ถอดความคิดธุรกิจกับวิกฤติใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

คอลัมน์ร่วมด้วยช่วยคิด | 23 พฤษภาคม 2568

ในอดีตไทยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาได้หลายต่อหลายครั้ง หวังว่าครั้งนี้ก็เช่นกัน เพียงแต่มาตรการตอบโต้ทางการค้า (Reciprocal tariffs) ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ต่างจากวิกฤติครั้งอื่นเนื่องจาก (1) เศรษฐกิจไทยยังไม่แข็งแรงนัก เพราะเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดได้ไม่นาน และกำลังเผชิญกับปัญหา
เชิงโครงสร้าง (2) ผลกระทบในช่วงต้นอาจเกิดขึ้นในวงจำกัดและรุนแรงน้อยกว่าวิกฤติครั้งอื่น แต่ผลกระทบอาจยาวนานและกระทบในวงกว้างขึ้น เปรียบเหมือนก้อนหินถูกโยนลงไปในบ่อน้ำที่จะกระทบ ณ จุดที่หินตกแรงสุดก่อน คือ ภาคการส่งออก แล้วจะเกิดแรงกระเพื่อมกระจายเป็นวงกว้างต่อภาคส่วนอื่นของเศรษฐกิจ และ (3) มีความไม่แน่นอนสูง ยังคาดเดาได้ยากว่าจะมีก้อนหินถูกโยนลงมาในบ่อน้ำอีกกี่ก้อน เมื่อใด และขนาดของก้อนหินนั้นใหญ่เพียงใด ด้วยสหรัฐฯ ยังเปิดโอกาสให้หลายประเทศเข้าไปเจรจาอยู่ จึงยากต่อการประเมินว่า tariff ที่จะบังคับใช้จริงอยู่ที่ระดับใด เช่นล่าสุด tariff ระหว่างสหรัฐฯ และจีนลดลงมาชั่วคราว เหลือเพียง 10-30% จาก 125-145% ก่อนการเจรจา ดังนั้น การประเมินผลกระทบและการมีแผนตั้งรับที่ครอบคลุมหลาย scenario จึงจำเป็นอย่างยิ่ง

ถอดความคิดธุรกิจกับวิกฤติใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

การประเมินผลกระทบจากข้อมูลเชิงตัวเลขอาจล่าช้าและไม่ทันการณ์ ข้อมูลจากการพูดคุยกับธุรกิจจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการประเมินผลกระทบในภาพรวมและผลในแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การออกแบบมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดและทันท่วงที จากการพูดคุยกับธุรกิจกว่า 40 ราย
ใน 1 เดือนที่ผ่านมา คาดว่าจะเห็นการเร่งส่งออกบ้างในช่วงไตรมาสที่ 2 โดยเฉพาะในหมวดอาหารและอิเล็กทรอนิกส์ จากที่สหรัฐฯ ประกาศยกเว้นการใช้ Reciprocal tariffs แบบเต็มรูปแบบชั่วคราว 90 วัน แต่ผลกระทบหลังจากนั้นขึ้นอยู่กับ Relative tariffs ระหว่างไทยและคู่แข่ง ซึ่งนับเป็นตัวแปรสำคัญที่สุด โดยความรุนแรงของผลกระทบต่อธุรกิจจะแตกต่างกันตามระดับกำไร ความสามารถในการต่อรองกับคู่ค้า รวมถึงการปรับตัวของธุรกิจแต่ละราย

 

