เสถียรภาพภาคการเงินไทย ในห้วงท้าทายแห่งทศวรรษ
จากสงครามการค้า สู่โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจ

14 พฤษภาคม 2568

บทสัมภาษณ์ ดร.รุ่ง

ถอดบทสัมภาษณ์ ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส จากรายการ Business Tomorrow เผยแพร่วันที่ 12 เมษายน 2568

 

ภาพ : The Momentum

ในสถานการณ์ที่โลกมีความผันผวนรายวัน ตลาดการเงินเคลื่อนไหวรวดเร็วและรุนแรง ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายกำแพงภาษีของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก คำว่า “เสถียรภาพ” เป็นหนึ่งในคำสำคัญที่สุดในพจนานุกรมของ ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เราจึงมาชวน ดร.รุ่ง คุยเรื่องเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความวุ่นวายในเศรษฐกิจโลก

ผลกระทบจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศและกำแพงภาษี

 

ในวันที่ 2 เมษายน 2568 ข่าวที่ส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกคงหนีไม่พ้นกรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรพื้นฐานสำหรับสินค้านำเข้าจากกว่า 180 ประเทศ และสินค้าบางส่วนอาจต้องเผชิญการเสียภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) สูงถึง 50%

 

เมื่อถามถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย ดร.รุ่งคาดว่านโยบายดังกล่าวจะส่งผลพอสมควร แต่ในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดรายวัน จึงยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม เรื่องการย้ายฐานการลงทุน (relocation) ไม่ว่าจะเป็นการย้ายเข้าหรือออกจากไทย ก็อาจสร้างทั้งโอกาสและความท้าทายที่ต้องเผื่อใจไว้เช่นกัน

 

“ที่ผ่านมา เวลาที่จีนย้ายฐาน ไทยเราจะได้รับประโยชน์น้อยถ้าเทียบกับชาติอื่น ๆ เนื่องจากฐานแรงงานด้าน STEM [1] อาจจะไม่ได้เข้มแข็งมากเท่าประเทศคู่แข่งบางประเทศ ทำให้เราเสียเปรียบในเรื่องของการรองรับการย้ายฐานการลงทุน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสินค้าส่งออก”

 

ในด้านสินค้านำเข้า ดร.รุ่งให้ความเห็นว่า เมื่อกำแพงภาษีของสหรัฐฯ สูงขึ้น สินค้าที่เคยผลิตเพื่อส่งไปสหรัฐฯ ก็น่าจะถูกเทขายไปที่ประเทศอื่น ๆ ในราคาถูก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ผู้ประกอบการไทยแน่นอน

 

“แค่สินค้าส่วนน้อยของจีนก็มีจำนวนเป็นส่วนมากของเราแล้ว ตลาดของเราก็อาจจะต้องรองรับสิ่งเหล่านี้ แล้วต้องดูด้วยว่าเราจะเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ผู้ประกอบการที่แข่งกันเองในตลาดไทยก็น่าจะได้รับผลกระทบ”

 

นอกจากนั้น ดร.รุ่ง ยังได้แสดงความกังวลถึงบรรยากาศการค้าการลงทุนที่น่าจะซบเซาลง ส่งผลต่อรายได้และการบริโภคของประชาชน เมื่อทุกอย่างผูกพันเชื่อมถึงกันเป็นลูกโซ่ การประเมินผลกระทบครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

เสถียรภาพในยามวิกฤต

 

เมื่อชวนคุยถึงการเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ดร.รุ่งเล่าว่า ธปท. เป็นหน่วยงานที่ทำงานอย่างระมัดระวังจนบางครั้งถูกคนอื่นตำหนิว่าระวังมากจนเกินไป แต่ในภาวะที่ทั่วโลกมีความผันผวนมากอย่างปัจจุบัน เห็นได้จากตลาดการเงินโลกที่เคลื่อนไหวอย่างรุนแรง แต่ประเทศไทยยังพอมีเบาะรอง (cushion) กันแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและเฉียบพลัน

 

