หนี้นอกระบบ-อยากจะกู้ ต้องรู้ทันหนี้
สวัสดีผู้อ่านทุกท่านค่ะ เชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านอาจเคยเป็นหนี้หรือกำลังเป็นหนี้อยู่ ถ้ามีคนไทยเดินมา 3 คน อย่างน้อย 1 ใน 3 คนนี้จะมีหนี้ และกว่าครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้มีหนี้มากกว่า 1 แสนบาท[1] โดยข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)[2] ชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2563 หนี้ครัวเรือนของไทยมีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงกว่า 80% มาต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีสัดส่วนถึง 87% เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด 19 ถึง 7% สะท้อนว่ารายได้ทั้งหมดของประเทศ จะเหลือสำหรับใช้จ่ายน้อยลง เพราะต้องรับภาระหนี้สูงขึ้น และอาจกระทบกับความมั่นคงทางการเงินของครัวเรือนไทยจำนวนมาก แต่ตัวเลขหนี้ที่เราพูดถึงกันอยู่ เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำมาเท่านั้น สิ่งที่อยู่ใต้ผิวน้ำขนาดจะใหญ่กว่าหลายเท่า เพราะส่วนใหญ่จะเป็น “หนี้นอกระบบ” ที่อยากชวนคุยวันนี้ค่ะ.
ขึ้นชื่อว่า “หนี้นอกระบบ” หลายคนคงนึกถึงแก๊งทวงหนี้สุดโหดที่เคยเห็นจากในหนัง แต่ที่จริง
หนี้นอกระบบ ก็คือ การกู้ยืมเงินที่ไม่ผ่านระบบสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินกู้ตามกฎหมาย จึงไม่อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานภาครัฐใด ๆ ดังนั้น แค่ขอยืมเงินจากเพื่อน ก็นับเป็นหนี้นอกระบบแล้ว ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ ทำให้ยากที่จะเห็นข้อมูลหนี้นอกระบบ เช่น ผู้ให้กู้เป็นใคร มีจำนวนมากแค่ไหน และแหล่งของเงินที่ให้กู้มาจากที่ใด (ขาว หรือ เทา ๆ) จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยอึ๊งภากรณ์ ในปี 2565[1] พบว่า มากกว่า 40% ของครัวเรือนที่ไปสำรวจ มีหนี้นอกระบบ โดยส่วนใหญ่กู้จากนายทุนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดที่สำรวจ
กลุ่มเป้าหมายของเจ้าหนี้นอกระบบคือใครบ้าง? แล้วทำไมจึงได้รับความนิยม?
คนคิดโฆษณาการให้กู้หนี้นอกระบบ มักใช้คำได้ตรงใจกลุ่มลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น “เงินด่วน” “ได้เงินไว” “ไม่ตรวจประวัติ” “ไม่ต้องยื่นเอกสาร” ซึ่งคีย์เวิร์ดเหล่านี้ตอบโจทย์ผู้กู้กลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องการใช้เงินเร่งด่วน เช่น ค่ารักษาพยาบาล นำไปลงทุนประกอบอาชีพ ต้องการเงินไม่มากเพื่อนำไปหมุนช่วงสั้น ๆ จึงไม่อยากเสียเวลาเตรียมเอกสาร กลุ่มที่มีข้อจำกัดในการกู้เงินจากผู้ให้บริการ
ในระบบ เช่น ไม่มีงานประจำ จึงทำให้ไม่มีข้อมูลประวัติทางการเงินอย่างกลุ่มฟรีแลนซ์และพ่อค้าแม่ค้า หรือเคยเป็นหนี้เสียมาก่อน รวมถึงกลุ่มที่กู้ในระบบจนเต็มวงเงินแล้ว ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ หลายครั้งก็มีความจำเป็นจริง ๆ แต่อยากให้ลองมาดูความเสี่ยงที่มักเห็นกันสำหรับการกู้หนี้นอกระบบ เพื่อให้บริหารจัดการได้ดีขึ้น หากต้องกลายเป็นลูกหนี้นอกระบบขึ้นมา
ดอกเบี้ยแอบแฝง โฆษณาชักชวนอาจบอกว่าดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นดอกเบี้ยแบบคงที่ “รายวัน” ซึ่งคิดแล้วจะเท่ากับ 365% ต่อปี สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบที่เพดานอยู่ไม่เกิน 28% ต่อปี แถมในระบบส่วนใหญ่ยังเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกด้วย หากเจอดอกเบี้ยแอบแฝงแบบนี้ ลูกหนี้อาจจ่ายได้แค่ดอกเบี้ย ขณะที่เงินต้นไม่ลดลงเลย เพราะดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจริงในแต่ละปีสูงมากกว่าเงินต้นด้วยซ้ำ แถมบางแห่งยังคิดดอกเบี้ยแบบ “ดอกลอย” ที่แสนอันตรายและยิ่งซ้ำเติมลูกหนี้มากขึ้นไปอีก เพราะการกู้แบบนี้ลูกหนี้จะปิดหนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีเงินต้นมาจ่ายคืนทั้งจำนวนในครั้งเดียวซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ยาก
