BOT Communication Hackathon
รู้เท่าทัน ภัยการเงิน

สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน จากเรื่องภัยการเงินที่มาเล่าสู่กันฟังไปเมื่อต้นปี และดิฉันได้ฝากคาถา “เช็กให้ชัวร์” ไว้ให้ผู้อ่านตั้งสติก่อนคลิก ฉุกคิดสักนิดก่อนโอน รู้ทันมิจฉาชีพ และไม่กลัวที่จะอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีการเงิน แต่ภายใต้สถานการณ์ที่มิจฉาชีพขยันปรับยุทธวิธีหลอกลวงอยู่ตลอดเวลานั้น ทำให้แบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามและจับตาใกล้ชิดเพื่อปรับแนวทางป้องกันและรับมือให้เท่าทันอยู่เสมอ

 

virtual bank

 

ที่ผ่านมา เราได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานออกมาตรการป้องกันความเสี่ยงและปิดช่องโหว่ภัยการเงิน ตั้งแต่การปิดช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชน เช่น การให้ธนาคารงดส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล์ และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น เลขบัตรประชาชน ผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงการตรวจจับและติดตามพฤติกรรมต้องสงสัยเพื่อปิดกั้น SMS หรือเบอร์ โทร.ที่แอบอ้างเป็นธนาคาร หรือเว็บไซต์หลอกลวง


ตลอดจนการยกระดับความปลอดภัยและกำหนดแนวทางจำกัดความเสียหายจากการใช้ mobile banking เช่น การจำกัดบัญชีผู้ใช้งานใน 1 อุปกรณ์ การสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนหากต้องการเปลี่ยนวงเงินหรือโอนเงินมูลค่าสูง รวมทั้งให้ธนาคารมีระบบตรวจจับและติดตามธุรกรรมผิดปกติตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อระงับธุรกรรมทันทีและจำกัดความเสียหายให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

 

สิ่งสำคัญที่จะทำให้มาตรการต่าง ๆ ของเราสำเร็จตามเป้าหมายก็คือ การสื่อสารข้อมูลข่าวสารไปถึงประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เราเคยได้รับ feedback จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ว่าสิ่งที่แบงก์ชาติสื่อสารออกไปยังเข้าใจได้ยาก จึงทำให้เราเกิดไอเดียว่ากลุ่มคนเหล่านี้แหละที่น่าจะมาช่วยพวกเราในการขยายการสื่อสารไปยังคนกลุ่มใหม่ ๆ หรือคนกลุ่มเดิมที่เรายังเจาะไปไม่ถึงได้ดีขึ้น เนื่องจากพวกเขาเป็น content creator ตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน-นักศึกษา หลายคนสร้างสรรค์ content ได้น่าสนใจจนมีผู้ติดตามจำนวนมาก แบงก์ชาติจึงจัดโครงการ “BOT Communication Hackathon” ขึ้น เพื่อรับฟังไอเดียจากคนรุ่นใหม่ โดยเปิดโอกาสให้น้อง ๆ มาประกวดแนวคิด รูปแบบ และวิธีการสื่อสารที่ “ปัง” ในหัวข้อ “รู้เท่าทันภัยการเงิน”โดยแบงก์ชาติจะนำผลงานของน้อง ๆ ที่เข้ารอบสุดท้าย ไปปรับใช้เพื่อขยายผลการป้องกันภัยการเงินให้ประชาชนต่อไป

 

โครงการได้รับเสียงตอบรับเกินความคาดหมาย โดยมีผู้สมัครเข้าแข่งขันถึง 625 คน จาก 205 ทีม ทั้งนักเรียน นักศึกษา และคนวัยทำงานที่อายุไม่เกิน 30 ปี ซึ่งผู้เข้ารอบทั้ง 10 ทีม ได้นำเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร ด้านดิจิทัล และด้านภัยการเงิน รวมถึงให้ผู้ชมทาง Facebook Live ได้ร่วมโหวต ในรอบชิงชนะเลิศเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