“พูดได้ว่าหากไม่รวมประเด็นหนี้ครัวเรือนแล้ว เสถียรภาพของระบบการเงินไทย โดยเฉพาะเสถียรภาพด้านต่างประเทศของเราก็ถือว่าอยู่ในระดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กทั่วโลก มีทุนสำรองระหว่างประเทศพอสมควร มีหนี้ต่างประเทศไม่มาก เพราะฉะนั้น หากมีความเคลื่อนไหวในตลาดรุนแรงก็ไม่ต้องตื่นตระหนกจนเกินไป เมื่อตลาดเข้าใจแล้วก็จะเห็นเองว่าในบางประเทศยังคงมีความเข้มแข็งอยู่ อาจบอกได้ว่าการดำเนินงานของ ธปท. ที่ให้ประเทศอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง เป็นสิ่งที่จะออกดอกผลในยามวิกฤต เพราะช่วยบรรเทาผลกระทบใหญ่ให้เบาลงได้

 

“ยอมรับว่าเราไม่สามารถยึดเสถียรภาพต่อเนื่องจนไม่คำนึงถึงการเติบโตและการเปลี่ยนแปลง แต่ในยามวิกฤต เสถียรภาพ ก็ยังเป็นคำที่มีความหมายอยู่มาก” ดร.รุ่งกล่าว

เสถียรภาพภายใน - การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน

 

เมื่อชวนคุยต่อถึงเสถียรภาพภายในประเทศ ปัญหาที่ ธปท. กังวลยังเป็น “หนี้ครัวเรือน” ที่แม้ตัวเลขจะลดลงมาบ้าง แต่ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น ต่างจากในอดีตที่คนเก็บออมก่อนซื้อของชิ้นใหญ่ แต่คนรุ่นใหม่ก่อหนี้ไวส่งผลให้มีหนี้นานขึ้น และบางส่วนมีหนี้ไปจนเลยวัยเกษียณ

 

“การมีหนี้ไม่ใช่สิ่งไม่ดี หนี้ที่ยืมมาก่อนเพราะว่าเรามีความจำเป็น ถ้าเราใช้แล้วชำระคืนได้ในอนาคต รวมทั้งไม่ได้มีภาระหนี้ที่มากเกินไป หนี้นั้นก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยให้เราขยายกิจการ มีบ้าน มีรถได้เร็วขึ้น แต่ที่เห็นหนี้ของคนไทยเป็นหนี้เพื่อการบริโภคค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่หนี้ที่มีสินทรัพย์อยู่ข้างหลัง ทำให้ไม่มีอะไรโตไปกับหนี้นั้น เป็นลักษณะของหนี้ที่สุขภาพไม่ค่อยดี”

 

อย่างไรก็ตาม ดร.รุ่งให้ความเห็นว่าต้องทำความเข้าใจว่าหนี้ส่วนหนึ่งของคนไทยนั้น เกิดขึ้นเพราะประเทศเผชิญกับวิกฤตหลากหลายมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโควิด กระทบภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการอย่างรุนแรง รายได้ที่หายไปทำให้คนไทยตกหลุมหนี้หนนี้พอสมควร ต่อมาเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าทำให้รายได้ต่ำกว่าที่คาด หนี้ที่เคยคิดว่าจะชำระคืนไหวก็ทำได้ยากขึ้น จึงเป็นที่มาของการออกนโยบายและมาตรการช่วยเหลือในระยะต่อมา 

มาตรการช่วยเหลือระยะสั้นและการวางรากฐานทักษะระยะยาว

 

หนึ่งในมาตรการที่ ธปท. ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือนคือ Responsible Lending ที่กำหนดให้ธนาคารให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนถูกต้อง และให้ลูกหนี้ตัดสินใจได้ ตลอดจนดูถึงความสามารถในการผ่อนชำระของลูกหนี้อีกด้วย

 

“พอออกเกณฑ์นี้ไป สินเชื่อส่วนที่จะทำให้ลูกหนี้ชำระคืนไม่ไหวจนกลายเป็นหนี้เสียก็ลดลง แต่ก็มีผลข้างเคียงคือทำให้ธนาคารพาณิชย์กังวล เพราะช่วงที่ออกมาตรการเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่ควร และยังมีช็อกเข้ามาอีกหลายเรื่อง เมื่อผสมกันแล้วอาจทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากไปขึ้นอีก ธปท. จึงคุยกับสถาบันการเงินเลยว่าเจตนาของเราไม่ใช่ให้กลัวจนไม่ปล่อย เราก็ให้สัญญาณว่าอะไรที่ทำมาดีแล้วอันนี้เราก็ชื่นชม แต่ส่วนที่อาจทำเข้มเกินไป อันนี้ก็ปรับได้”

