BLP เสารับสัญญาณเศรษฐกิจไทย
ช่วยหามาตรการที่ใช่และยั่งยืน
ตัวเลข GDP สะท้อนภาพเศรษฐกิจจริงหรือ? เป็นคำถามที่อยู่ในใจของใครหลายคน และเป็นสิ่งที่แบงก์ชาติต้องตรวจสอบอยู่เสมอ ว่าเราเห็นภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจครบถ้วนแค่ไหน เพื่อใช้ตัดสินนโยบาย
ที่ผ่านมาการทำงานหลังบ้านของเราจึงให้ความสำคัญกับการ “เคาะประตูบ้าน” เพื่อรับฟังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจ (Business Liaison Program) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “BLP” เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประเมินภาวะเศรษฐกิจ และออกแบบมาตรการให้ตอบโจทย์และตรงจุด
เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่โครงการ BLP ช่วยสนับสนุนการวางนโยบายของแบงก์ชาติ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากเมื่อครั้งที่ดิฉันได้ฟังบรรยายเกี่ยวกับการพยากรณ์เศรษฐกิจของประเทศออสเตรเลีย ทำให้ได้รู้จัก BLP เป็นครั้งแรก ในฐานะเครื่องมือสำคัญที่กระทรวงการคลังออสเตรเลียใช้มาตั้งแต่ปี 2536 เพื่อรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ตั้งแต่รายใหญ่ไปจนถึงรายย่อยในท้องถิ่นจำนวนกว่า 500 รายในแต่ละปี ที่สำคัญ BLP ของออสเตรเลียยังเป็นที่รู้จักและได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจเป็นอย่างดี โดยหากมีแผนการลงทุนใหญ่ ๆ ก็จะแจ้งให้ภาครัฐรู้ก่อน เพื่อให้การประเมินภาพเศรษฐกิจโดยรวมแม่นยำและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและนโยบายของประเทศยิ่งขึ้น
ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2547 เรื่อยมา แบงก์ชาติจึงได้ปรับ BLP มาใช้ในลักษณะเดียวกัน เพื่อช่วยเพิ่มความเข้าใจเศรษฐกิจให้ได้หลากหลายมิติยิ่งขึ้น ผ่านการพูดคุยกับธุรกิจปีละกว่า 800 ราย โดยมีความหลากหลาย ทั้งในแง่ประเภทธุรกิจ ขนาด และพื้นที่ รวมไปถึงมุมมองของผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ขาย เจ้าหนี้ และลูกหนี้ ตลอดจนพูดคุยถึงประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบในวงกว้างด้วย
นอกจากนี้ ยังได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เช่น หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และลงพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี เพื่อเกาะติดสถานการณ์และนำข้อมูลที่ได้ไปออกแบบนโยบายและมาตรการที่สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจไทยได้
ที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้นำเอาข้อมูลที่มีลักษณะ “เร็ว ลึก รอบ” จาก BLP มาใช้ทำงานหลายด้าน
ด้านแรก คือ ใช้เป็นจิ๊กซอว์ที่ทำให้เห็นภาพเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น เพราะข้อมูลสถิติระดับมหภาคที่ใช้ในการพยากรณ์เศรษฐกิจมีข้อจำกัดเรื่องความล่าช้า อีกทั้งยังอาจไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมและความรู้สึกของธุรกิจและประชาชนในแต่ละช่วงเวลาได้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงระดับฐานรากซึ่งข้อมูลสถิติยังไม่ครอบคลุม
แบงก์ชาติเข้าใจดีว่าการประเมินภาวะเศรษฐกิจให้แม่นยำ มีความจำเป็นมากท่ามกลางความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเร็วอย่างทุกวันนี้ ฉะนั้น ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้รับจาก BLP จึงเข้ามาช่วยปะติดปะต่อภาพเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการฉายให้เห็นองค์ประกอบเพื่อใช้วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจเชิงลึก เช่น ยอดคำสั่งซื้อ แผนการลงทุน ต้นทุนการผลิต และแนวโน้มการจ้างงาน
ตัวอย่างจากการลงพื้นที่พูดคุยกับภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิดหลังโควิดคลี่คลาย ทำให้เห็นภาพการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันชัดเจน โดยธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดหลักฟื้นตัว แต่ธุรกิจในจังหวัดรองและผู้ประกอบการรายย่อยยังลำบาก อีกทั้งยังเห็นสัญญาณของปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สู้ต้นทุนการผลิต เช่น ราคาฝ้าย และการฟอกย้อม กับคู่แข่ง (โดยเฉพาะจากจีน) ไม่ได้ หลายรายจึงหันไปนำเข้าสินค้ามาขายแทน ส่วนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ก็ได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดลง และการที่ยังไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการหันมาใช้พลังงานไฟฟ้า ทำให้รายได้ลดลงต่อเนื่อง
ด้านที่สอง เป็นตราชั่งหาสมดุลของการออกนโยบายและมาตรการ เพราะการเข้าใจปัญหาที่ต้นเหตุ จะทำให้หาทางแก้ไขได้อย่างครอบคลุมและสอดคล้องกับความต้องการ โดยข้อมูล insights ที่ได้จาก BLP ถูกนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินนโยบายการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงที่เหมาะสม และดูแลสมดุลให้เศรษฐกิจโตอย่างมีเสถียรภาพในภาพรวมได้ นอกจากนี้ ยังนำปัญหาและข้อเสนอแนะที่ได้รับฟัง มาออกแบบมาตรการให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพด้วย
ตัวอย่างในช่วงโควิดที่ผู้ประกอบการขาดรายได้และชำระหนี้ไม่ไหว แบงก์ชาติได้หารือกับผู้ประกอบการและสถาบันการเงินเพื่อออกแบบมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ เพื่อช่วยสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนและบรรเทาภาระให้ธุรกิจสามารถผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากไปได้
และจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เห็นชัดเจนขึ้น แบงก์ชาติได้มี “มาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัว” มาช่วยธุรกิจไทยให้ทยอยปรับเปลี่ยนการผลิตให้สอดรับกับยุคเศรษฐกิจสีเขียวและดิจิทัล ซึ่งหลังจากที่มาตรการนี้สิ้นสุดลง เรายังเห็นสถาบันการเงินต่าง ๆ มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจให้กับลูกค้าในลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานอื่น ๆ เพื่อช่วยตอบโจทย์ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย เช่น การลงพื้นที่รับฟังความต้องการและปัญหาของเกษตรกร โดยได้ร่วมมือกับกรมการข้าว ธ.ก.ส. และผู้ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยี ทำโครงการนำร่องในภาคอีสานเพื่อส่งเสริมการผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลการเกษตรแม่นยำ เพื่อผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างในภาคเกษตร โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิต อีกทั้งยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางบริหารจัดการเงินเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ในหลายจังหวัดภาคเหนือสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ BLP จะมีหน้าที่หลักเป็นการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล แต่การสื่อสารระหว่างแบงก์ชาติ ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องมาตลอด 20 ปี ได้ช่วยสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งและสานความสัมพันธ์ที่ดี หลายปีที่ผ่านมาเราได้ต่อยอดความสัมพันธ์ผ่านการให้ความรู้และเตือนภัยการเงินด้วยความห่วงใยเหมือนเพื่อนและคนในครอบครัว และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนี้เอง จึงช่วยให้ BLP ทำหน้าที่เป็น “เสารับสัญญาณ” ที่ส่งผ่านคลื่นความท้าทายและทิศทางเศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำและยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้าค่ะ
ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
คอลัมน์ แบงก์ชาติชวนคุย ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2567