Zoom in ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช็กอาการส่งออกไทย
“เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากโควิดแล้ว แต่การส่งออกยังต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค” โดยมีมูลค่าการส่งออกในช่วงปี 2564-2566 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.6% ตามหลังประเทศอื่น เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน และไต้หวัน ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 8-19%
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ทั้งที่ทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบจากการค้าโลกที่ชะลอตัวเหมือนกัน
วันนี้จึงอยากชวนท่านผู้อ่านมองผ่านแว่นขยายเพื่อตรวจเช็กอีกเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย นั่นคือ การส่งออกสินค้าที่ยังคงซบเซาและฟื้นตัวช้า เพื่อให้เห็นถึงแก่นของปัญหาและมองหาทางออกไปพร้อมกัน
การส่งออกของไทยกำลังเผชิญกับทั้งปัญหาระยะสั้น เช่น เศรษฐกิจคู่ค้าหรือวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังกลับมาฟื้นตัวไม่เต็มที่ และปัญหาเชิงโครงสร้างที่อยู่กับประเทศไทยมานาน เพียงแต่โควิดทำให้เราต้องไปเร่งแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าก่อน พอวิกฤตผ่านพ้นไป จึงเหมือน “น้ำลด ตอผุด” จนเกิดอาการติดหล่มหลังจากที่ผ่านพ้นปากเหวขึ้นมาได้
อาการสำคัญที่เห็นได้ชัด คือ ประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนที่แข่งขันไม่ได้ในหลายสินค้า
ตัวอย่างที่ชัดเจนของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปก็คือ ข้าว ซึ่งไทยเคยเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง แต่ในปี 2565 เหลือส่วนแบ่งในตลาดโลกเพียง 13% จากที่เคยสูงถึง 31% เมื่อปี 2547 เพราะปัญหาผลผลิตต่อไร่ที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากว่า 20 ปี จึงแข่งขันกับอินเดียและเวียดนามได้ยาก และถูกอินเดียแซงขึ้นมาเป็นที่หนึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีกรณีของกุ้งที่ส่วนแบ่งตลาดลดลงเรื่อย ๆ จากเกือบ 14% ในปี 2555 เหลือเพียงไม่ถึง 4% ในปี 2565 เพราะสู้ราคากับเอกวาดอร์และอินเดียไม่ได้จากต้นทุนการผลิต เช่น ค่าแรง ค่าอาหารสัตว์ ค่าพลังงาน ที่สูงกว่า ยังไม่ต้องพูดถึงแต้มต่อของคู่แข่งที่มีสิทธิพิเศษทางการค้าและความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีการผลิต ขณะเดียวกันสินค้าที่ส่วนแบ่งตลาดน้อยอยู่แล้วอย่างสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ก็ถูกสินค้าราคาถูกจากจีนและเวียดนามตีตลาดอย่างต่อเนื่องจนส่วนแบ่งตลาดส่งออกเหลือไม่ถึง 1% แล้ว แม้แต่ไทยเองยังนำเข้าเสื้อผ้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 32% ในปี 2566 ที่ผ่านมา
การปรับตัวที่ไม่ทันกับทิศทางของโลก เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้ไทยไม่สามารถคว้าโอกาสสร้างรายได้จากสินค้าที่กำลังเป็นกระแส และได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของคู่ค้าได้เต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา
“ความก้าวหน้าด้านดิจิทัล” ทำให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น และเป็นโอกาสของผู้ส่งออกสินค้าต้นน้ำและกลางน้ำ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ แผ่นเวเฟอร์ อย่างไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ที่เห็นแนวโน้มและปรับตัวทัน โดยไต้หวันได้เรียนรู้เทคโนโลยีจากการรับจ้างผลิตให้ต่างชาติ และนำมาต่อยอดด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และ R&D ตลอดจนพัฒนาทักษะแรงงานต่อเนื่อง จนกลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ และแผงวงจรรวมของโลกแล้ว
สำหรับไทย การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โตเฉลี่ยเพียง 4% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เทียบกับเวียดนามที่โต 37% ฟิลิปปินส์โต 14% และมาเลเซียโต 10% นั่นก็เป็นเพราะเราส่งออกสินค้าปลายน้ำเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกนำโดยสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ที่เกี่ยวข้องกับ AI นอกจากนี้ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยเคยส่งออกได้ดี เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ์ ก็เป็นที่ต้องการน้อยลง และกำลังถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีโซลิดสเตตไดรฟ์
