ทั่วโลกได้ร่วมยกระดับการเข้าถึงบริการทางการเงิน เราได้เห็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดดในหลายประเทศที่มีระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินปรับสูงขึ้นต่อเนื่องควบคู่กับช่องทางการให้บริการที่หลากหลาย รวมถึงการเร่งปรับตัวเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลในช่วงโควิด-19
การเข้าถึงบริการทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ควรนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงิน (Financial Wellbeing) โดย OECD ได้ให้คำจำกัดความของ ความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงิน (Financial Wellbeing) หรือ สุขภาพทางการเงิน (Financial Health) ว่าหมายถึง “สภาวะที่บุคคลสามารถ (1) จัดการภาระทางการเงินในชีวิตประจำวันได้อย่างราบรื่น (2) รับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ (3) ทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และ (4) มีความพึงพอใจและมั่นใจในอนาคตการเงินของตนเอง”
แต่จากสถิติของ World Bank และ UN พบว่า ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่การเข้าถึงบริการทางการเงินอยู่ในระดับสูง (เกือบถึง 100%) อย่างสหรัฐอเมริกา กลับพบว่ามีประชากรเพียง 1 ใน 3 ที่มีระดับสุขภาพทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี โดยกว่า 40% ตกอยู่ในสภาวะรู้สึกไม่มั่นคงทางการเงินระดับปานกลางถึงสูง ขณะที่ในยุโรปมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรไม่มีผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ช่วยออมเงินและกว่าครึ่งกลัวว่าตัวเองจะไม่มีเงินเพียงพอยามเกษียณ ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนสถานะ ความเป็นอยู่ทางการเงินที่น่ากังวล ทำให้หน่วยงานสากลต่าง ๆ อาทิ G20 OECD UN BIS ตระหนักถึงการส่งเสริมให้ความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินเป็นเป้าหมายที่ต้องบรรลุขั้นต่อไปของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“ความเป็นอยู่” หมายถึง “สภาวะ” ช่วงสั้นๆของบุคคล ซึ่งมีทั้งการกระทำที่จับต้องได้ และความรู้สึกของแต่ละคน โดยสามารถตีความในบริบท “การเงิน” ได้ 4 มิติ ดังนี้
1. จัดการเงินได้ ซึ่งสื่อถึง “สภาวะทางการเงินปัจจุบัน” คือ การที่เราสามารถบริหารจัดการเงินและค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวันเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐาน (Basic needs) ได้อย่างราบรื่น เช่น ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน ค่ายารักษา การจ่ายบิลชำระหนี้
2. รับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ ซึ่งสื่อถึง “สภาวะทางการเงินภายใต้ความไม่แน่นอนในอนาคต” คือ การที่เราสามารถรับมือกับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเราหรือสมาชิกในครอบครัว เช่น ตกงานขาดรายได้ เจ็บป่วยกะทันหัน จ่ายค่าซ่อมบ้าน-รถจากน้ำท่วม เป็นต้น รวมถึงมีความสามารถในการฟื้นตัวทางการเงินให้กลับมาได้ โดยเราสามารถเสริมสร้างมิตินี้ได้หลายวิธี
อาทิ การออมสำรองเงินไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน การทำประกันต่าง ๆ การมีสวัสดิการทางสังคม
3. มีเงินพอเพื่อให้บรรลุเป้าหมายชีวิต คือ การที่เราบริหารและวางแผนทางเงินให้สามารถเติมเต็มความต้องการ (Want) หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ของตนเองได้ทั้งใน “ปัจจุบัน” และ “อนาคต” ที่จะช่วยยกระดับชีวิตให้สะดวกสบายและมีความสุขมากขึ้นโดยไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน เช่น ซื้อบ้าน แต่งงาน ปลดหนี้ เรียนต่อ ทำธุรกิจหรือลงทุนเพื่อให้เกิด passive income หรือ “อิสระทางการเงิน” (Financial Independence)
4. รู้สึกมั่นคงทางการเงิน คือ สภาวะทางอารมณ์และจิตใจเชิงบวกว่าเราสามารถจัดการการเงินได้ทั้ง “ปัจจุบัน” และ “อนาคต” โดยรู้สึกมั่นใจและพอใจในความเป็นอยู่ทางการเงินของตัวเอง ในทางตรงข้ามหากเราขาดการวางแผนและจัดการเงินที่ดีก็จะส่งผลเชิงลบต่ออารมณ์และจิตใจ (Financial Stress) เช่น รู้สึกเครียดวิตกกังวลว่าจะมีเงินไม่พอจ่ายหนี้ หรือ กังวลว่าจะไม่สามารถแบกรับค่ารักษายามเจ็บป่วยได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่าคนแต่ละช่วงวัยมีคำจำกัดความของความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินในแบบฉบับของตัวเอง ดังนี้
โดยสิ่งที่ทุกช่วงวัยเห็นตรงกันคือ ความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมั่งคั่ง (Wealth) หรือมีเงินมากเพียงอย่างเดียว เพราะ “เวลา” หรือความต้องการบางอย่างก็ใช้เงินซื้อไม่ได้ ทว่า “เงิน” ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้คนเราไปสู่รูปแบบชีวิตที่ต้องการ
ดังนั้น การวางแผนและบริหารจัดการ “เงิน” เพื่อมุ่งสู่ความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินเป็นสิ่งที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญ ทั้งนี้ ความหมายทั้ง 4 ด้านอย่าง “จัดการ รับมือ บรรลุ มั่นคง” ที่กล่าวมานั้นต่างเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะนำไปสู่ “ความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงิน” ทุกท่านอาจลองเช็คสุขภาพทางการเงินของตัวเองด้วยวิธีง่ายๆ อย่างการเปรียบเทียบสถานการณ์ทางการเงินของตัวเรากับมิติต่างๆ ข้างต้น เพื่อหาคำตอบว่า “คุณคิดว่าความเป็นอยู่ทางการเงินของคุณเป็นอย่างไร?”… โดยในครั้งหน้าผู้เขียนจะมาเล่าต่อถึงแนวทางในระดับสากลที่ภาคส่วนต่างๆ กำลังร่วมกันผลักดันเพื่อช่วยส่งเสริมให้คุณมีความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินอย่างยั่งยืน แล้วพบกันใหม่ค่ะ
** บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่สังกัด **
ปวริศา ศุขะพันธุ์
ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย”
ฉบับวันที่ 1 เมษายน 2568