 

นอกจากมาตรการ Responsible Lending แล้ว ธปท. ยังเปิดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” สำหรับกลุ่มที่พยายามจะชำระหนี้ แต่อาจเริ่มมีปัญหาและทำได้ไม่เต็มที่ โครงการนี้จะช่วยให้ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการหนี้ได้ง่ายขึ้น ไม่ให้เสียประวัติ และไม่ถูกยึดทรัพย์ แม้จะเป็นโครงการที่ดีมาก แต่ ดร.รุ่งก็อธิบายว่าไม่ได้ตอบโจทย์ลูกหนี้ทุกคน เพราะเมื่อเข้าโครงการแล้วจะขอสินเชื่อเพิ่มไม่ได้ไประยะหนึ่ง ทั้งยังต้องปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ลูกหนี้จึงต้องไปชั่งน้ำหนักเองด้วยว่าจะอยากอยู่ภายใต้โครงการนี้หรือไม่ แต่การแก้ไขปัญหาหนี้ที่ยั่งยืนมากกว่า ต้องมาพร้อมกับ “รายได้”

 

“ในระยะสั้น ช่วงที่รายได้ยังไม่เข้ามา เราอาจจะต้องออกมาตรการอะไรที่เข้าไปช่วยผ่อนในเรื่องของภาระหนี้ให้กับกลุ่มที่รายได้ฟื้นตัวช้า แต่การแก้ไขปัญหาหนี้ที่ยั่งยืนกว่าจะต้องมาจากรายได้ ดังนั้น การเสริมทักษะของคนไทยให้ตอบโจทย์โลกข้างหน้าเป็นสิ่งที่ต้องทำ รวมทั้งยังต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเราให้มีบทบาทของอุตสาหกรรมหรือภาคบริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ในระยะยาว ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องแก้ไข เช่น ความรู้ของคนไทยในเรื่องของการบริหารจัดการหนี้ ความเข้าใจในเรื่องของดอกเบี้ยที่ควรทำให้เป็น life skill เป็นทักษะทั่วไปที่ควรรู้”

แถลงข่าวคุณสู้

ภารกิจปิดวงจรบัญชีม้า

 

ไม่เพียงแค่หนี้ครัวเรือนที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่ยังมี “ภัยการเงิน” ที่มิจฉาชีพเปลี่ยนเทคนิคการหลอกลวงเหยื่ออยู่แทบทุกวัน แม้ ดร.รุ่งจะเล่าว่าผลกระทบจากแอปดูดเงินจะลดลงมากจนไม่มีผู้เสียหายมาหลายเดือนแล้ว แต่ภัยรูปแบบที่ยังพบอยู่ คือ ลักษณะที่มิจฉาชีพหลอกลวงให้เหยื่อเป็นคนดำเนินการเอง เช่น ให้โอนเงินไปก่อน หลอกลงทุน หรือหลอกซื้อของ โดยช่องทางที่มิจฉาชีพใช้โยกย้ายเงินเรียกว่าบัญชีม้า ธปท. จึงออกมาตรการเพื่อจัดการบัญชีม้าทั้งวงจร

 

“ในช่วงที่ผ่านมาเป็นการทำให้ม้าอยู่ยากขึ้น ถ้าคุณถือบัญชีม้าดำหรือม้าเทา คือม้าที่ถูกแจ้งความ มีเคสเกิดขึ้น หรือมีผู้เสียหายแล้ว ก็จะมีการแชร์ข้อมูลกัน ธนาคารพาณิชย์จะระงับบัญชีไม่ให้โอนเข้าออกได้ เมื่อมิจฉาชีพรู้ว่าบัญชีถูกระงับก็เปลี่ยนบัญชี เป็นที่มาของบัญชีม้าน้ำตาล คือบัญชีม้าที่มีพฤติกรรมน่าสงสัย ซึ่งเราให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยสอดส่อง เตือนลูกค้า และถ้าหากเจ้าของยืนยันว่าไม่ใช่บัญชีม้าก็ให้เชิญเข้ามายืนยันตัวตนที่ธนาคารอีกครั้ง”

 