ถ้าท่านได้รับชม จะเห็นว่าทุกทีมได้ศึกษาข้อมูลและทำการบ้านมาเป็นอย่างดี มีความคิดสร้างสรรค์ ครอบคลุมผู้รับสารในหลายช่วงวัย โดยเราได้เห็นการออกแบบผลงานใน 3 กลุ่มหลัก 


กลุ่มแรก เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่โดนใจประชาชน ทั้งของใช้ประจำวัน (เช่น ยาดม จาน เสื้อ) ที่มีคำคมเด็ด ๆ สติ๊กเกอร์ไลน์ มีวอลเปเปอร์ ที่สอดแทรกความรู้และการเตือนภัยให้ประชาชนได้เห็นบ่อย ๆ จนซึมซับและช่วยกระตุกพฤติกรรมได้มากขึ้น

 

กลุ่มที่สอง เป็นการออกแบบสื่อและแนวทางประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับภัยการเงิน หรือการปฏิบัติตนเพื่อคุ้มกันภัยการเงิน เช่น คลิปสั้น เพลงภาษาท้องถิ่น ไปจนถึงการสร้างยุวทูตในโรงเรียนเพื่อออกไปให้ความรู้และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งหากขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ จะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

 

กลุ่มที่สาม คือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้ความรู้และเตือนภัยประชาชน เช่น การอบรมและแบบทดสอบออนไลน์ที่ไม่น่าเบื่อ รวมถึงการออกแบบโปรแกรม แอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนใน
การตรวจเช็กมิจฉาชีพหรือผู้ต้องสงสัยได้ง่ายและรวดเร็ว อย่างเช่น ทีม NudgeShield ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้ออกแบบแอปพลิเคชั่น BADEON (บะ-ดี-โอน) เพื่อตรวจเบอร์ โทร. ข้อความ และบัญชีธนาคารที่น่าสงสัย โดยใช้เทคนิคภาพ สี และเสียง ช่วยเตือนภัยผ่านหน้าจอมือถือแบบเข้าใจง่าย ซึ่งสามารถตอบโจทย์รูปแบบของภัยการเงินที่สำคัญในปัจจุบันได้ครบถ้วนแบบ one stop service เพราะมีทั้งการให้ความรู้ ควบคู่กับการป้องกัน

 

โครงการนี้แบงก์ชาติไม่ได้มองว่าเป็นเพียงการระดมสมองเพื่อช่วยเราสื่อสาร แต่ช่วยให้เราได้ทำความรู้จักกับคนรุ่นใหม่ที่มีพลังในการที่จะคิดให้ไกลและกล้าเสนอแนวทางที่สร้างสรรค์ เพื่อช่วยเหลือคนในสังคม เราหวังว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะนำความรู้ที่ได้จากโครงการนี้ไป “บอกเพื่อน-เตือนครอบครัว” ให้อยู่รอดปลอดจากภัยการเงินต่อไป

 

แน่นอนว่าการสื่อสารไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว และเราคงไม่สามารถใช้เครื่องมือเดียวกันส่งสารเพื่อสื่อสารไปถึงทุกคนแล้วทำให้พวกเขาเข้าใจได้ แบงก์ชาติจึงให้ความสำคัญกับการรับฟังผู้คนที่หลากหลาย และมุ่งมั่นที่จะพัฒนารูปแบบการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจและสื่อสารกับคนต่างประสบการณ์ ต่างความคิด อย่างเข้าถึง รวดเร็ว และน่าสนใจอยู่เสมอ วันนี้พวกเรา ทั้งแบงก์ชาติ และน้อง ๆ ไฟแรงกลุ่มนี้ ได้พยายามลดปัญหาภัยการเงินให้กับสังคมไทยเท่าที่เราทำได้แล้ว หวังว่าทุกท่านจะพยายามสร้างภูมิเพื่อคุ้มกันตัวเองเพิ่มเติม เพื่อให้ปราการของเราแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และพร้อมรับภัยทุกรูปแบบต่อไปนะคะ

ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
คอลัมน์ “แบงก์ชาติชวนคุย” นสพ.ประชาชาติ
ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2566

 

 

 

Tag ที่เกี่ยวข้อง

ภัยทางการเงิน