ชวนส่อง SkillsFuture Singapore…การพัฒนาคนรองรับโลกใหม่

31 พฤษภาคม 2567

เมื่อกลางเดือน พ.ค. นี้ สิงคโปร์มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ คุณลอว์เรนซ์ หว่อง ที่ได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ก่อนหน้านี้ เขาเคยประกาศแผนงาน (road map) ใหม่ โดยจัดทำสัญญาประชาคมร่วมกับชาวสิงคโปร์กว่า 2 แสนรายจากทุกสาขาอาชีพและทุกวัย เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้นร่วมกัน โดยเฉพาะ “การพัฒนาคนแบบยกแผง” เพื่อรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายใต้โลกใหม่

 

แนวทางหนึ่งคือการสร้างโอกาสแก่ชาวสิงคโปร์ ในการเพิ่มทักษะอาชีพและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) เพื่อตอบสนองความท้าทายของโลกอนาคต โดยรัฐบาลส่งเสริมโปรแกรม SkillsFuture Singapore (SG)

Thai regions

SkillsFuture SG คือ อะไร และ มีดีอย่างไร

 

ในปี ค.ศ. 2015 สิงคโปร์เปิดตัวโครงการ SkillsFuture SG ภายใต้การกำกับดูแลของสภาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต (The Future Economy Council: FEC) ที่มีสมาชิกผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ สภาแรงงานลูกจ้าง และภาคการศึกษา เพราะเห็นความจำเป็นในการพัฒนาประชากร เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ รวมทั้งสิงคโปร์ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยด้วย

 

SkillsFuture SG มีโปรแกรมที่ให้ชาวสิงคโปร์ทุกกลุ่มสามารถเลือกเรียนได้อย่างหลากหลาย
มีหลักสูตรพัฒนาทักษะแห่งอนาคต 8 ด้าน คือ
1) การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)
2) เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech)
3) งานบริการด้านเทคโนโลยี (Tech-Enabled Services)
4) สื่อดิจิทัล (Digital Media)
5) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security)
6) ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)
7) การผลิตขั้นสูง (Advanced Manufacturing)
8) การแก้ปัญหาของเมืองใหญ่ (Urban Solutions)

โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ หลักสูตรพื้นฐาน ระดับกลาง และขั้นสูง

 

โครงการให้สิทธิประชากรที่มีอายุครบ 25 ปีขึ้นไปทุกคน ได้รับเครดิต (Opening SkillsFuture Credit) มูลค่า 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ ที่ไม่มีวันหมดอายุ เพื่อใช้จ่ายฝึกอบรมกับโครงการ ในหลักสูตรต่างๆ ทั้งเพิ่มเติมทักษะที่มีอยู่ (upskill) และเรียนรู้ทักษะใหม่ (reskill) โดยเครดิตนี้แลกเป็นเงินหรือโอนให้กับผู้อื่นไม่ได้

 

มีการเพิ่มเครดิตให้เป็นระยะ เช่น เมื่อปี 2020 มี One-Off SkillsFuture Credit Top-Up การเติมครั้งเดียว มูลค่า 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับประชากรที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปในปีนั้น และยังมี Additional SkillsFuture Credit (Mid-Career Support) มูลค่า 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ สำหรับประชากรวัยกลางคนที่มีอายุ 40-60 ปี โดยเครดิตที่ได้รับจากการเติมครั้งเดียวนี้จะหมดอายุสิ้นปี 2025

 

เมื่อ ก.พ. ที่ผ่านมา คุณลอว์เรนซ์ หว่อง ประกาศนโยบาย SkillsFuture เพิ่มเติม ไว้ในงบประมาณปี 2024 ที่สำคัญคือ โครงการ SkillsFuture Level-Up เพื่อส่งเสริมชาวสิงคโปร์ อายุ 40 ปีขึ้นไป เพิ่มทักษะ ให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนเร็วได้ โดยเริ่ม 1 พ.ค. 2024 พวกเขาจะได้รับ SkillsFuture Credit (Mid-Career) เติมเครดิตมูลค่า 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ที่ไม่มีวันหมดอายุ เพื่อเรียนรู้จากหลักสูตรต่างๆของโครงการกว่า 7 พันหลักสูตร

 

สำหรับชาวสิงคโปร์ที่มีอายุ 40-60 ปี ที่เคยได้รับเครดิตเติมครั้งเดียวเมื่อปี 2020 และยังใช้เครดิตไม่หมด รัฐบาลสิงคโปร์จะยกเว้นวันหมดอายุ โดยให้นำเครดิตคงค้างที่เหลืออยู่มารวมกับ SkillFuture Credit (Mid-Career) ได้ด้วย

