แบงก์ชาติกับการสร้างสมดุล “Right Balance” ในโลกที่หมุนเร็ว
คอลัมน์แจงสี่เบี้ย | 29 เมษายน 2568
บริบทโลกปัจจุบันแตกต่างจากอดีตมาก เผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจประเทศหลัก และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของนวัตกรรม ขณะที่ไทยเองยังคงมีปัญหาทั้งผลที่สะสมจากวิกฤติโควิด และปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะสังคมสูงวัยและหนี้ครัวเรือน ทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ต้อง “ชั่งน้ำหนัก” เพื่อหาจุดสมดุล (striking the right balance) กันนะคะ
1. ความสมดุลของเศรษฐกิจไทย
ความท้าทายในหลายมิติ ส่งผลต่อการฟื้นตัวของแต่ละภาคส่วนที่แตกต่างกัน แบงก์ชาติต้องชั่งน้ำหนักเพื่อหาสมดุุล (striking the right balance) เพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ตามที่ระบุในรายงานประจำปี ธปท. 2567 ว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายในและเศรษฐกิจโลก แบงก์ชาติให้ความสำคัญกับการทำงานที่มีความยืดหยุ่นและพร้อมปรับตัวให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ผ่านการชั่งน้ำหนักและออกแบบมาตรการให้ตรงจุด มีประสิทธิผล และสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการเร่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และการวางรากฐานให้กับภาคการเงินไทยในระยะยาว
แบงก์ชาติเน้นการทำงานผ่่านการลงพื้นที่จริง เพื่่อรับฟังทุุกภาคส่วน ทำให้ได้มุมมองรอบด้าน เพื่อออกแบบมาตรการให้เหมาะสม โดยการดำเนินนโยบายต่่าง ๆ ต้้องประเมินให้ครบ ทั้งมิติสั้นและยาว
การเตรียมความพร้อมให้เศรษฐกิจไทย ยืดหยุ่น ทนทาน (resilient) ต่อความท้าทายในระยะข้างหน้า ต้องอาศัยนโยบายจากหลายภาคส่วนและทำควบคู่กันเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน อาทิ การเพิ่มรายได้ภาคครัวเรือนในลักษณะยั่งยืน ด้วยการพัฒนาทักษะ ไม่หยุดเรียนรู้ตลอดชีวิต ตอบโจทย์โลกใหม่ เพื่อให้แข่งขันได้ ซึ่งต้องอาศัยนโยบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ครัวเรือนควรมีความรู้ทางการเงินด้านบริหารรายจ่ายหรือหนี้ ไม่ก่อภาระเกินตัว ซึ่งแบงก์ชาติมีความเป็นห่วงมาโดยตลอด และได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน ในการให้ความรู้ทางการเงิน และ การออกนโยบายต่างๆ ทั้ง มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อาทิ ช่วงโควิด จนถึง ภัยพิบัติ มาตรการ RL หรือ Responsible Lending ที่ให้สถาบันการเงิน (สง.) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบครบวงจร ทั้งปรับโครงสร้างหนี้เดิมและส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยการเงินที่ดีขึ้น และล่าสุด โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม ซึ่งได้มีการขยายเวลาการลงทะเบียนจาก สิ้นเดือนนี้เป็นกลางปี คือ 30 มิ.ย. 68 กันนะคะ
ภายใต้โลกที่ไม่แน่นอนสูงนี้ ผลดีจากการรักษาเสถียรภาพของไทยในอดีต นับว่ายังเป็นเกราะป้องกันที่ช่วยรับมือความผันผวนในโลกปัจจุบันได้ สะท้อนจากเสถียรภาพต่างประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีพอควรและหนี้ต่างประเทศที่ไม่สูงมาก ก็ยังพอสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ทำให้ที่ผ่านมาตลาดการเงินไทยรองรับความปั่นป่วนได้ดีกว่าหลายตลาดการเงินโลก
2. การพัฒนาภาคการเงินไทย
นอกจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ มุ่งสู่สมดุลแล้ว แบงก์ชาติยังมีบทบาทสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีความทนทาน ยืดหยุ่น ปรับตัวได้ดี ต่อความผันผวน รวมทั้งการตอบโจทย์โลกอนาคต ทั้งการรองรับกระแสดิจิทัลและความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม
ดร. รุ่ง โปษยานนท์ มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ได้กล่าวในงาน “Money20/20” เมื่อ 22 เม.ย. 68 ว่า เป้าหมายนโยบายในการขับเคลื่อนการเงินดิจิทัล มักต้องสร้างสมดุลระหว่าง 3 เรื่องหลัก คือ 1. เสถียรภาพ/ความปลอดภัย 2. ประสิทธิภาพ และ 3. การเข้าถึง ซึ่ง “การเข้าถึง” นี้ มีความหมาย มากกว่าการมีบัญชีธนาคาร แต่รวมถึงการที่ทุกคน ทั้งบุคคลธรรมดา ธุรกิจขนาดเล็ก และกลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงและใช้บริการทางการเงินที่เหมาะสม เช่น การชำระเงิน การออม การกู้ยืม และการประกันภัย ได้อย่าง สะดวกและราคาเอื้อมถึง โดยในระยะแรกของการพัฒนา “พร้อมเพย์” ซึ่งเป็นระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์ระดับชาติของไทย ได้มุ่งเน้นที่ การขยายการเข้าถึงและรักษาเสถียรภาพของระบบ ส่วนปัจจุบันให้ความสำคัญกับ การแข่งขันและประสิทธิภาพ จึงนำไปสู่การกำหนดนโยบาย “3 Open” ได้แก่
1. Open Infrastructure: ส่งเสริมการเชื่อมต่อระหว่างระบบต่าง ๆ เพื่อการทำธุรกรรมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัลของกลุ่มประชากรที่เข้าไม่ถึงบริการ
2. Open Data: ส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลเพื่อสร้างบริการทางการเงินให้เป็นแบบเฉพาะบุคคล
มากขึ้น โดยมี “โครงการ Your Data” เพื่อให้ลูกค้าใช้สิทธิส่งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลอื่น ๆ ไปยังผู้ให้บริการรายอื่นตามความยินยอมของลูกค้า เพื่อสามารถเข้าถึงบริการที่ตรงความต้องการมากขึ้น
3. Open Competition: ส่งเสริมการแข่งขันจากผู้เล่นรายใหม่เพื่อสร้างนวัตกรรมและทางเลือกแก่ ผู้บริโภค
สิ่งสำคัญ คือ การสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความเสี่ยง โดยการกำกับดูแลของแบงก์ชาติคำนึงถึง ทั้งศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม และความเสี่ยงทางเทคโนโลยีใหม่ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการขยายโอกาสและการรักษาเสถียรภาพของระบบ แบงก์ชาติจึงได้ดึงดูดนวัตกรรมผ่าน “Regulatory Sandbox” ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมควบคุมความเสี่ยงที่ออกแบบมาเพื่อดึงดูดฟินเทคและนวัตกรรมเข้ามาทดลองในประเทศไทย อย่างปลอดภัย
รองผู้ว่าการ ดร. รุ่ง ฯ ยังได้กล่าวอีกว่าความก้าวหน้าอย่างแท้จริง ไม่ได้เกิดจากนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมาพร้อมกับ ความยืดหยุ่น ความปลอดภัย และการเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบ หนทางข้างหน้าต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล สถาบันการเงิน ฟินเทค และผู้ใช้บริการ
ทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างงานของแบงก์ชาติที่ต้องชั่งน้ำหนักในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ รวมถึง
การวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน มุ่งสู่สมดุลของเศรษฐกิจไทย เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วค่ะ
** บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่สังกัด **
ดร.พรเพ็ญ สดศรีชัย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย”
ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2568