จากดอกเบี้ยนโยบายสู่ดอกเบี้ย ธพ.: "ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม"
แจงสี่เบี้ย No. 10/2023 | 29 มิถุนายน 2566
ตั้งแต่เริ่มวิกฤต COVID ไทยนับเป็นประเทศแรก ๆ ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินและบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน นับเป็นเวลากว่า 2 ปีที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ต้องเผชิญความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมากขึ้น นโยบายการเงินจึงควรทยอยปรับเข้าสู่ภาวะปกติให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง 6 ครั้ง ตั้งแต่สิงหาคม 2565 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ในปัจจุบัน บทความนี้จะเล่าถึงพฤติกรรมการปรับดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ในช่วงวัฏจักรขาขึ้นรอบปัจจุบันว่าต่างไปจากอดีตหรือไม่
โดยปกติแล้ว เมื่อธนาคารกลางปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธพ. จะปรับดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้สอดคล้องกัน ซึ่งการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านช่องทางดอกเบี้ยของ ธพ. นับเป็นช่องทางส่งผ่านหลักไปสู่ระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาระบบธนาคารเป็นแหล่งระดมทุนและการออมที่สำคัญ โดยการกู้ยืมผ่านสินเชื่อคิดเป็นร้อยละ 89 ของการกู้ยืมของภาคเอกชนทั้งหมด ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธพ. จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการออม การลงทุน และการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชน การศึกษาพฤติกรรมการปรับดอกเบี้ยของ ธพ. สำหรับวัฏจักรขาขึ้นรอบปัจจุบัน พบประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประการ ได้แก่
ประการแรก การปรับดอกเบี้ยของ ธพ. ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ต่างจากอดีต คือ (1) ธพ. ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้แต่ละประเภทต่างกัน โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้กู้รายใหญ่ (Minimum loan rate: MLR) เร็วและมากกว่าสำหรับผู้กู้รายย่อย (Minimum retail rate: MRR) (ภาพที่ 1) ต่างจากในอดีตที่ ธพ. ปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อแต่ละประเภทในขนาดที่ใกล้เคียงกัน การทยอยปรับขึ้น MRR สะท้อนความพยายามของ ธพ. ในการช่วยบรรเทาภาระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางทั้ง SMEs และครัวเรือนที่การกู้ยืมส่วนใหญ่อ้างอิง MRR และเอื้อให้รายได้ที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวมาช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ปรับดีขึ้น และ (2) ธพ. ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากน้อยกว่าอดีต โดยเฉพาะเงินฝากออมทรัพย์ เนื่องจาก ธพ. ไม่มีความจำเป็นในการระดมเงินฝากเพิ่มเติมมากนัก จากสภาพคล่องในระบบ ธพ. ที่ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากปริมาณเงินฝากที่ยังขยายตัวร้อยละ 3 ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาด ขณะที่อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 90.6 ณ มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2559 สะท้อนว่า ธพ. มีสภาพคล่องเพียงพอให้สามารถปล่อยกู้ได้
ประการที่สอง ธพ. ใหญ่ และ ธพ. อื่น ๆ มีพฤติกรรมการปรับดอกเบี้ยแตกต่างกัน (ภาพที่ 2) ด้านดอกเบี้ยเงินกู้ พบว่า ธพ. ใหญ่ปรับขึ้น MLR โดยเฉลี่ยมากกว่า ธพ. อื่น ๆ (ร้อยละ 76 เทียบกับร้อยละ 59) ขณะที่ปรับขึ้น MRR น้อยกว่า (ร้อยละ 47 เทียบกับร้อยละ 49) โดยเร่งปรับขึ้น MLR ในช่วงแรก แต่ทยอยปรับขึ้น MRR สำหรับดอกเบี้ย เงินฝาก พบว่า ธพ. ใหญ่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่า ธพ. อื่น ๆ โดยเฉพาะเงินฝากประจำ ซึ่งพฤติกรรมที่ต่างกันนี้มาจากหลายปัจจัย ได้แก่
(1) โครงสร้างทางการเงินที่ต่างกัน (ภาพที่ 3) โดย ธพ. ใหญ่มีสินเชื่อที่อ้างอิง MLR กว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งส่วนมากเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ ธพ. จึงสามารถปรับขึ้น MLR ได้เร็ว และทยอยปรับขึ้น MRR ได้ นอกจากนี้ ธพ. ใหญ่มีสัดส่วนเงินฝากกว่าร้อยละ 88 ของยอดคงค้าง ธพ. ไทยทั้งหมด โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 76 เป็นเงินฝากออมทรัพย์ ในช่วงที่ผ่านมา ธพ. ใหญ่จึงปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากประจำในอัตราที่มาก ทำให้ครัวเรือนเคลื่อนย้ายเงินฝากจากเงินฝากออมทรัพย์มาเงินฝากประจำมากขึ้น และ
