เก็บตกความประทับใจจากการประชุมใหญ่
หลังแผ่นดินไหวในโมร็อกโก

    สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน ฉบับที่แล้วเราคุยกันถึงภาพสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจากการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่โมร็อกโกกันไปแล้ว ฉบับนี้มาทำตามสัญญาที่ให้ไว้ท้ายเรื่อง คือ เล่าเรื่องการเตรียมงานประชุมที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้ของโมร็อคโกค่ะ

IMF meeting

    กว่า 8 เดือนก่อนการประชุมฯ ผู้จัดงานทยอยเนรมิตพื้นที่โล่งในทะเลทรายให้กลายเป็นสถานที่จัดประชุมที่สะท้อนวัฒนธรรมโมร็อกโกผ่านสถาปัตยกรรมและลวดลายอันวิจิตรสวยงามของโมเสครูปแบบต่าง ๆ การเล่นแสงเงา และลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมเตรียมเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับการประชุมไว้ครบครัน โดยไม่มีใครคาดคิดว่า ในวันที่ 8 กันยายน ก่อนวันสำคัญเพียงไม่ถึง 2 เดือน เวลาประมาณ 23.11 น. ตามเวลาท้องถิ่น จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มีความรุนแรงขนาด 6.8 ซึ่งนับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี ของโมร็อกโก คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 2,800 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,400 คน เกิดความวุ่นวายและความสูญเสียหลังแผ่นดินไหวที่สะเทือนใจคนไปทั่วโลก

 

ทั้งนี้ การเตรียมแผนฉุกเฉิน (BCP) หากมีเหตุไม่คาดฝัน ถือเป็นอีกภารกิจสำคัญในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ซึ่งโมร็อกโกได้จัดทำแผนฉุกเฉินแล้วเสร็จเพียงไม่กี่เดือนก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้เจ้าภาพต้องงัดแผนที่ไม่อยากใช้ที่สุดขึ้นมา เพื่อผลักดันให้งานนี้เกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น โดยหลังแผ่นดินไหวสงบลง คณะผู้จัดงานร่วมกับรัฐบาลโมร็อกโกได้เร่งลงสำรวจพื้นที่ พบว่าความเสียหายส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เทือกเขาไฮแอตลาส ซึ่งไม่ไกลจากเมืองมาราเกซที่เป็นสถานที่จัดประชุมมากนัก แต่จากการตรวจสอบเชิงโครงสร้างโดยละเอียด ทั้งการประเมินความปลอดภัยของโรงแรมที่ผู้ร่วมงานจะมาพัก ตลอดจนสถานที่จัดประชุม พบว่าสถานที่จัดการประชุมไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ทั้งเชิงโครงสร้าง และเส้นทางการเดินทาง และอีกทั้งมีความพร้อมด้านบริการทางการเเพทย์ คณะทำงานจึงเห็นว่าสามารถจัดการประชุมได้ โดยจะไม่ได้กระทบกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

 

ในช่วงนั้น สิ่งที่ผุดขึ้นในใจของหลายคน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางไปร่วมประชุมในช่วงเดือนตุลาคมอย่างดิฉัน ก็คือ “ความสงสัย” ว่าจะต้องเลื่อน เปลี่ยนแปลง หรือถึงขั้นยกเลิกงานที่เตรียมการมาหลายปีหรือไม่ ขณะเดียวกัน สื่อบางสำนักก็ยังเสนอข่าวที่สร้างความกังวลใจให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่จะเดินทางมาร่วมงาน ดังนั้น เพื่อดึงความมั่นใจให้กลับคืนมา ผู้จัดงานจึงได้สื่อสารผ่านทั้งจดหมายและการเผยแพร่ข่าว ยืนยันว่ามีการส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจพื้นที่จัดงานเรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้น ยังให้ข้อมูลว่า การเดินหน้าจัดงานต่อ จะช่วยสนับสนุนและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เนื่องจากเม็ดเงินที่ใช้ลงทุนด้านสถานที่ และการจ้างงานเพื่อจัดการประชุมหมดไปแล้วจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ดี มีการลดขนาด หรืองาน event บางอย่างที่ไม่จำเป็น เพื่อให้การจัดงานในสถานการณ์ช่วงนั้นออกมามีความสมบูรณ์มากที่สุด

