“เช็กให้ชัวร์” คาถากันภัยทางการเงิน
ท่องไว้ไม่ตกเป็นเหยื่อ
คงไม่ช้าเกินไปที่จะกล่าวสวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่าน ในปี 2566 นี้ เราเริ่มเห็นบรรยากาศที่ผ่อนคลายจากความกังวลเรื่องโควิด 19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างเริ่มกลับมาคึกคัก เปิดโอกาสให้ประชาชนและธุรกิจต่าง ๆ ทยอยกลับมาสร้างรายได้คล่องตัวขึ้น แต่ถ้ามองย้อนกลับไป จะเห็นว่าความลำบากที่ผ่านมา ได้กลายเป็นโอกาสที่มิจฉาชีพนำมาใช้ในการหยิบยื่นความหวังปลอม ๆ หรือซ้ำเติมคนที่ลำบากด้วยการหลอกลวง ทั้งหลอกให้โอนเงิน หรือล้วงข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ในครั้งแรกที่เราพบกันนี้ เลยอยากชวนคุยเรื่อง “ภัยทางการเงิน” กันค่ะ
ด้วยเทคโนโลยีทางการเงินที่ทำให้การโอนเงินสะดวกรวดเร็ว จนยอดการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ไม่เพียงแค่ประชาชนคนไทยที่ปรับตัวตอบรับและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหมนี้ แต่มิจฉาชีพก็ปรับรูปแบบการหลอกลวงมาใช้ประโยชน์จากสังคมไร้เงินสดนี้เช่นกัน โดยมีช่องทางเข้าถึงตัวเหยื่อที่หลากหลาย ทั้งโทรศัพท์ ข้อความ อีเมล แอปพลิเคชันธนาคาร และ social media เช่น LINE และ Facebook แต่ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ กลอุบายที่นำมาใช้มีความแยบยล ไม่เพียงแต่ใช้ช่วงที่คนไทยมี “ความเดือดร้อน” จากโควิด 19 เท่านั้น แต่ยังเล่นกับ “ความโลภ” และ “ความกลัว” ของผู้เคราะห์ร้าย กระตุ้นให้หลงกลยอมให้ข้อมูลส่วนตัว ยอมโอนเงิน หรือนำเงินมาลงทุนด้วย บางรายสูญเสียเงินที่เก็บออมมาทั้งชีวิต ล้มละลาย หรือกลายเป็นหนี้สินในชั่วพริบตา
ช่วงโควิด 19 ที่รายได้หลายคนขาดหาย ต้องการเงินมาใช้จ่าย เราก็เริ่มเห็น SMS จากเบอร์แปลก ๆ หรือชื่อผู้ส่งที่ใกล้เคียงกับสถาบันหรือบริษัทที่เรารู้จัก แจ้งว่าได้รับเงินกู้อนุมัติเร็ว หรือเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยให้คลิกลิงค์เพื่อ add line คุย ซึ่งมักจบด้วยการขอให้เหยื่อโอนเงินไปก่อน เพื่อให้สามารถรับเงินก้อนใหญ่ได้ บ้างก็อ้างว่าเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมทำสัญญา หรือค่าธรรมเนียมปลดล๊อก แล้วก็เงียบหายไปอย่างไร้ร่องรอยพร้อมกับเงินที่เหยื่อโอนให้ หลายรายต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่มเพื่อมาโอนให้ โดยหวังว่าจะได้เงินก้อนใหญ่มาชดเชย กลุ่มนี้ มักหลอกเอาเงินก้อนไม่ใหญ่นัก แต่มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก
อีกกรณีตัวอย่างที่ล่อให้เหยื่อเกิดความโลภ คือ กลไกแชร์ลูกโซ่ที่แฝงมาในชื่อการออมหรือการลงทุน โดยมักเสนอผลตอบแทนสูงเกินกว่าความเป็นจริง อย่างกรณี Forex-3D ที่ยังเป็นคดีค้างคา กระตุ้นความโลภด้วยการนำเสนอภาพลักษณ์ของ CEO ที่ร่ำรวย มีการทำกิจกรรมร่วมกับคนดังเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และชักชวนคนให้มาลงทุนผ่านแม่ข่าย โดยในช่วงแรกมีการโอนผลตอบแทนให้สมาชิกจริง เมื่อผู้เสียหายได้รับผลตอบแทนสูง ก็อยากลงเพิ่มเพื่อให้ได้เป็นสมาชิกระดับสูงขึ้น เพราะจะได้ผลตอบแทนมากขึ้น เนื่องจากไม่ได้มีการนำเงินไปลงทุนจริง แต่เป็นการนำเงินของสมาชิกใหม่มาหมุนเป็นผลตอบแทนให้สมาชิกเดิม ไม่นานนัก ก็ต้องหยุดจ่ายผลตอบแทน ส่วน CEO และคณะบินหนีไปต่างประเทศ ทิ้งมูลค่าความเสียหายไว้กว่า 2,400 ล้านบาท จากเหยื่อที่ถูกหลอกให้ลงทุนกว่า 9,000 คน
