Virtual Bank ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่เข้ามาเปลี่ยนโลก
คุณจำครั้งสุดท้ายที่ไปสาขาธนาคารได้หรือเปล่าคะ?
บริการทางการเงินในชีวิตประจำวันของเราเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และวิกฤตโควิดถือเป็นตัวเร่งให้ผู้คนต้องปรับตัวสู่โลกยุคดิจิทัลมากขึ้น เราเห็นการเปลี่ยนจากการไปสาขาธนาคารมาสู่การใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ขณะที่คนอีกหลายกลุ่มกลับไม่สามารถเข้าถึงหรือได้รับบริการทางการเงินที่เหมาะสม อาทิ ผู้มีเงินออมน้อยหาทางเลือกการลงทุนที่ตอบโจทย์ได้ยาก ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กที่ขายสินค้าออนไลน์หรือขายอาหารในตลาดอาจกู้จากธนาคารไม่ได้เพราะไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงรายได้ หรือหากขอกู้ได้ก็ถูกคิดดอกเบี้ยสุดแพงเพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงให้ธนาคาร
แล้วจะดีแค่ไหน? ถ้าคนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับตัวเองได้อย่างปลอดภัย สะดวก และทั่วถึง
ด้วยข้อมูลที่ได้จากระบบดิจิทัล หรือ digital footprint จากในและนอกภาคการเงินที่เพิ่มขึ้นมาก เช่น การรับจ่ายเงิน การสั่งซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงข้อมูลทางเลือกอื่น เช่น ประวัติการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ เมื่อนำมาวิเคราะห์เชิงลึกหรือประมวลผลด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลและระบบที่น่าเชื่อถือ ความฝันที่คนไทยจะได้รับบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น
Virtual Bank (VB) หรือที่บางประเทศรู้จักกันในชื่อ Internet Only Bank, Digital Bank หรือ Neobanks ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เริ่มบุกตลาดการเงินโลกมาแล้วหลายปี ในประเทศญี่ปุ่นมี Rakuten Bank ซึ่งเป็น Internet Only Bank มาตั้งแต่ปี 2543 ขณะที่จีนมี Webank ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2556-2557
สำหรับ VB ในไทยจะให้บริการเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ที่เราคุ้นเคย แต่ไม่มี ATM ไม่มีเครื่องรับฝากอัตโนมัติ และที่แน่ ๆ ไม่มีสาขาในอาคารห้างร้านเลย ลูกค้า VB จะสามารถเปิดบัญชีเงินฝากด้วยตนเอง ยื่นเรื่องขอกู้เงิน วางแผนการออมและการลงทุน รวมไปถึงใช้บริการอื่น ๆ ของธนาคารบนแอปพลิเคชันจากโทรศัพท์มือถือ ด้วยการยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์หรือเทคโนโลยี biometrics ที่ทันสมัย และหากลูกค้าต้องการฝาก-ถอนเงินสด ก็สามารถใช้ตู้ ATM ของธนาคารอื่น ๆ หรือทำผ่านร้านค้าที่เป็นตัวแทนได้
สิ่งที่ลูกค้า VB หรือธนาคารไร้สาขา จะได้รับเพิ่มจากธนาคารแบบดั้งเดิม คือ ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด เช่น ในต่างประเทศ เราได้เห็นการให้บริการสินเชื่อขนาดเล็กแก่ผู้มีรายได้น้อย บัญชีเงินออมเงินหลายสกุลที่ใช้ได้ในหลายประเทศ ออกบัตรเครดิตที่ให้แต้มด้านสิ่งแวดล้อม บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงสำหรับเด็ก รวมไปถึงบัตรเดบิตที่ไม่ต้องใช้ชื่อและเพศตามบัตรประชาชนเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ นอกจากนี้ ด้วยการลดต้นทุนด้านสถานที่ พนักงาน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ VB จึงสามารถลดค่าธรรมเนียมและค่าบริการให้ถูกลง ทำวิจัยและพัฒนา รวมถึงจะกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปต้องปรับตัว เพื่อแข่งขันกันนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงใจลูกค้าให้มากที่สุด
นโยบายการเปิดให้มีผู้ให้บริการ VB ของ ธปท. จึงเป็นผลจากความต้องการให้คนไทยมีทางเลือกในบริการทางการเงินที่หลากหลาย เข้าถึงได้สะดวก ต้นทุนต่ำลง และต้องปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ดังนั้น ผู้ที่จะให้บริการต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี การใช้ข้อมูล การให้บริการผ่านระบบดิจิทัล รวมทั้งสามารถบริหารความเสี่ยงของธุรกิจธนาคารได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคารดั้งเดิม แต่จะเป็นธุรกิจอื่นหรือเป็นการจับมือกันของธุรกิจที่มีความชำนาญแต่ละด้านข้างต้นก็ได้ นอกจากนี้ ยังต้องมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง เพื่อพร้อมที่จะลงทุนในระบบงานที่ทันสมัย ปลอดภัย พร้อมที่จะพัฒนานวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ รวมทั้งต้องมีเงินสำรองเพียงพอหากเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย ทั้งนี้ เงินฝากของลูกค้า VB จะได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม VB จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ โดยต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ มีธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ซึ่งจากลักษณะของ VB จะถูกดูแลเข้มงวดในด้านความต่อเนื่องของการให้บริการ (ให้ระบบล่มไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี) รวมถึงประสิทธิภาพในการดูแลลูกค้า โดยเฉพาะการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การรับเรื่องและแก้ไขข้อร้องเรียน เพราะ VB ไม่มีสาขานั่นเอง
ในช่วง 3-5 ปี ที่เริ่มธุรกิจ แบงก์ชาติจะติดตามการดำเนินธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินให้มั่นใจว่าธุรกิจมีความมั่นคง ไม่มีพฤติกรรมที่จะเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินและลูกค้า เช่น การแข่งกันปล่อยกู้จนสร้างปัญหาหนี้ โดยรายที่ไม่ทำตามเกณฑ์หรือปรับตัวไม่ได้ จะถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งต้องดำเนินการตามแผนรองรับเพื่อป้องกันผลกระทบต่อลูกค้า ผู้สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.bot.or.th/landscape/virtual-bank
ภายในปี 2568 เรากำลังจะมีธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่จะมาเปลี่ยนโลกการเงินของคนไทย เมื่อธุรกิจพร้อม เทคโนโลยีพร้อม คนไทยเองก็ต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจถึงความเสี่ยงในโลกการเงินดิจิทัล ระวังภัยทางการเงินที่จะมาในรูปแบบลิงก์ปลอมหรือหลอกให้ลงทุน เราอาจไม่สามารถหยุดการพัฒนาเพราะกังวลด้านความปลอดภัยได้ เพราะจะส่งผลให้ประเทศไทยก้าวไม่ทันโลก
เมื่อหนีเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้ ก็ต้องปรับตัวให้ทันเพื่ออยู่กับมันให้ได้ ใช้เทคโนโลยีอย่างมีสติ เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเองและครอบครัวนะคะ แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้าค่ะ
ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
คอลัมน์ “แบงก์ชาติชวนคุย” นสพ.ประชาชาติ
ฉบับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566