 

ต้องใช้คำพูดที่ว่า “the show must go on” และด้วย spirit ของชาวโมร็อกโก เราแทบไม่รู้สึกถึงความยากลำบากที่เพิ่งผ่านพ้นไป แม้จะต้องลดงาน event ลงบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเราประทับใจน้อยลงเลย ตั้งแต่ความเข้มข้นของเนื้อหาการประชุม จนถึงศิลปวัฒนธรรมที่เป็น soft power ที่สอดแทรกผ่านในทุกรายละเอียดของงาน โดยในส่วน Morocco Pavilion มีการจัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาของโมร็อกโก ที่พบสัญญาณแรกของมนุษยชาติ และการปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่มีมาอย่างยาวนานเช่นเดียวกับไทย ไปจนถึงการนำเสนอจุดเด่นอย่างทีมชาติโมร็อกโกที่เข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลกในปี 2565 ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในประเทศเป็นอย่างมาก

IMF meeting

  ในงานนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้สัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น ตั้งแต่สิ่งเล็ก ๆ ที่เป็นเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน อย่างการชงชามินท์ ชาประจำถิ่นที่มักใช้รับรองแขกผู้มาเยือนหรือใช้ในงานพิธีสำคัญ ด้วยกรรมวิธีที่สะท้อนวิถีชีวิตที่ละเมียดละไม ตั้งแต่การต้มน้ำ ใส่ใบชาเขียวแช่ไว้ก่อนจะเทชาผ่านใบมิ้นท์ที่อยู่ในแก้ว เติมน้ำตาลได้ตามความชอบ ทำให้มีกลิ่นหอมละมุน ดื่มแล้วสดชื่น จึงเป็นจุดที่ผู้เข้าร่วมงานประชุมแวะไปพักดื่มชาไม่ขาดสาย

 

อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เป็นเคล็ดลับผิวสวยของสาว ๆ ในดินแดนแห้งแล้งอย่างโมร็อกโก ก็คือ น้ำมันอาร์แกน โดยน้ำมันอาร์แกนจากโมร็อกโกขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก และมีราคาถูกกว่าที่อื่นมาก พวกเรา (โดยเฉพาะสาว ๆ) อาจคุ้นเคยกับน้ำมันอาร์แกนที่ผสมในเครื่องสำอาง แต่ก็ได้มาทราบกันในงานนี้ว่า คนโมร็อกโกนิยมนำน้ำมันอาร์แกนมาประกอบอาหาร หรือนำเมล็ดอาร์แกนบดกับอัลมอนด์มาทาบนขนมปังเป็นมื้อเช้าที่ทั้งหอมอร่อยแล้วยังมีประโยชน์สุด ๆ

 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของโมร็อคโค เช่น เครื่องหนัง และสิ่งทอ งานประณีตทำด้วยมือ ซึ่งเป็นสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะพบได้ทั่วไปในตลาดเมืองมาราเกซ ทั้งรองเท้า กระเป๋า และหมวก ก็มีให้นักท่องเที่ยวได้จับจ่ายกลับไปเป็นที่ระลึก

 

แม้งานประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟที่โมร็อกโกจะจบไปแล้ว แต่ความประทับใจสำหรับผู้เข้าร่วมงานยังไม่จางหาย อีกไม่ถึง 3 ปี ประเทศไทยจะได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพงานประชุมนี้เช่นกัน เมื่อถึงเวลานั้นก็หวังว่าพวกเราจะสร้างความประทับใจได้ไม่แพ้โมร็อกโกนะคะ

 

แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไปค่ะ

IMF meeting
IMF meeting
IMF meeting

ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
คอลัมน์ “แบงก์ชาติชวนคุย” นสพ.ประชาชาติ
ฉบับวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566

Tag ที่เกี่ยวข้อง

ความร่วมมือระหว่างประเทศ