(2) ดอกเบี้ยของ ธพ. อื่น ๆ อยู่ในระดับที่สูงกว่า ธพ. ใหญ่อยู่ก่อนแล้ว โดยดอกเบี้ยเงินกู้ของ ธพ. อื่น ๆ อยู่สูงกว่า ธพ. ใหญ่โดยเฉลี่ยร้อยละ 1 เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ธพ. อื่น ๆ จึงปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ได้ไม่มาก ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากของ ธพ. อื่น ๆ ก็อยู่ในระดับสูงกว่าเช่นกัน อีกทั้งยังมีสัดส่วนเงินฝากประจำที่มากกว่า ธพ. ใหญ่เกือบ 2 เท่า ทำให้ ธพ. อื่น ๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำได้น้อยกว่า
แม้พฤติกรรมการปรับดอกเบี้ยของ ธพ. จะเปลี่ยนไปจากอดีตบ้าง แต่การเพิ่มความระมัดระวังในการส่งผ่านผลกระทบไปยังกลุ่มเปราะบางนั้นสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องการสนับสนุนให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ในระยะต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะติดตามผลจากการดำเนินการนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง และยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินมาตรการทางการเงินเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างตรงจุด เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นลิน หนูขวัญ nalinn@bot.or.th
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายนโยบายการเงิน และเคยมีประสบการณ์ทำงานใน ธปท. ด้านต่าง ๆ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กลยุทธ์การต่างประเทศ นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และ กลยุทธ์นโยบายการเงิน นอกจากนี้ ยังมีความสนใจด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน และนโยบายการเงิน รวมถึงนัยจากบริทัศน์ทางการเงินที่เปลี่ยนไป โดยมีผลงานวิจัย เช่น Monetary and Financial Perspectives on Retail CBDC in the Thai Context และ Diversity with proximity: โอกาสและความท้าทายของห่วงโซ่มูลค่าของอาเซียน (นำเสนอที่ SEACEN Research and Training Centre ประเทศมาเลเซีย)
คุณนลินสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้าน Economics จาก University College London และระดับปริญญาโทด้าน Risk management and financial engineering จาก Imperial College London สหราชอาณาจักร เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่นชอบในนโยบายการเงิน แต่ก็ไม่ลืมติดตามร้านอาหารอร่อย และรักในเสียงเพลง
รวิภา ไวยาวัจกร rawiphaw@bot.or.th
เศรษฐกร ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้าน Economics สาขาการเงิน (Monetary Economics) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเศรษฐกร สายนโยบายการเงิน มีความสนใจด้าน Monetary Policy และ Monetary Financial Economics ทั้งยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ชอบ explore ในนโยบายการเงิน และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผ่านการพูดคุยและท่องเที่ยว
Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้อง และอ้างอิงถึงผู้เขียนโดยชัดแจ้ง
Theme: การส่งผ่านนโยบายการเงิน/การส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบาย
Tags: การส่งผ่าน, ดอกเบี้ยนโยบาย, ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์, ดอกเบี้ยเงินฝาก, ดอกเบี้ยเงินกู้, นโยบายการเงิน, ธนาคารแห่งประเทศไทย, แจงสี่เบี้ย, คอลัมนิสต์, นลิน หนูขวัญ, Nalin Nookhwun, รวิภา ไวยาวัจกร, Rawipha Waiyawatjakorn
คอลัมน์แจงสี่เบี้ย
เป็นช่องทางสื่อสารมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ในสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยในประเด็นเศรษฐกิจ Hot issues รวมถึงให้ความรู้ทางเศรษฐกิจการเงิน และนโยบายและผลกระทบแก่สาธารณชน
Advisory Editors
ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล -- ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.สุรัช แทนบุญ -- ฝ่ายนโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
Economics and Production Editor
ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ -- ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
Media Queries
งานสื่อมวลชน -- ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย MassMediaCCD@bot.or.th