ดร.รุ่งย้ำว่า อย่างไรก็ดี การป้องกันตัวที่ดีที่สุดคือการมีสติ ระมัดระวัง ถ้าเงินออกจากบัญชีไปยังมิจฉาชีพแล้ว โอกาสที่จะได้คืนนั้นน้อยมาก

การแบ่งสีม้าตามระดับความเสี่ยง

ความคาดหวังต่อภาคการเงินไทยในอนาคต

 

เมื่อชวนคุยไปถึงสิ่งที่อยากเห็นในภาคการเงินไทย ดร.รุ่ง เปิดเผยว่า แบ่งออกเป็น 2 ด้านใหญ่ ๆ ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรม และการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

 

“เราอยากจะเห็นนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้น รูปแบบของผลิตภัณฑ์ควรมีความหลากหลายมากขึ้น คนควรได้รับการบริการที่ดีขึ้น และเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ทุกวันนี้อาจจะยังใช้บริการอยู่นอกระบบ น่าจะเข้ามาสู่ในระบบธนาคารได้มากขึ้น เราอยากจะเห็นธนาคารปรับเปลี่ยนตัวเองให้กระฉับกระเฉงขึ้น มีรูปแบบใหม่ ๆ ไม่ได้ต้องทำเหมือนกันเสมอไป”

 

“อีกด้านหนึ่งคือความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม เราอยากให้คำนึงถึงผลกระทบให้มากขึ้น อย่างโลกร้อน แผ่นดินไหว การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แล้วดูว่าตัวเองจะทนทานกับเรื่องเหล่านี้ได้แค่ไหน เราอยากจะเห็นสถาบันการเงินที่เข้มแข็ง มีบทบาทช่วยเหลือให้ลูกค้าอยู่ได้แบบยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทขนาดเล็กให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนได้ดีที่สุด”

บทบาทของธนาคารกลางยุคใหม่

 

ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด ธนาคารกลางมักถูกพูดถึงเกี่ยวกับความเคร่งครัดและการดำเนินนโยบายที่ระมัดระวัง ซึ่ง ดร.รุ่งให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า “ความระมัดระวังนี้ ทำให้ไม่ถูกยิงประตูจนพรุน”

 

“ธนาคารกลางเป็นเหมือนกองหลังทีมฟุตบอล ยังไงเราก็ต้องมีความระมัดระวังสูง มองไปข้างหน้า มองให้ไกล หลาย ๆ ครั้งเป็นการทำงานในวันนี้ที่ปูพื้นได้ประโยชน์ไปจนถึงวันข้างหน้า การทำงานของเราต้องคิดให้ครบ รอบคอบ ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล และดำเนินการอย่างจริงจัง ลักษณะของนายธนาคารกลางทุกยุคทุกสมัยก็เป็นแบบนี้”

 

เมื่อสอบถาม ดร.รุ่ง ถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โจทย์บางอย่างก็เปลี่ยนตาม แล้วบทบาทและการทำงานของธนาคารกลางยุคใหม่นี้จะเป็นอย่างไร

 

“มันท้าทายขึ้น เราต้องเข้าใจคนอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจด้วยว่าเขาก็เผชิญกับปัญหาข้อจำกัดทางทรัพยากร ข้อจำกัดอื่น ๆ โจทย์ของเขาก็ยากขึ้น เรายังเป็นตัวของตัวเองได้ แต่ต้องเข้าใจว่าคนอื่นก็ต้องดิ้นรนมากขึ้น เราต้องสนับสนุนเขาในสิ่งที่เราทำได้

 

“ความฝันของเรายังเป็นการทำให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดี มีหนี้ที่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ มีภัยทางการเงินที่น้อยลง มีความมั่งคั่งที่ยั่งยืน แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดจาก ธปท. เพียงแห่งเดียวไม่ได้ บางงานมีองค์กรอื่นเป็นผู้นำ บางงานเราก็ปูพื้นให้ระบบสถาบันการเงินช่วยตอบโจทย์ เราจะทำเต็มที่ แต่มีอีกหลายๆ เรื่องที่สังคมประเทศชาติก็คงต้องจับมือและช่วยกันทำ เราทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบการเงินที่มั่นคง ยั่งยืน และทั่วถึงสำหรับคนไทยทุกคน” ดร.รุ่งกล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ

[1] ประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)


 

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

Tag ที่เกี่ยวข้อง :

เศรษฐกิจและการเงิน บทความ