ธุรกิจจะตัดสินใจลงทุนเมื่อไหร่?
แจงสี่เบี้ย No. 4/2023 | 14 กุมภาพันธ์ 2566
วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและได้ฝากรอยแผลเป็น (economic scars) ไว้กับเศรษฐกิจหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะยาว โดย IMF[1] ได้ปรับลดประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจปี 2567 ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจากประมาณการช่วงก่อน COVID-19 ถึง 11% จากอุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้การลงทุนในอนาคตทำได้ไม่เต็มที่ อาทิ ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP เร่งตัวขึ้นตามความต้องการสภาพคล่องเพื่อพยุงฐานะการเงินในช่วง COVID-19 ความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยบทความนี้จะกล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจไทยและนัยเชิงนโยบายในระยะต่อไป
ในช่วงก่อน COVID-19 ประเทศไทยได้ประสบปัญหาการลงทุนของภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำมาอย่างยาวนาน สะท้อนจากสัดส่วนการลงทุนภาคเอกชนต่อ GDP ที่ลดลงจาก 31% ในช่วงก่อนปี 2540 มาอยู่ที่ 17% ในปัจจุบัน และในช่วง 5 ปีก่อน COVID-19 (2558-2562) การลงทุนภาคเอกชนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียง 2%[2] นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังมีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP เพิ่มขึ้นกว่า 10% จากช่วงก่อน COVID-19 มาอยู่ที่ 88% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 โดยธุรกิจ SMEs มีภาระหนี้ค่อนข้างสูงสะท้อนจากค่าเฉลี่ยหนี้สินต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 79% ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มีสัดส่วนดังกล่าวเพียง 44%
จากผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนมาจากความเปราะบางของฐานะการเงินของภาคธุรกิจเป็นสำคัญ
การศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจ[3]มีความสำคัญมากในการประเมินแนวโน้มการลงทุนในอนาคต โดยการศึกษานี้ทำผ่านการวิเคราะห์งบการเงินของ (1) ธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 782 บริษัทในหลายมิติ ได้แก่ โอกาสในการเติบโตของธุรกิจ (Tobin’s Q ที่ใช้สัดส่วนมูลค่าบริษัทต่อทรัพย์สินรวม) กระแสเงินสด หนี้สินระยะยาว และยอดขาย และ (2) ธุรกิจ SMEs จำนวน 106,900 บริษัท ผ่านตัวแปรทางการเงิน ได้แก่ กระแสเงินสด หนี้สินระยะยาว และยอดขาย
ผลการศึกษาพบว่า การตัดสินใจลงทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้นอยู่กับโอกาสในการเติบโตถึง 62% ของปัจจัยทั้งหมด ทั้งนี้เป็นเพราะธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุน ได้เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม การตัดสินใจลงทุนของธุรกิจ SMEs ขึ้นอยู่กับระดับหนี้ของธุรกิจเป็นสําคัญ โดยหนี้สินระยะยาวคิดเป็นร้อยละ 51% และกระแสเงินสดคิดเป็น 40% ของปัจจัยในการตัดสินใจลงทุน ทั้งหมด (ภาพที่ 1)
จึงอาจกล่าวได้ว่าระดับความเป็นหนี้ รวมถึงต้นทุนทางการเงินจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจ SMEs มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากธุรกิจ SMEs มีระดับหนี้ต่อทรัพย์สินรวมในระดับสูงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายการลงทุน ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีความทนทานต่อระดับความเป็นหนี้มากกว่าและมีช่องทางในการระดมทุนที่หลากหลาย ทั้งการออกตราสารทุนและการล็อคต้นทุนการกู้ยืมผ่านการออกตราสารหนี้
นอกจากนี้ หากพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจประเภทต่างๆ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจภาคอุตสาหกรรม คือ โอกาสในการเติบโตของธุรกิจ โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42% ของปัจจัยทั้งหมด รองลงมาคือ ยอดขาย (32%) และหนี้สินระยะยาว (23%) ขณะที่กระแสเงินสดส่งผลต่อธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมน้อย ขณะที่ธุรกิจบริการท่องเที่ยว นอกจากโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจแล้ว การมีกระแสเงินสดที่เพียงพอเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน โดยคิดเป็นสัดส่วน 35% ของปัจจัยทั้งหมด รองลงมาคือ หนี้สินระยะยาว (18%) และ ยอดขาย (10%) (ภาพที่ 2)
ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ธุรกิจทั้งสองประเภทมองว่าโอกาสในการเติบโตของธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน เพราะช่วยให้สามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น ขณะที่กระแสเงินสดเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจบริการท่องเที่ยว แต่มีผลต่อธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมน้อย เพราะวัฏจักรเงินสด (cash cycle) ของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมยาวกว่าธุรกิจบริการท่องเที่ยวที่ประมาณ 80 วัน และ 40 วัน ตามลำดับ สะท้อนว่าธุรกิจบริการท่องเที่ยวได้รับเงินสดจากการดำเนินงานในระยะเวลาสั้น ทำให้การมีสภาพคล่องที่เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายการลงทุนของธุรกิจกลุ่มนี้
มองไปข้างหน้า...มาตรการสนับสนุนทางการเงินสำหรับธุรกิจ SMEs ยังมีความสำคัญ
เมื่อมองถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ขยายตัวต่อเนื่องและมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน และการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นตามรายได้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่จะมีแนวโน้มดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและคาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจ SMEs ยังคงน่าเป็นห่วงแม้ทิศทางเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างจากหนี้ที่อยู่ในระดับสูงอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของธุรกิจ SMEs ได้
เพื่อให้ธุรกิจ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง และเพื่อไม่ให้ภาระหนี้เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจลงทุนในอนาคต ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงมีมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยลดภาระจ่ายหนี้ของธุรกิจ SMEs ทั้ง
โดยมาตรการทั้งหมดนี้ ในระยะสั้นจะช่วยให้ธุรกิจ SMEs สามารถดำเนินกิจการและรักษาระดับการจ้างงานต่อได้ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและการแก้ไขภาระหนี้อย่างยั่งยืนจะส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs มีการลงทุนเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลดีต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
Endnotes:
[1] Regional Economic Outlook for Asia and Pacific, October 2022
https://www.imf.org/en/Publications/REO/APAC/Issues/2022/10/13/regional-economic-outlook-for-asia-and-pacific-october-2022
[2] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
https://www.nesdc.go.th/
[3] Aivazian, V.A., Ge.Y., Qiu. J., 2005. The impact of leverage on firm investment: Canadian evidence. Journal of Corporate Finance 11, 277 – 291
[4] https://www.bot.or.th/covid19/content/sme/Pages/asset-warehousing.aspx
[5] https://www.bot.or.th/covid19/content/sme/Pages/fin-rehab.aspx
[6] https://www.bot.or.th/covid19/content/sme/drbiz
แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ PraewpaW@bot.or.th
เศรษฐกรอาวุโส สํานักวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
นักเศรษฐศาสตร์ที่วิเคราะห์งบการเงินของธุรกิจ เพื่อทำความเข้าใจการตัดสินใจลงทุน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการวิเคราะห์และประมาณการเศรษฐกิจ
Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้อง และอ้างอิงถึงผู้เขียนโดยชัดแจ้ง
Theme: การตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ
Tags: การลงทุนภาคเอกชน ธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ SMEs งบการเงิน มาตรการสนับสนุนทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แจงสี่เบี้ย คอลัมนิสต์ แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษ
คอลัมน์แจงสี่เบี้ย
เป็นช่องทางสื่อสารมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ในสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยในประเด็นเศรษฐกิจ Hot issues รวมถึงให้ความรู้ทางเศรษฐกิจการเงิน และนโยบายและผลกระทบแก่สาธารณชน
Advisory Editors
ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล -- ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.สุรัช แทนบุญ -- ฝ่ายนโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
Economics and Production Editor
ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ -- ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
Media Queries
งานสื่อมวลชน -- ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย MassMediaCCD@bot.or.th