แบงก์ชาติกับภารกิจ พาคนไทยหนีจากกับดักหนี้อย่างยั่งยืน

สวัสดีค่ะ ช่วงนี้เราคงได้ยินหลายฝ่ายแสดงความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนของไทยกันอยู่เนือง ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องดูกันอย่างใกล้ชิดจริง ๆ เพราะจากข้อมูล พบว่าคนไทยที่มีงานทำมีอยู่ประมาณ 40.69 ล้านคน ขณะที่เรามีหนี้ครัวเรือนในระบบอยู่ถึง 16 ล้านล้านบาท


ถ้าเราลองหารหนี้ก้อนนี้ด้วยจำนวนคนที่มีงานทำแล้วคงต้องปาดเหงื่อค่ะ เพราะคิดเป็นหนี้เฉลี่ยเกือบ 4 แสนบาทต่อคน แม้ในความเป็นจริงแล้ว บางคนไม่ได้มีหนี้ บางคนมีหนี้ท่วมขณะที่รายได้ก็ยังน้อย แต่ไม่ว่าท่านอยู่ในสถานะใด ด้วยสถิติหนี้ครัวเรือนของประเทศปัจจุบันที่สูงถึง 90% ต่อจีดีพี ย่อมจะกังวลและต้องเร่งช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้หนี้ครัวเรือนกลายมาเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมทาง

เศรษฐกิจ


หลายปีแล้ว ที่หนี้ครัวเรือนไทยสูงเกินระดับ 80% ของจีดีพี ซึ่งการศึกษาของ Bank for International Settlement (BIS) บอกว่า ถ้าเกินระดับนี้ไปนาน ๆ อาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพของระบบการเงินได้ ซึ่งนอกจากเป็นเพราะสถานการณ์โควิดแล้ว ถ้าดูพฤติกรรมการเป็นหนี้ของคนไทยจากข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า คนไทยเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุน้อย เป็นหนี้เยอะและเป็นหนี้นาน เกษียณแล้วก็ยังมีหนี้

 

แถมหนี้เกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมดยังอยู่ในหมวดการกู้เพื่อใช้ซื้อของกินของใช้ ซึ่งถือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือความมั่นคงในอนาคต และอีกประเด็นที่น่ากังวลไม่แพ้กัน คือ จากการสำรวจครัวเรือนทั่วประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือในการแก้หนี้กว่า 4,600 ครัวเรือน พบว่า เกือบครึ่ง (42%) มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยถึงคนละ 54,300 บาทด้วย

virtual bank

เราพบว่าปัญหาหนี้บางส่วนเริ่มตั้งแต่การก่อ “หนี้ใหม่” ที่เกินจำเป็น อาจเพราะลูกหนี้ไม่ได้ข้อมูลที่จะช่วยให้นึกถึงความเสี่ยง ต้นทุนที่แท้จริง ตลอดจนภาระที่ต้องจ่าย ลูกหนี้บางรายก็ผ่อนชำระได้เพียงขั้นต่ำจนกลายเป็น “หนี้เรื้อรัง” ปิดจบหนี้ไม่ได้ ขณะที่ลูกหนี้ที่เริ่มผ่อนไม่ไหวอาจไม่ได้รับคำแนะนำหรือความช่วยเหลือจนลุกลามกลายเป็น “หนี้เสีย”

 

นอกจากนี้ กลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ก็จำเป็นต้องพึ่งพา “หนี้นอกระบบ” ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าและมีสัญญาไม่เป็นธรรม ซึ่งพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ว่ามานี้ล้วนเป็นสาเหตุทำให้คนไทยต้องติดอยู่ในวังวนของหนี้ไม่จบสิ้น

 

แบงก์ชาติติดตามและวิเคราะห์ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาต่อเนื่อง โดยได้ออกมาตรการหลากหลายที่เหมาะกับเศรษฐกิจและปัญหาในแต่ละช่วง จนล่าสุดเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ก็ได้ออกมาตรการที่จะช่วย “แก้หนี้ก่อนเสีย-ปิดจบหนี้เรื้อรัง-เพิ่มคุณภาพหนี้ใหม่-ดึงหนี้เข้ามาอยู่ในระบบ” โดยมาตรการที่จะเริ่มในปี 2567 ก่อน ได้แก่ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม หรือ responsible lending ซึ่งเป็นรากฐานการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนตลอดวัฏจักรของการเป็นหนี้ โดยก่อนเป็นหนี้

 