ทำให้ต้องจ่ายแต่ดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ
สัญญาที่ไม่ชัดเจนและอาจไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล การเจรจาต่อรองเพื่อประนีประนอมก็ทำได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกทวงหนี้โหด ข่มขู่ หรือถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งแม้ลูกหนี้จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 แต่เราคงไม่อยากพบการทวงถามหนี้ที่รุนแรงเช่นนั้น
ติดกับดักหนี้ไม่จบสิ้นจากการกู้หนี้มาโปะหนี้ เมื่อดอกเบี้ยสูงและสัญญาไม่เป็นธรรม ลูกหนี้หลายรายที่จ่ายไม่ไหวจนเกิดการผิดนัดชำระหนี้ จึงใช้วิธีกู้หนี้ใหม่จากเจ้าหนี้อีกรายเพื่อเอาไปจ่ายหนี้เดิม วนไปแบบนี้จนทำให้หนี้สินล้นพ้นตัว และติดอยู่ในวงจรของหนี้นอกระบบแบบหาทางออกไม่ได้
ถ้าจำเป็นต้องกู้หนี้นอกระบบจริง ๆ ควรทำอย่างไร?
อย่างแรก คือ หากู้จากคนรู้จักก่อน เช่น เพื่อน ญาติ ที่พร้อม เพื่อให้เจรจาง่ายขึ้น สอง คือ เทียบดอกเบี้ยระหว่างเจ้าหนี้แต่ละรายให้ได้ต่ำที่สุด สาม คือ กู้ในจำนวนเงินที่จำเป็นต้องใช้จริง ๆ เท่านั้น ให้นึกอยู่เสมอว่าหนี้นอกระบบแพงมาก และเมื่อกู้แล้ว ควร “ปิดหนี้ให้ไวที่สุด” ก่อนอื่นเอาหนี้ทุกก้อนมาดู หนี้ก้อนไหนใกล้หมดแล้ว ปิดจบก้อนนั้นก่อนเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ก้อนไหนดอกเบี้ยสูง ลองหาทางที่จะลดดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเจรจากับเจ้าหนี้หรือกู้เงินจากแหล่งที่ดอกเบี้ยต่ำกว่ามาปิดหนี้ ถ้ากู้จากสถาบันการเงินได้ จะได้สัญญาที่เป็นธรรมขึ้นด้วย ซึ่งสถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มให้บริการนี้ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ ผู้สนใจ ลองโทรมาสอบถามที่ ธปท. โทร. 1213 หรือหากต้องการขอคำปรึกษาหรือร้องเรียนเรื่องหนี้นอกระบบก็สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (กระทรวงการคลัง) โทร. 1359 หรือศูนย์ดำรงธรรม (กระทรวงมหาดไทย) โทร. 1567 ค่ะ
ที่สำคัญ ต้องพยายามลดรายจ่าย หารายได้เพิ่มเติม หรือตัดใจขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้และไม่ต้องกลับไปกู้ใหม่ เพื่อให้เราหลุดจากวงจรหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน สุดท้าย “วินัยทางการเงิน” เป็นหัวใจสำคัญ ต้องวางแผนการใช้จ่าย และออมเงินไว้เพื่อให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เพราะ สมการการเงินที่ถูกต้อง คือ รายได้ – เงินออม = รายจ่าย การมี “อิสรภาพทางการเงิน” จึงไม่ได้แปลว่าต้องรวยล้นฟ้า แต่มีอิสระที่จะใช้จ่ายเงินที่เราหามา เก็บออม ลงทุน โดยไม่ต้องมีพันธนาการจากหนี้สินใด ๆ การไม่มีหนี้ ก็นับเป็นลาภอันประเสริฐเช่นกันค่ะ
[1] ข้อมูลเมื่อเดือนมีนาคม 2565 โดยเครดิตบูโร คำนวณโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2565)
[2] ข้อมูลการให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของสถาบันการเงิน โดย ธปท.
[3] โดยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจาก 4,800 ครัวเรือน ในพื้นที่ 12 จังหวัด
ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
คอลัมน์ “แบงก์ชาติชวนคุย” นสพ.ประชาชาติ
ฉบับวันที่ 20 พฤษภาคม 2566