ภารกิจนานาชาติกับการช่วยโลกรับมือ Climate Change
“We are the first generation to feel the impact of climate change and the last generation that can do something about it.”
Barack Obama
สวัสดีค่ะ แบงก์ชาติชวนคุยคราวนี้ ขอเปิดคอลัมน์ด้วยประโยคปลุกใจให้ชาวโลกเห็นถึงบทบาทของตนในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ที่กล่าวไว้ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21 (COP21) ที่กรุงปารีส เมื่อปี 2558 ที่ได้กำหนดเป้าหมายว่าจะรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส จากอุณหภูมิโลกในช่วงยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือหากเป็นไปได้ก็จะพยายามไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ที่ผ่านมา หลายประเทศได้เริ่มปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ด้วยการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความเสี่ยงและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านนโยบายหรือวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างการกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนขั้นต่ำของสหรัฐฯ การเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกของสวีเดน การออกตราสารหนี้สีเขียวเพื่อระดมทุนสำหรับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศในยุโรป การให้เงินอุดหนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของนอร์เวย์และจีน การก่อตั้งธนาคารเพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กับโครงการและผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานสีเขียวของอังกฤษ และการก่อตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในจีน
สำหรับประเทศที่เตรียมการช้าจนปรับตัวไม่ทัน อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้มงวดใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้สนับสนุนกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนต่ำและกีดกันกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง อาทิ สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างการเตรียมออกใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้ภายในปี 2566-2567 และทำให้สินค้าที่จะนำเข้าไปในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในกระบวนการผลิต ซึ่งมาตรการนี้อาจกระทบสินค้าส่งออกจากไทยไปยุโรปที่มีมูลค่าสูงถึง 28,573 ล้านบาท[1]
ประเทศไทยได้ยืนยันเข้าร่วม “ความตกลงปารีส” ในปี 2559 ซึ่งในการผลักดันการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นนั้นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายนั้น ทุกภาคส่วนต้องปรับกระบวนการทำงาน โดยเฉพาะภาคการผลิต มีการเพิ่มกลไกสร้างความโปร่งใส รวมไปถึงภาคการเงินก็ต้องพร้อมให้การสนับสนุนผู้ที่ต้องการร่วมเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
เราได้เห็นภาคการเงินในหลายประเทศเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจผนวกเอาการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงาน โดยหนึ่งในเครื่องมือที่จะเป็นสารตั้งต้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ คือ “Taxonomy” ซึ่งในบริบทของภาคการเงิน จะเป็นการกำหนดมาตรฐานกลางในการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจว่ามี “ความเขียว” มากน้อยแค่ไหน
Taxonomy ได้รับการพัฒนาและนำมาใช้ในสหภาพยุโรปเป็นกลุ่มแรก ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ อย่าง อินเดีย แคนาดา จีน สิงคโปร์ รวมทั้งไทยก็อยู่ระหว่างการจัดทำ Taxonomy ที่เหมาะกับโครงสร้างเศรษฐกิจและบริบทของประเทศ แต่ก็ต้องให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกกำลังใช้อยู่ด้วย
สำหรับไทย แบ่งกลุ่ม Taxonomy เป็น 3 สี 3 ระดับ โดยกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยลดปัญหา climate change จะเป็นสีเขียว กิจกรรมที่อยู่ระหว่างปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นสีเหลือง และกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและต้องปรับตัวหรือทยอยลดลง จะเป็นสีแดง
เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ทั้งระบบนิเวศ แบงก์ชาติจะมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้อย่างไร? ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน แบงก์ชาติจะช่วยเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ นอกจากจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ Taxonomy แล้ว ยังผลักดันให้สถาบันการเงินนำ Taxonomy มาใช้ โดยเริ่มจากการวางแผนกำหนดการดำเนินงานสำหรับตัวเองและการจัดพอร์ตสินเชื่อของลูกค้า และควรจัดสรรทรัพยากรเงินทุนไปในทิศทางใด รวมถึงจะมีแรงจูงใจอะไรให้ในกิจกรรมแต่ละสี ตัวอย่างเช่น สินเชื่อสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่ในกลุ่มสีเขียวอาจได้รับการเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่ากลุ่มสีเหลือง ขณะที่กลุ่มสีแดงจะไม่ได้ลดอัตราดอกเบี้ย หรือได้สินเชื่อเดิมจนกว่าสถาบันการเงินจะยุติการให้สินเชื่อ
นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังจะเร่งผลักดันให้สถาบันการเงินนำแนวทางดังกล่าวไปออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รวมถึงเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือกลุ่ม SMEs เพื่อให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการเงิน และร่วมกันสร้างเศรษฐกิจสีเขียวให้เกิดขึ้นจริง ในอนาคตอันใกล้ เราหวังว่าจะมีการนำ Taxonomy ไปปรับใช้กับโครงการภาครัฐเพิ่มเติม ด้วย
นี่คือภารกิจของทีมที่ชื่อว่า “โลก” หากมีเพียงบางคนที่ช่วยกันแก้ปัญหา แต่บางคนไม่ทำ งานชิ้นนี้จะไม่มีทางสำเร็จ อย่าลืมนะคะว่า พวกเราคือคนรุ่นสุดท้ายที่สามารถทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหา climate change ได้ เริ่มจากตัวคุณ ธุรกิจของคุณ ขยายออกไปสู่ประเทศและโลกของเรา มาร่วมกันเปลี่ยนแปลงโลกนี้กันค่ะ
แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป บนโลกที่เราต้องช่วยกันรักษาอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสนะคะ
[1] ข้อมูลจากบทความ “ทำความรู้จัก CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism)” โดย SET
ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
คอลัมน์ “แบงก์ชาติชวนคุย” นสพ.ประชาชาติ
ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน 2566