ซึ่งปัจจุบันมีผลิตในไทยน้อยมาก
“ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก แม้กระทั่งในบ้านเราเองยังมียอดจดทะเบียนถึง 25% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมดในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบให้การผลิตและส่งออกรถยนต์แบบสันดาปในไทยเริ่มชะลอลง อย่างไรก็ดี คาดว่าไทยจะสามารถหันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อป้อนตลาดในประเทศและตลาดโลกได้มากขึ้นใน 1-2 ปีนี้
“ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์” ที่ทำให้จีนหันมาผลิตในประเทศมากขึ้น และลดการนำเข้าลง ส่งผลให้ไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกไปจีนที่ประมาณ 12% ได้รับผลกระทบ ที่ชัดเจน คือ การส่งออกเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมีที่ส่งออกไปจีนถึง 19% ของการส่งออกทั้งหมดต้องหดตัวมาแล้ว 2 ปี ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังเริ่มขยายการส่งออกไปตลาดใหม่ทดแทนการส่งออกไปสหรัฐฯ จนกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญสำหรับการส่งออกสินค้าในหมวดนี้ รวมถึงหมวดอื่น ๆ ในอาเซียนด้วย โดยในปี 2565 การส่งออกของไทยไปอาเซียนลดลง 2% ขณะที่จีนส่งออกไปอาเซียนเพิ่มขึ้น 25%
ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง เป็นผลสะสมมาจาก “การลงทุน” ที่ขยายตัวต่ำ (เฉลี่ย 1.3%) มานานกว่า 10 ปี และมีสัดส่วนประมาณ 23% ต่อจีดีพีมาต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนา “คน” ที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ทำให้นักลงทุนมองว่าไทยน่าลงทุนน้อยกว่าประเทศอื่น แม้ในช่วงที่มีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เม็ดเงินส่วนใหญ่ก็เทไปที่เวียดนามและอินโดนีเซีย ที่มีสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีสูงเกือบ 30%
ดังนั้น ไทยจึงต้องเร่งยกระดับศักยภาพการแข่งขันในหลายมิติ ทั้ง (1) การสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำธุรกิจ ด้วยการปรับกฎระเบียบเพื่อลดกระบวนการ ต้นทุน และอุปสรรคของภาคธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มความชัดเจนและต่อเนื่องของนโยบาย และส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม (2) ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง เพิ่มการเข้าถึง และให้มีต้นทุนเหมาะสม ควบคู่กับการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าเพิ่ม และ (3) สร้างแรงงานที่มีคุณภาพ โดยต้องพัฒนาและเตรียมพร้อมตลอดช่วงวัย และปรับทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในโลกยุคดิจิทัล
สำหรับแบงก์ชาติ “การรักษาเสถียรภาพด้านราคาและระบบการเงิน” ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีทางเศรษฐกิจ ลดความไม่แน่นอนให้กับธุรกิจและนักลงทุน อีกทั้งยังเน้นเรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานในภาคการเงิน เช่น มีระบบชำระเงินที่สะดวก ปลอดภัย และต้นทุนต่ำ รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อผลักดันให้เกิดการปรับตัวและการลงทุนสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้น
การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้ภาคการส่งออกไทยกลับมาแข่งขันในตลาดโลกได้ใกล้เคียงเดิมไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา ที่สำคัญต้องเร่งทำให้มากขึ้นและอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐที่จะมีบทบาทในการสนับสนุนการลงทุนของภาคธุรกิจเพื่อให้ปรับตัววิ่งตามโลกได้ทัน และเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง
แล้วพบกันใหม่ค่ะ
ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
คอลัมน์ แบงก์ชาติชวนคุย ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 30 พฤษภาคม 2567