มาตรการเกราะกันภัย ป้องกันทุจริตทางการเงิน 

 

ผู้อ่านยังจำได้ไหมคะ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเราเคยคุยกันว่าคาถากันภัยทางการเงินที่สำคัญ คือ “เช็กให้ชัวร์” เพื่อป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ เพราะตนย่อมระวังภัยให้ตนเองได้ดีที่สุด แต่แบงก์ชาติและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งหาแนวทางแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับธนาคารที่เป็นตัวกลางสำคัญในการทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชน

virtual bank

ตัวอย่างมาตรการที่ออกมาแล้ว เริ่มด้วยการป้องกันมิจฉาชีพติดต่อเข้ามาหาประชาชน โดยแบงก์ชาติร่วมกับ กสทช. สมาคมธนาคารไทย และผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือบล๊อกข้อความ SMS ที่แอบอ้างชื่อเป็นธนาคารเพื่อใช้หลอกลวง รวมทั้งขอให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเพิ่มเลข +697 ในเบอร์ที่โทรจากต่างประเทศผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้สังเกตเบอร์ที่อาจมาจากมิจฉาชีพได้ง่ายขึ้น

 

หากมีคนมาเสนอให้เงินกู้ ประชาชนก็สามารถเช็กข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อที่ถูกกฎหมายบนเว็บไซต์แบงก์ชาติเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่การหลอกให้กู้เงินเถื่อน ก่อนตัดสินใจใช้บริการได้อย่างปลอดภัย ส่วนกรณีล่าสุดจากข่าวครึกโครมที่มีนถูกหลอกให้คลิกลิงก์ เพื่อติดตั้งแอปดูดเงิน แบงก์ชาติได้กำชับให้ธนาคารทุกแห่งพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยบนโทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทันโปรแกรมของมิจฉาชีพ และดูแลให้ระบบตัดการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ที่มิจฉาชีพใช้ควบคุมเครื่องผู้เสียหายจากระยะไกลได้

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้ออกชุดมาตรการที่จะใช้จัดการภัยการเงินที่ครบวงจรขึ้น โดยมีเครื่องมือที่จะจัดการภัยการเงินให้ได้เข้มงวดขึ้นตลอดเส้นทางการทำธุรกรรม และธนาคารทุกแห่งต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้ประชาชนในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะผ่านช่องทางดิจิทัล ลดโอกาสการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และหากได้รับความเสียหาย จะได้รับการแก้ปัญหาจากธนาคารได้เร็วขึ้น ทำให้โอกาสเกิดความเสียหายลดลง ที่สำคัญ แบงก์ชาติได้เร่งให้ทุกธนาคารต้องทำตามชุดมาตรการนี้โดยเร็ว ซึ่งบางส่วนได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนมาตรการที่เหลือส่วนใหญ่จะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ในเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป

 

แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากมาตรการเหล่านี้ ?

 

หนึ่ง ลดโอกาสที่จะถูกหลอกหรือสวมสิทธิ์ให้โอนเงินออกไปผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะหลังจากนี้ ธนาคารจะไม่ส่งลิงก์ผ่าน SMS และอีเมล และไม่ส่งลิงก์ขอข้อมูลส่วนตัวหรือรหัสผ่านด้วยช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นช่องทางหลักที่มิจฉาชีพใช้ ในฝั่งของลูกค้าธนาคารเอง ผู้ใช้งานบนโมบายแบงก์กิ้งจะใช้ได้แค่ 1 อุปกรณ์ 1 username ต่อ 1 ธนาคารเท่านั้น เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพใช้อุปกรณ์อื่นมาสวมรอยทำธุรกรรมแทน ผู้อ่านบางท่านที่เดิมมีมือถือหลายเครื่อง จะถูกจำกัดสิทธิ์ให้ใช้โมบายแบงก์กิ้งได้เพียงเครื่องเดียว แต่ 1 username ยังมีหลายบัญชีได้ นอกจากนี้ หากต้องการปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันหรือโอนเงินเกิน 50,000 บาทต่อครั้ง หรือ 200,000 บาทต่อวัน ผ่านโมบายแบงก์กิ้ง ลูกค้าจะต้องยืนยันตัวตนผ่านการสแกนใบหน้าเป็นอย่างน้อย  

 

แน่นอนว่าขั้นตอนเหล่านี้ อาจทำให้ท่านได้รับความสะดวกสบายน้อยลงบ้าง แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง คือการแลกมาซึ่งความปลอดภัยที่มากขึ้นเช่นกัน

 

สอง จำกัดความเสียหายของประชาชนได้เร็วขึ้น ด้วยระบบตรวจจับและติดตามธุรกรรมที่เข้าข่ายผิดปกติของธนาคารตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อตรวจพบความผิดปกติ จะสามารถระงับธุรกรรมได้เป็นการชั่วคราว หลังจากนั้นหากพบว่าไม่ใช่ธุรกรรมที่ทำกับมิจฉาชีพ ธนาคารจะยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมนั้น ซึ่งประชาชนก็จะใช้การบัญชีหรือธุรกรรมนั้นได้ตามปกติ

 

สาม ถ้าประชาชนพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพไปแล้ว จะได้รับการจัดการปัญหาเร็วขึ้น โดยผู้เสียหายสามารถแจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ธนาคารได้เร็วขึ้นผ่านศูนย์ hotline ของธนาคารตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ ซึ่งหลายธนาคารได้ประชาสัมพันธ์เบอร์โทรสายด่วนแล้ว และหากความเสียหายที่เกิดกับลูกค้ามาจากข้อบกพร่องของธนาคารเอง ธนาคารต้องรีบดูแลรับผิดชอบลูกค้าด้วย

 

ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชุดมาตรการของแบงก์ชาติ ซึ่งเน้นปิดช่องโหว่ที่ยังมีอยู่ในภาคธนาคารเท่านั้น แต่หากจะจัดการปัญหาภัยทางการเงินให้ได้ครบวงจรขึ้นอีก ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยกันผลักดันมาตรการในส่วนอื่นให้เห็นผลโดยเร็ว ซึ่ง พรก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 17 มีนาคม เป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้ธนาคาร ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ และ ปปง. สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อใช้ในการสืบสวนหาผู้กระทำความผิด หรืออายัดบัญชีได้คล่องตัวขึ้น และทำให้ธนาคารระงับธุรกรรมไปยังปลายทางได้เป็นทอด ๆ ช่วยตัดตอนเส้นทางการเงิน และลดความเสียหายที่จะเกิดกับทรัพย์สินของประชาชนได้อีกมาก

 

แม้จะมีมาตรการที่ออกมาเป็นเกราะป้องกันภัย แต่ประชาชนยังคงเป็นกำลังสำคัญที่สุดในการต่อสู้กับภัยทางการเงิน ดังนั้น อย่าลืมติดตามข่าวสารและมีสติตลอดเวลา เพื่อให้ใช้บริการทางการเงินได้อย่างมั่นใจ และปลอดภัย ด้วยความห่วงใยจากพวกเราชาวแบงก์ชาติ แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้าค่ะ

 

ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
คอลัมน์ “แบงก์ชาติชวนคุย” นสพ.ประชาชาติ
ฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2566

 

 

 

Tag ที่เกี่ยวข้อง

ภัยทางการเงิน