Open Banking Data
อีกขั้นของบริการทางการเงินที่สะดวก ตรงใจประชาชน

The Power of Data เมื่อข้อมูลคือพลังของประชาชน

 

ในโลกยุคดิจิทัล ข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่บนอินเตอร์เน็ต เปรียบเสมือน “ขุมทรัพย์” ที่ประเมินค่าไม่ได้

 

ในภาคการเงินก็เช่นกัน เพราะบริการต่าง ๆ เปลี่ยนโฉมไปมาก คนไทยหลายกลุ่มเริ่มคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า การผ่อนชำระหนี้ การลงทุน หรือการจ่ายค่าสาธารณูปโภค และยังมีข้อมูลธุรกรรมทางการเงินในอีกหลายมิติ ที่จะเป็น “พลัง” ของเจ้าของข้อมูล เพราะจะช่วยสะท้อนพฤติกรรม จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยง ในการเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยเฉพาะการขอสินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้ตรงกับความต้องการอย่างเต็มที่

data

เรามองว่า “ข้อมูลเป็นของประชาชน” และประชาชนมีสิทธิที่จะให้ข้อมูลของตนเองกับผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในระยะต่อไป แบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีเป้าหมายที่จะผลักดัน “การใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ (Open Banking Data for Consumer Empowerment)” ให้เกิดขึ้นภายในปี 2568 เพื่อช่วยยกระดับบริการต่าง ๆ ในภาคการเงินให้ดียิ่งขึ้น และเพื่อให้เห็นภาพ เราลองมาดูตัวอย่างความลำบากเกี่ยวกับข้อมูลทางการเงินที่หลายคนต้องเจอในปัจจุบันกัน

 

1. การรับส่งและตรวจสอบเอกสารที่ยุ่งยาก

 

“ขั้นตอนเกี่ยวกับเอกสารอาจเป็นด่านหินด่านแรกที่ทำให้หลายคนถอดใจไม่ไปต่อในการขอสินเชื่อ ไหนจะต้องกรอกแบบฟอร์ม ไหนจะต้องทำสำเนา แล้วยังต้องรับรองเอกสารและไปยืนยันตัวตนที่ธนาคารอีก ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการขอสินเชื่อจากผู้ให้บริการหลายรายในคราวเดียวกัน

 

แต่ต่อไปด้วยกลไก Open Banking Data ผู้ขอกู้สามารถยินยอมให้ข้อมูลจากที่ต่าง ๆ ถูกส่งไปให้สถาบันการเงินเพื่อรวบรวมและใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อได้ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนรับส่งและตรวจสอบเอกสาร ให้สะดวก รวดเร็ว และไม่ซ้ำซ้อน เหมือนทุกวันนี้ และจะช่วยให้การเปรียบเทียบข้อเสนอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหลายรายพร้อมกันทำได้ง่ายขึ้น สถาบันการเงินเองก็สามารถลดขั้นตอน เวลา และค่าใช้จ่ายในการจัดการและประมวลผลข้อมูล เพราะข้อมูลจะอยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้ และมีการรับรองความถูกต้องจากต้นทางมาแล้ว

 

 

 

 

2. กลุ้มใจขอสินเชื่อทีไรก็ผ่านยาก

 

สำหรับคนที่ทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ รวมทั้งแม่ค้าออนไลน์ อาจไม่มีประวัติการเงิน ไม่มีรายได้ประจำหรือสลิปเงินเดือน การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินจึงอาจเป็นเรื่องยาก หรือได้รับวงเงินกู้น้อย เพราะสถาบันการเงินไม่มั่นใจว่า ผู้ขอกู้รายนี้จะผ่อนชำระเป็นประจำได้จนจบหรือไม่ ซึ่งในอนาคต กลุ่มนี้จะสามารถใช้ข้อมูลอื่นที่น่าเชื่อถือ  เช่น การยื่นภาษี เงินสมทบประกันสังคม ประวัติการใช้บริการทางการเงินกับผู้ให้บริการรายอื่น ประวัติการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่างวดต่าง ๆ เพื่อมาใช้ขอสินเชื่อได้ ซึ่งข้อมูลทางเลือกเหล่านี้จะช่วยให้สถาบันการเงินรู้จักตัวตนของผู้ขอกู้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงสถานะทางการเงิน แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมและวินัยทางการเงิน และอาจทำให้สบายใจที่จะปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

