เคลียร์หนี้เรื้อรัง
ปูทางสู่การแก้หนี้อย่างยั่งยืน

“จ่ายได้แค่ดอกเบี้ย เงินต้นแทบไม่ลด” เลยต้องผ่อนน้อย และผ่อนนาน เป็นอาการที่มีการพูดถึงกันมากขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งเราอาจเรียกง่าย ๆ ได้ว่าเป็น “หนี้เรื้อรัง” นั่นเอง

IMF meeting

ปัญหาหนี้เรื้อรังเกิดจากการที่ลูกหนี้มีรายได้หรือสภาพคล่องในมือน้อยเทียบกับภาระการผ่อนชำระหนี้ ส่งผลให้หนี้ลดลงช้า สภาพคล่องในมือของครัวเรือนที่ต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงทุนเพื่อการประกอบอาชีพก็มีจำกัด เพราะต้องนำส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ไม่จบไม่สิ้น เกิดทั้งความเครียดและยังฉุดรั้ง


การขยายตัวทางเศรษฐกิจและอาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อระบบการเงิน ซึ่งนับเป็นหนึ่งใน “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” สำคัญของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข

 

ที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้รับฟังความคิดเห็นทั้งจากหลากหลายเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อนำมาออกแบบมาตรการในการช่วยเหลือดูแลให้ตรงจุดและมีความสมดุล เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้เกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ส่งผลต่อความมั่นคงในภาพรวมของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งภายใต้มาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม หรือ Responsible Lending ที่เคยเล่าสู่กันฟังไปแล้ว และได้ทยอยมีผลตั้งแต่ต้นปี มีมาตรการใหม่ของแบงก์ชาติที่ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังโดยเฉพาะ ซึ่งจะเริ่มในเดือนเมษายน 2567 นี้

 

มาตรการแก้หนี้เรื้อรังนี้ เปรียบเสมือนยารักษาผู้ป่วยที่สามวันดีสี่วันไข้มานานให้หายขาด เพราะจะเป็นการให้ทางเลือกกับกลุ่มเปราะบางที่ยังติดอยู่ในวงจรหนี้ไม่เห็นทางออก ให้ปิดจบภาระหนี้ได้ แล้วผู้ป่วยที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง มีอาการอย่างไร?

 

อาการ “เรื้อรัง” แสดงว่าลูกหนี้ยังเป็นลูกหนี้ดีที่จ่ายหนี้อย่างสม่ำเสมอ จึงมีสถานะเป็นลูกหนี้ปกติ ไม่ได้เป็นหนี้เสีย หรือ NPL แต่อย่างใด เพียงแต่จ่ายน้อย ทำให้ส่วนที่จ่ายไปเป็นการชำระค่าดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ จึงตัดต้นได้น้อย จึงปิดจบหนี้ได้ยาก ต้องใช้เวลา เหมือนผู้ป่วยที่กินยาบรรเทาอาการมานาน แต่ยังไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุ 

 

การรักษาอาการหนี้เรื้อรังนี้ จะโฟกัสไปที่ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ที่มีวงเงินกู้ โดยมีกำหนดชำระตามรอบบิล ชำระแล้วก็อาจกู้ใหม่ได้อีกตามวงเงินที่เหลือ ทำให้ไม่มีกำหนดเวลาว่าต้องจ่ายกี่งวดจึงจะจบ เช่น สินเชื่อบัตรกดเงินสด ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงจะติดกับดักหนี้เรื้อรังมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะสามารถจ่ายขั้นต่ำไปได้เรื่อย ๆ ทั้งนี้ มาตรการนี้จะไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลและบัตรเครดิต ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสจะเป็นหนี้เรื้อรังน้อยกว่า 

inflation

การรักษาลูกหนี้เรื้อรัง จึงต้องให้ยาตามอาการ มีตั้งแต่ยาอ่อนไปจนถึงยาแรง  

 

