เรื่องเล่า “เศรษฐกิจไทย” จาก IMF
“ข้างหน้าคือความหวัง ข้างหลังคือบทเรียน”
สวัสดีผู้อ่านทุกท่านค่ะ ในช่วงนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่นี้ อยากชวนคุยเรื่องการย้อนมองเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา และลองมองการณ์ไกลไปข้างหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับโจทย์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 กัน
แต่ความพิเศษของเรื่องเล่า “เศรษฐกิจไทย” ในวันนี้ ไม่ใช่มุมมองจากแบงก์ชาติ แต่เป็นจากองค์กรระหว่างประเทศอย่าง IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ได้ส่งทีมงานเดินทางมาประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินของเราเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา โดยได้ไปพูดคุยกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ได้ข้อมูลและความเห็นมาประกอบการประเมินให้ครบถ้วน
IMF ทำหน้าที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของประเทศสมาชิก 191 ประเทศทั่วโลก จึงต้องมีทีมงานติดตามภาพเศรษฐกิจของสมาชิกอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ประมวลภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและโลก และเสนอแนะแนวนโยบายและหลักปฏิบัติให้สมาชิกนำไปปรับใช้ ทั้งยังจะได้ออกแบบการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ แก่สมาชิกได้อย่างเหมาะสม ทั้งในเรื่องการเงิน สภาพคล่อง และการสนับสนุนทางวิชาการ
ในภาพรวม IMF มองว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ในช่วงแรกของปีนี้ ภาครัฐจะเบิกจ่ายล่าช้าจากกระบวนการงบประมาณ แต่การบริโภคของภาคเอกชนและการท่องเที่ยวก็ยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ โดยคาดว่าในปี 2567 นี้ เศรษฐกิจไทยจะโตที่ประมาณ 2.7%
สำหรับปี 2568 IMF ประเมินว่าการใช้จ่ายของภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวได้ น่าจะมาช่วยเสริมแรงให้เศรษฐกิจไทย ขณะที่การส่งออกและการบริโภคอาจไม่เติบโตได้ดีเท่าเดิม โดยเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ที่ประมาณ 2.9% แต่ก็เตือนให้เราติดตามและระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจนำมาซึ่งความตึงเครียดของการค้าโลก จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของประเทศใหญ่ ๆ ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจของคู่ค้าและการส่งออกของไทย รวมถึงการลงทุนจากต่างประเทศด้วย
อีกเรื่องที่ IMF กังวลเกี่ยวกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ คือ ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะส่งผลต่อเงินเฟ้อ ภาวะการเงิน และค่าครองชีพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ปัญหาหนี้สินของประชาชนและเอกชนรายย่อยจะยังเป็นอีกแรงฉุดรั้งสำคัญของเศรษฐกิจไทยอยู่
คำแนะนำที่ IMF เน้นย้ำก็คือ การสร้างกันชนทางนโยบาย (policy space) ไว้รองรับความไม่แน่นอน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ การเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นไว้ให้พร้อม เผื่อนำมาใช้เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งในที่นี้ หมายถึงความสามารถที่จะนำเม็ดเงินงบประมาณมาใช้ในส่วนของนโยบายการคลัง และการปรับอัตราดอกเบี้ยในส่วนของนโยบายการเงินนั่นเอง
ในแง่ของ “นโยบายการคลัง” นั้น IMF มองว่า การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเศรษฐกิจระยะสั้นยังสามารถทำได้ แต่อาจต้องรัดเข็มขัดให้แน่นขึ้นและให้งบประมาณขยายตัวน้อยกว่าแผนเดิมที่วางไว้ โดยควรทยอยลดการขาดดุลทางการคลังลง เพื่อรองรับเมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงจะช่วยลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลงได้ ที่สำคัญ IMF อยากเห็นการจัดสรรงบประมาณบางส่วน สำหรับการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของประเทศเพื่อปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในส่วนของ “นโยบายการเงิน” นั้น IMF เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา และมองว่าอาจปรับลงได้อีกเล็กน้อย โดยไม่ถือว่าเข้าสู่วัฏจักรขาลงของดอกเบี้ย แต่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการก่อหนี้ใหม่มากนักในช่วงที่สินเชื่อตอนนี้ชะลอตัว
นอกจากนี้ IMF ยังสนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ที่เน้นการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ และการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน และได้แนะนำให้ปรับปรุงกระบวนการล้มละลายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้กระบวนการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกหนึ่งเรื่องที่ IMF ไฮไลต์ คือประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนที่แข่งขันไม่ได้ในหลายหมวดสินค้า รวมถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยที่ยังไม่ทันกระแสโลก ทั้งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เราไม่สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากสินค้าที่อยู่ในกระแสและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้
ในการเร่งปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและการเติบโตของเศรษฐกิจนั้น IMF เห็นว่าไทยควรต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและดิจิทัล พร้อมกับพัฒนาธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และที่ขาดไม่ได้ก็คือ การพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อยกระดับคุณภาพของสินค้าและธุรกิจไทยให้สอดรับกับกระแสเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น รวมทั้งบรรเทาปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานมากขึ้นได้
นอกจากนี้ ไทยควรสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับธุรกิจผ่านการเปิดเสรีภาคบริการ เพิ่มการแข่งขันที่เป็นธรรม ความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของภาครัฐ ตลอดจนการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมที่ดีเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้รับมือกับภาระหนี้และความท้าทายที่เกิดขึ้นได้
มุมมองและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยของ IMF ที่เล่ามานั้น ค่อนข้างสอดคล้องกับการประเมินของหน่วยงานเศรษฐกิจของไทย เช่นเดียวกับการเน้นการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ซึ่งแบงก์ชาติมีส่วนในการสร้างบรรยากาศที่ดี ผ่านการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การวางรากฐานระบบชำระเงินและบริการทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับคนไทยในอนาคต
ก่อนจะจากกันไปในฉบับนี้ ดิฉันขอใช้พื้นที่ตรงนี้กล่าวสวัสดีปีใหม่ 2568 แด่ผู้อ่าน ขอให้การสิ้นสุดของปี 2567 กลายเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่ดีกว่าของทุกท่านและประเทศไทยของเรานะคะ
แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไปค่ะ
ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
คอลัมน์ แบงก์ชาติชวนคุย ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 ธันวาคม 2567