 

3. จะมีไหมบริการที่ใช่สำหรับฉัน

 

สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่รายได้ไม่แน่นอน นอกจากปัญหาเรื่องขอสินเชื่อยากแล้ว ยังต้องเจอกับปัญหาสินเชื่อที่มีเงื่อนไขการชำระ อัตราดอกเบี้ย และการค้ำประกัน ที่ไม่เหมาะกับลักษณะรายรับและรายจ่ายในชีวิตประจำวันด้วย

 

คนกลุ่มนี้ที่ “รออยู่ว่าเมื่อไหร่จะมีสินเชื่อที่เหมาะกับตัวเอง” ต่อไปจะสามารถใช้ข้อมูลอื่น ๆ เช่น การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านอีคอมเมิร์ซ ปริมาณการใช้ไฟฟ้า การถือครองสินทรัพย์ อย่างที่ดิน รถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ ในการขอสินเชื่อได้ ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินเข้าใจลักษณะของธุรกิจ รวมถึงแพทเทิร์นรายได้และค่าใช้จ่ายของผู้กู้ที่ชัดเจนขึ้น และนำไปออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับความเสี่ยงและความสามารถในการชำระหนี้ได้

 

นอกจากนี้ สำหรับ “คนที่ไม่รู้จะวางแผนทางการเงินของตัวเองอย่างไร” เพราะมีรายได้จากหลายแหล่ง และมีค่าใช้จ่ายหลายประเภท หรือมีเจ้าหนี้หลายราย อีกหน่อยเมื่อมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการ ก็จะกระตุ้นให้เกิดบริการใหม่ ๆ ที่สามารถช่วยวางแผนและบริหารเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่ซับซ้อนนี้ได้ เช่น การรวบรวมข้อมูลทรัพย์สินและหนี้สิน การวิเคราะห์ข้อมูลและวางแผนทางการเงิน เช่น การลงทุน
การออม การขอสินเชื่อ ตลอดจนการให้คำแนะนำการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งยังจะเป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการรายย่อยด้วย

 

ทั้งหมดนี้ เราได้เห็นตัวอย่างจากหลายประเทศที่แสดงให้เห็นถึงผลดีของ open banking data โดยเฉพาะการแข่งขันกันของผู้ให้บริการเพื่อพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ เช่น การคำนวณคะแนนเครดิต (credit scoring) เพื่อใช้ขอสินเชื่อในอังกฤษและเกาหลีใต้ และการพัฒนามาตรฐานและโครงสร้างพื้นฐานกลางเพื่อรองรับการเชื่อมต่อข้อมูลและบริการทางดิจิทัลต่าง ๆ  อย่างเช่น แอปพลิเคชันที่ใช้เชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลที่เรียกว่า SingPass ของสิงคโปร์  และแพลตฟอร์มที่ใช้ยืนยันตัวตนที่ชื่อว่า Aadhaar ของอินเดีย

 

ในช่วงเริ่มต้นนี้ แบงก์ชาติจึงมุ่งไปที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการในภาคสถาบันการเงินก่อน เพราะมีข้อมูลที่จะต่อยอดบริการใหม่ ๆ อยู่จำนวนมาก และมีความพร้อมกว่า และค่อยทยอยเชื่อมโยงไปยังภาคส่วนอื่น ๆ โดยจะร่วมกับผู้เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยและการใช้ข้อมูลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ การคิดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม การใช้โครงสร้างพื้นฐานและระบบที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงแนวทางกำกับดูแล เพื่อให้มั่นใจว่า กฎ กติกา มาตรฐาน และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ มีความเหมาะสมและสามารถผลักดันให้ “ข้อมูล” กลายเป็น “พลัง” ในการเดินเครื่องนวัตกรรมทางการเงินในบ้านเราได้อย่างแท้จริง

 

แล้วพบกันใหม่ค่ะ

inflation

ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์


คอลัมน์
แบงก์ชาติชวนคุย ประชาชาติธุรกิจ 
        ฉบับวันที่ 23 มีนาคม 2567

Tag ที่เกี่ยวข้อง

นวัตกรรมภาคการเงิน การเงินเพื่อความยั่งยืน