ผู้ให้บริการสินเชื่อจะต้องไม่โฆษณาหรือใช้วิธีการเสนอขายที่ไปกระตุ้นความอยากใช้เงินที่ไม่จำเป็น ประมาณที่พูดกันว่า “ของมันต้องมี” รวมถึงต้องให้ข้อมูลแก่ลูกค้าเกี่ยวกับการได้สินเชื่ออย่างครบถ้วนชัดเจน เช่น การคิดภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม หรือระยะเวลาการผ่อนชำระ

 

ส่วนระหว่างเป็นหนี้ ผู้ให้บริการสินเชื่อจะต้องแสดงรายละเอียดการกู้ยืม ควบคู่กับให้ข้อมูลทางเลือกที่จะช่วยลูกหนี้ประหยัด และต้องแจ้งเตือนหากเกิดกรณีที่จะทำให้ภาระหนี้หรือต้นทุนเพิ่มขึ้นได้

 

และเมื่อใดที่หนี้เริ่มมีปัญหา ผู้ให้บริการสินเชื่อจะต้องให้การช่วยเหลือที่เหมาะกับความสามารถในการชำระของลูกหนี้ สุดท้ายหากต้องมีการดำเนินคดีและขายหนี้ ก็ต้องมีการแจ้งสิทธิ ช่วยไกล่เกลี่ยหนี้ และกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้อย่างเป็นธรรมด้วย

 

ภายใต้การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ยังรวมถึงมาตรการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt) เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน เช่น บัตรกดเงินสด ที่ลูกหนี้ยังจ่ายชำระได้ตามปกติแต่เป็นการชำระขั้นต่ำ เช่น 3% ของเงินต้นทุกเดือน และเนื่องจากจ่ายน้อย ทำให้เงินที่จ่ายไปถูกเอาไปตัดดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น จนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาลูกหนี้กลุ่มนี้มียอดสะสมของการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นโดยไม่มีทีท่าว่าลูกหนี้จะปิดจบหนี้ได้เลย

 

ซึ่งมาตรการนี้ลูกหนี้ยังสามารถจ่ายคืนหนี้ได้ด้วยจำนวนเงินที่เท่า ๆ กับค่างวดที่จ่ายอยู่เดิม แต่เจ้าหนี้ต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงมาให้ไม่เกิน 15% ต่อปี เพื่อให้เงินที่ลูกหนี้จ่ายเข้ามาไปตัดชำระเงินต้นมากขึ้น และช่วยให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี

 

นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังอยู่ระหว่างศึกษาการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing) ถ้าลูกหนี้เสี่ยงน้อยและชำระสินเชื่อครบถ้วน ก็ควรกู้ใหม่ได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ขณะเดียวกัน กลุ่มเสี่ยงสูงก็มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น แม้ว่าอาจจะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เพดานในปัจจุบันไปบ้าง แต่จะช่วยให้ไม่ต้องไปกู้หนี้นอกระบบที่นอกจากจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าในระบบหลายเท่าตัวแล้ว ยังเสี่ยงที่จะถูกหลอกให้ทำสัญญาเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรมและถูกทวงหนี้โหดอีกด้วย

 

แบงก์ชาติจะเปิดให้ผู้ให้บริการมาทดสอบการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (nano finance) ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567

 

อีกมาตรการที่จะแก้ปัญหาได้ยั่งยืนขึ้นคือ การกำหนดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ของผู้กู้ (debt service ratio) เพื่อดูแลไม่ให้ประชาชนก่อหนี้เกินตัว เมื่อชำระหนี้แต่ละเดือนแล้วยังมีเงินพอใช้ ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพิ่มจนพอกพูนกลายเป็นหนี้อีกก้อน ถ้ามีความคืบหน้าในสองเรื่องนี้ จะมาเล่าให้ฟังอีกทีค่ะ

 

ก่อนจะจบ ขอฝากไว้อีกนิดว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้ผลอย่างแท้จริง ต้องทำให้ครอบคลุมทุกมิติและต้องร่วมกันหลายฝ่าย เพราะหนี้ครัวเรือนประมาณ 30% อยู่กับผู้ให้บริการนอกการกำกับของแบงก์ชาติ ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการปรับตัว แต่ต้องเริ่มให้เร็วที่สุดค่ะ เชื่อว่าเราทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องหรือสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ มาช่วยรณรงค์การ “ปลดหนี้เดิม-เพิ่มรายได้-สร้างวินัยทางการเงิน” เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้คนไทยกันเถอะค่ะ

ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
คอลัมน์ “แบงก์ชาติชวนคุย” นสพ.ประชาชาติ
ฉบับวันที่ 29 สิงหาคม 2566

 

 

 

Tag ที่เกี่ยวข้อง

จัดการหนี้ ช่วยเหลือลูกหนี้ แก้หนี้ยั่งยืน ความรู้ทางการเงิน