อีกหนึ่งเล่ห์เหลี่ยมของมิจฉาชีพที่พบบ่อยคือ การข่มขู่ให้เหยื่อกลัว ยกตัวอย่างเช่น หลอกว่าค้างชำระหนี้บัตรเครดิต มีพัสดุตกค้างจากต่างประเทศ มีเงินโอนผิดเข้ามาในบัญชี ญาติประสบอุบัติเหตุ พัวพันกับการฟอกเงินหรือสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้คนตกใจและรีบให้ข้อมูลส่วนตัวหรือโอนเงินให้อย่างรวดเร็ว อย่างกรณีประชาชนถูกมิจฉาชีพอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพกรส่งลิงก์เพื่อเข้าสู่เว็บไซต์ให้ตรวจสอบการค้างจ่ายภาษี ทำให้เหยื่อตกใจรีบกดลิงค์เข้าไปเพื่อกรอกข้อมูลส่วนตัว ก่อนจะทราบภายหลังว่าเงินในบัญชีที่ผูกไว้กับแอปพลิเคชันธนาคารได้ถูกโอนออกไปทั้งหมด มูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสูญเงินออมตลอด 40 ปี จากการกดลิงค์เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น
แน่นอนว่าการหลีกเลี่ยงมิจฉาชีพนั้นคงทำได้ยาก แม้ปัจจุบัน หลายหน่วยงานได้ผนึกกำลังเพื่อแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็น ธปท. กสทช. สมาคมธนาคารไทย และตำรวจไซเบอร์ แต่การป้องกันภัยทางการเงินที่มีประสิทธิภาพที่สุดคงไม่พ้นตัวเราที่ต้องรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยม และฉุกคิดซักนิดก่อนจะกดโอน
คาถาหนึ่งที่จะช่วยป้องกันเราจากมิจฉาชีพได้คือ “เช็กให้ชัวร์” ทุกครั้งที่ได้รับการติดต่อขอข้อมูลส่วนตัว มีกิจธุระให้เราต้องโอนเงิน ก็ขอให้ตั้งสติแล้วท่องคาถา “เช็กให้ชัวร์” ลองตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อน ลองโทรศัพท์กลับไปยังหน่วยงานหรือบริษัทที่ถูกนำมากล่าวอ้างเพื่อตรวจสอบว่ามีการให้เจ้าหน้าที่ติดต่อมาจริง หรือตรวจสอบชื่อหน่วยงานที่ติดต่อมาว่าได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากยังไม่มั่นใจ อย่าโอนเงิน อย่าเปิดเผยข้อมูล อย่ากดลิงค์ อย่าลงทุน หรือดำเนินการใด ๆ โดยเด็ดขาด และที่สำคัญต้องเปิดหู เปิดตา และเปิดใจ รับฟังข่าวสารและคำเตือนจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงอยากให้ช่วยบอกต่อเพื่อน เตือนครอบครัว และคนรอบข้างให้ระวังภัยใกล้ตัวนี้ด้วย
การสละเวลาเพื่อตรวจสอบข้อมูลก่อนลงมือทำอะไร สามารถเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ได้มากกว่าที่คิด เวลาที่เล็กน้อยเสียไปกับการตรวจสอบอาจหยุดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราและครอบครัวได้ สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสู้ภัยทางการเงิน อย่าลืมท่องคาถา “เช็กให้ชัวร์” เป็นหูเป็นตาให้กันในสังคม และหากพบเห็นเบาะแสที่จะเป็นภัยต่อตนเองและผู้อื่นก็โทรศัพท์แจ้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร. 1213 นอกจากนี้ ยังตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ลงทะเบียนถูกต้อง รวมถึงธุรกิจเงินตราต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตได้ในเว็บไซต์ของแบงก์ชาติ www.bot.or.th
หากพลาดโอนเงิน เปิดเผยข้อมูล หรือกดลิงค์จากมิจฉาชีพไปแล้ว ควรรีบแจ้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com
ชีวิตที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ย่อมจะสะดวก สบาย และประหยัดขึ้น อย่าให้มิจฉาชีพมาทำให้เรากลัวการอยู่กับเทคโนโลยีเลยนะคะ เช็กให้ชัวร์ เริ่มจากตัวเรา เพื่อให้สังคมไร้เงินสดของไทยปลอดภัยสำหรับทุก ๆ คน แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไปค่ะ
ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
คอลัมน์ “แบงก์ชาติชวนคุย” นสพ.ประชาชาติ
ฉบับวันที่ 18 มกราคม 2566