ดังนั้น ช่วงนี้ธุรกิจจึงขอรอดูสถานการณ์ และกังวลมากที่สุด คือ หากไทยไม่สามารถเจรจา ลด tariff ให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ จะกระทบผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ (1) การส่งออกไปสหรัฐฯ จะลดลง และผู้ส่งออกจะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดส่งออกอื่น ซึ่งจะเห็นตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป
(2) ธุรกิจในประเทศจะเผชิญกับสินค้าต่างประเทศที่ทะลักเข้ามาแข่งขันรุนแรงขึ้น
เพื่อแย่งชิงตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ และยังมีเครื่องปรับอากาศและยางล้อที่อาจเผชิญปัญหา oversupply เนื่องจากผู้ผลิตต่างชาติย้ายฐานเข้ามาผลิตในไทยมากขึ้นตั้งแต่ช่วง Trump 1.0 (3) หาก Relative tariffs ไทยสูงกว่าคู่แข่งมาก จะเห็นการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในระยะยาว ซึ่งจะกระทบต่อ supply chain และการจ้างงานในประเทศเนื่องจากธุรกิจบางส่วนโยกคำสั่งซื้อหรือ ฐานการผลิตออกจากไทย (4) ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอลง ซึ่งจะกระทบต่อการค้า การลงทุน และการเดินทางระหว่างประเทศในระยะถัดไป 

 

ในประเด็นเรื่องการย้ายคำสั่งซื้อหรือฐานการผลิตในกรณีที่ Relative tariffs ไทยสูงกว่าคู่แข่งมาก กลุ่มที่มีโอกาสย้ายฐานการผลิตสูง คือ กลุ่มธุรกิจข้ามชาติ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากบริษัทแม่มีโรงงานอยู่หลายประเทศทั่วโลก ทำให้คำสั่งซื้ออาจถูกโยกไปยังฐานอื่นที่คุ้มทุนมากกว่าได้ง่าย อย่างไรก็ดี ความเร็วในการโยกคำสั่งซื้อหรือย้ายฐานการผลิตขึ้นกับความยากง่ายในการติดตั้งและเตรียมกระบวนการผลิต รวมถึงความพร้อมของ supply chain ในประเทศปลายทางเป็นหลัก

 

ผู้เขียนประเมินว่า เครื่องใช้ไฟฟ้ามีความเสี่ยงสูงสุด เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุด และมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศค่อนข้างสูง ดังนั้น หากธุรกิจตัดสินใจย้ายฐานการผลิต จะส่งผลกระทบต่อ supply chain ในไทยมาก รองลงมา คือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แม้ปัจจุบันได้รับยกเว้น tariff ชั่วคราว แต่หากอนาคตมีการขึ้น tariff อาจทำให้ธุรกิจกลุ่มที่ลูกค้ามีความอ่อนไหวต่อราคาสูง ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากไทยได้ ซึ่งบางรายใช้เวลาเพียง 6 เดือน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศสูงและเชื่อมโยงกับ supply chain ในประเทศอย่าง SME และเกษตรกรจำนวนมาก ขณะที่บางสินค้าเป็น commodity goods อาจเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ดี ในกลุ่มอาหารมีสัดส่วนส่งออกที่กระจายหลายตลาด ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่นัก เมื่อเทียบกับ 2 กลุ่มแรก และสินค้าอีกหลายรายการ มีภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์และคุณภาพที่ดี อีกทั้งมีการส่งมอบสินค้าได้สม่ำเสมอกว่าคู่แข่ง ทำให้ไทยยังแข่งขันในตลาดอื่นได้

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ได้กล่าวมาเป็นเพียงการประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากการพูดคุยกับธุรกิจเพียงบางส่วน ความไม่แน่นอนยังคงมีสูงมาก ทั้งในแง่ของความรุนแรง ช่วงเวลา ผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ตลอดจนระยะเวลาในการปรับตัว ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพื่อลดทอนผลกระทบในระยะสั้นอย่างตรงจุด ควบคู่ไปกับการติดอาวุธให้ธุรกิจปรับตัวจนพอที่จะพยุงตัวและแข่งขันต่อไปได้ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจจำเป็นต้องมองหาแนวทางในการรับมือและปรับตัวเพื่อให้สามารถผ่านพ้นไปได้เช่นกัน


 

** บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่สังกัด **

ผู้เขียน

 

montalee photo







ศุภณิดา รัตนบุรี

montalee photo








ณัฐอร เบญจปฐมรงค์
ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด”
ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 

 

Tag ที่เกี่ยวข้อง :

ภาวะเศรษฐกิจ บทความ