ลูกหนี้ที่เพิ่งเริ่มมีสัญญาณของหนี้เรื้อรัง สะท้อนจากการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นนานกว่า 3 ปีนั้น มาตรการจะเน้นการ “กระตุ้นเตือน กระตุกให้ปรับพฤติกรรม” โดยเจ้าหนี้จะต้องแจ้งเตือนลูกหนี้ผ่านช่องทางที่ผู้ให้บริการใช้สื่อสารกับลูกหนี้ (เช่น จดหมาย อีเมล SMS แอปพลิเคชันธนาคาร และบัญชีทางการ LINE) พร้อมทั้งแนะนำให้จ่ายหนี้เพิ่มขึ้นตามกำลังและความสมัครใจ เพื่อลดภาระและเวลาในการผ่อนลง ที่สำคัญ เจ้าหนี้ต้องให้ข้อมูลดอกเบี้ยที่จ่ายไปแล้ว รวมถึงเงินต้นและหนี้คงเหลือเพื่อให้ลูกหนี้ใช้ตัดสินใจ และหากลูกหนี้อยากปิดหนี้เร็วขึ้น เจ้าหนี้ก็ต้องมีแนวทางช่วยเหลือให้ด้วย

 

สำหรับลูกหนี้ที่มีอาการหนี้เรื้อรังขั้นรุนแรง โดยมีการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าต้นมาแล้วนานกว่า 5 ปี และเป็นลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ที่มีรายได้น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน และลูกหนี้นอนแบงก์ที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน เจ้าหนี้จะต้อง “เสนอทางออก ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้” ไปยังช่องทางที่ผู้ให้บริการใช้แจ้งข้อมูลกับลูกหนี้ พร้อมทั้งให้ข้อมูลที่จำเป็น เช่น ผลเสียของการชำระหนี้ขั้นต่ำต่อเนื่อง คุณสมบัติของลูกหนี้ที่จะเข้าร่วม แนวทางการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ช่องทางติดต่อขอรับคำปรึกษา โดยลูกหนี้มีสิทธิเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมมาตรการหรือไม่ ตามความสมัครใจ

 

ลูกหนี้ที่ตอบรับ จะได้เข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระที่สอดคล้องกับความสามารถของตน พร้อมทั้งปรับมาเป็นสินเชื่อแบบผ่อนชำระเป็นงวดแทน เพื่อให้มีวันจบ และได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเหลือไม่เกิน 15% ต่อปี (จากปกติไม่เกิน 25% ต่อปี) ทำให้เงินค่างวดที่ชำระในจำนวนเท่าเดิมสามารถลดเงินต้นได้มากขึ้น โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มจนกว่าจะปิดจบหนี้แล้ว (ยกเว้นกรณีที่จำเป็น เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือ ตกงาน) เพื่อให้สามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี

 

นอกจากนี้ จะมีมาตรการเสริมเชิงป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เรื้อรัง โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ สถาบันการเงินต้องตั้งค่าเริ่มต้นในการชำระหนี้ผ่านแอปพลิเคชันธนาคารให้เป็นการชำระเต็มจำนวนเท่านั้น อีกทั้งจะต้องมีข้อความแจ้งเตือนให้คนที่ไม่ชำระเต็มจำนวนรู้ว่าจะทำให้มีภาระดอกเบี้ยสูงขึ้นด้วย

 

มาตรการแก้หนี้เรื้อรังให้กับกลุ่มเปราะบางนี้ เป็นเพียงจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในภาพใหญ่เท่านั้น โดยยังมีจิ๊กซอว์สำคัญอีกหลายชิ้นที่จะทำให้ภาพของการแก้หนี้อย่างยั่งยืนมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งการเป็น “ลูกหนี้ที่มีวินัย” เป็นหนี้เท่าที่จำเป็นและจ่ายไหว ขณะที่ผู้ให้บริการก็ต้องเป็น “เจ้าหนี้ที่มีความรับผิดชอบ” ให้สินเชื่อที่เหมาะสมกับความเสี่ยงและความสามารถของลูกหนี้ ซึ่งในครั้งต่อ ๆ ไป จะขอนำมาตรการอื่น ๆ และแนวทางการกำกับดูแลเชิงรุกของแบงก์ชาติมาเล่าให้ฟัง

 

แล้วพบกันใหม่ค่ะ

ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์


คอลัมน์
แบงก์ชาติชวนคุย ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567

Tag ที่เกี่ยวข้อง

แก้หนี้ยั่งยืน ช่วยเหลือลูกหนี้