 

เพื่อสร้างความเข้าใจต่อประชาชน เว็ปไซต์ SkillsFuture SG มียกตัวอย่างไว้ ดังนี้

- น.ส. A มีอายุครบ 25 ปี ในปีนี้ จะได้รับเครดิตที่เปิดใหม่ (Opening SkillsFuture Credit) มูลค่า 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ ที่ให้แก่ทุกคน เพื่อใช้พัฒนาทักษะตามโครงการ

- นาย B มีอายุ 35 ปี ในปีนี้ แสดงว่า เขาเคยได้รับเครดิตที่เปิดใหม่ที่ไม่มีวันหมดอายุ และ ยังได้รับเครดิตเติมครั้งเดียวเมื่อปี 2020 ซึ่งจะหมดอายุสิ้นปีหน้า และในอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อนาย B มีอายุ 40 ปี เขาจะได้รับ SkillsFuture Credit (Mid-Career) มูลค่า 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์

- นาย C มีอายุ 47 ปี ในปีนี้ และมีเครดิตที่รับในปี 2020 จากโครงการ Additional SkillsFuture Credit (Mid-Career Support) เหลืออยู่ 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ (unused credits) หมายถึงว่า นาย C สามารถนำเครดิตที่เหลือนี้ ไปรวมกับ ยอดเครดิตที่ได้รับเพิ่มในปีนี้อีก 4,000 รวมเป็น 4,200 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในบัญชี SkillsFuture Credit (Mid-Career) นับแต่ 1 พ.ค. 2024 เพื่อใช้พัฒนาทักษะวัยกลางคนตามหลักสูตรต่างๆ ของโครงการได้

 

จุดเด่นของหลักสูตร จะเน้นรองรับโลกใหม่ ประกอบด้วย 1) Care Economy มีทั้ง healthcare รองรับสังคมสูงวัย และ future skills in HR รวมถึง career counselling ด้วย  2) Green Economy เน้น ESG (Environmental, Social and Governance) เพื่อความยั่งยืน (sustainability) และ 3) Digital Economy อาทิ AI Tools/ Cybersecurity/ Design Innovation และ Digital Business Strategy

 

ในปีหน้า จะมีโครงการเพิ่มเติม คือ โครงการ SkillsFuture Mid-Career Training Allowance เพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่วัยกลางคนราวครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่เกิน 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน เป็นเวลา 2 ปีในช่วงชีวิตแต่ละคน เพื่อใช้ในการเรียนเต็มเวลา ตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ อาทิ Full-time SkillsFuture Career Transition Program ซึ่งเน้นสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการมาก เช่น เทคโนโลยี การผลิตขั้นสูง เพื่อเปิดโอกาสในการเพิ่มทักษะแรงงานและปรับเปลี่ยนงานได้ โดยรายละเอียดจะมีประกาศในไตรมาส 4 ปีนี้

 

นอกจากนี้ มีการขยาย โครงการ Mid-Career Enhanced Subsidy for another publicly-funded full-time Diploma ให้ครอบคลุมสถาบันการศึกษามากขึ้น จากปัจจุบันที่ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายหลักสูตรราว 90% ของหลักสูตรที่จัดโดยกระทรวงเพื่อการศึกษา (Ministry of Education) และ หน่วยงาน SkillsFuture Singapore (SSG) ให้ขยายรวมถึงหลักสูตรของ ITE (Technical/ Technical Engineer Diploma) และ Polytechnics ตลอดจน Art Institutions (Nanyang Academy of Fine Arts และ LASALLE College of the Arts) เริ่มปีการศึกษา 2025 ด้วย

 

ปีหน้า สิงคโปร์จะครบ 60 ปีของการมีเอกราช หากย้อนอดีตไปปี 1965 สิงคโปร์คือประเทศยากจน ไม่มีทรัพยากร ผู้นำลีกวนยูเผชิญปัญหาว่าจะสร้างชาติได้อย่างไร แต่เขาเห็นว่าความคิดใดดีก็นำมาใช้ และสิ่งที่สิงคโปร์ทำจนสำเร็จ คือ การพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ ก็ยังไม่หยุดนิ่ง ด้วยมีฐานะการคลังที่เข้มแข็ง ปัจจุบันสิงคโปร์จึงเป็นประเทศที่พัฒนาและมีรายได้ประชากรต่อหัวในลำดับต้นของโลกแล้วนั่นเอง

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :

ดร.พรเพ็ญ สดศรีชัย

ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม 2567