Financial Hub เปิดรับโอกาส จำกัดความเสี่ยง
เงินลงทุน การจ้างงาน ทักษะความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” เป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน ซึ่งโครงการ Ignite Thailand ของรัฐบาลก็มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ไทยเป็น Financial Hub (Fin Hub) หรือศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน เพื่อดึงดูดปัจจัยข้างต้นให้เข้ามาในประเทศมากขึ้น
วันนี้จึงขอหยิบยกเอาเรื่อง Fin Hub มาชวนคุย ว่านอกจาก “โอกาส” ในการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว ยังอาจมี “ความท้าทาย” ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมองให้รอบด้าน และศึกษาแนวทางการออกแบบ และพัฒนา Fin Hub ให้เหมาะสมกับบริบทและเป้าหมายของประเทศ
โดยทั่วไป Fin Hub จะหมายถึงศูนย์รวมกิจกรรมทางการเงินต่าง ๆ ที่ออกแบบโครงสร้างและกลไกดูแล (Ecosystem) ให้การจัดตั้งธุรกิจทางการเงินและการทำธุรกรรมต่าง ๆ มีความคล่องตัว โดยอาจผ่อนคลายกฎเกณฑ์บางอย่าง เพื่อดึงดูดให้มีผู้ประกอบธุรกิจเข้ามาจัดตั้ง หรือมาทำกิจกรรมทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดทักษะและเทคโนโลยี รวมถึงเพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่จัดตั้ง
ตัวอย่างของ Fin Hub สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ “สิงคโปร์” ที่ทั้งประเทศถือเป็นพื้นที่ของ Fin Hub ที่มีจุดแข็งหลายด้าน ตั้งแต่การเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ ความพร้อมของเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง บุคลากรที่มีคุณภาพ กฎหมาย และธรรมาภิบาลที่แข็งแกร่ง ไปจนถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลาย Fin Hub ซึ่งคนไทยคุ้นเคย อาทิ “นิวยอร์ก” ที่เป็นตลาดทุนระดับโลก “ลอนดอน” ที่เป็นเมืองแห่งธุรกิจทางการเงินที่มีชื่อเสียง “ฮ่องกง” ประตูสู่จีนซึ่งเชี่ยวชาญด้านบริการทางการเงินสำหรับกิจการข้ามชาติ และ “ดูไบ” ซึ่งจุดแข็งด้านที่ตั้งที่อยู่ระหว่างเอเชียกับยุโรป ทำให้กลายเป็น Fin Hub สำคัญอีกแห่ง
จะเห็นได้ว่า Fin Hub แต่ละแห่งต่างมีจุดแข็งที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในแง่โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีที่ทันสมัย ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือการเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี หลาย ๆ แห่งต้องเผชิญความท้าทายในการจัดการกับธุรกิจสีเทาที่เข้ามาใช้ประโยชน์จาก Fin Hub ในการเป็นทางผ่านของธุรกรรมผิดกฎหมายด้วย ซึ่งเป็นบทเรียนที่ไทยสามารถนำมาพัฒนา Fin Hub ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศได้
Wallstreet, New York
สำหรับไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการของร่าง พ.ร.บ. Fin Hub ไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อผลักดันธุรกิจใน 8 สาขา ได้แก่ (1) ธนาคารพาณิชย์ (2) บริการการชำระเงิน (3) ธุรกิจหลักทรัพย์ (4) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (5) สินทรัพย์ดิจิทัล (6) ประกันภัย (7) นายหน้าประกันภัยต่อ (Reinsurance) และ (8) ธุรกิจเกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุน (เช่น ศูนย์ข้อมูล)
โดยรายละเอียดของ พ.ร.บ.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เช่น พื้นที่ตั้งของ Fin Hub สถานะของธุรกิจและการให้บริการของธุรกิจใน Fin Hub ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ที่นำเสนอนั้น ธุรกิจใน Fin Hub จะถูกจัดเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ (Nonresident) และจะให้บริการกับผู้ที่อยู่ในกลุ่ม Nonresident โดยสามารถลงทุน จ้างงาน และซื้อสินค้าและบริการจากธุรกิจและประชาชนไทยได้
ประโยชน์ที่ไทยคาดหวังจะได้รับจากการเป็น Fin Hub นั้นคือการช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบลูกโซ่ คือจะมีการจ้างงานคนในประเทศ การจัดเก็บรายได้ภาครัฐ และที่สำคัญคือประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้นจาก (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และ (2) การถ่ายทอดทักษะ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น
จากมุมมองของภาครัฐ ไทยมีความพร้อมหลายด้านที่นำมาต่อยอดสู่การเป็น Fin Hub ได้ ทั้งค่าครองชีพที่ต่ำ โครงสร้างพื้นฐานที่ดีในหลายด้าน เช่น โลจิสติกส์ การสื่อสาร และดิจิทัล การพัฒนาของภาคการเงิน และระบบชำระเงินที่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี มีหลายด้านที่ยังต้องทำเสริม เพื่อให้การมี Fin Hub ช่วยดึงดูดธุรกิจเก่ง ๆ มาให้เราได้อย่างเต็มที่ เช่น กฎกติกาการทำธุรกิจที่ยังเป็นอุปสรรค การบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของบุคลากร
นอกจากนี้ การสร้างมาตรการจูงใจเพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนก็มีความสำคัญ ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การครอบครองที่ดินและทรัพย์สิน การเคลื่อนย้ายแรงงาน การผ่อนปรนกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุน
อีกจุดเปราะบางที่ต้องระวังคือ อาจมีการใช้ช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ในการทำธุรกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เพื่อให้เป้าหมายการเป็น Fin Hub ของไทยเกิดขึ้นได้จริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประเมินศักยภาพ และข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้ทราบข้อได้เปรียบและเสียเปรียบที่ชัดเจน และนำไปกำหนดยุทธศาสตร์รวมทั้งแนวทางผลักดันที่เป็นรูปธรรม ว่าจะต้องปรับการดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสมและเป็นเสน่ห์ทางธุรกิจให้กับประเทศ
เพื่อประโยชน์ด้านต้นทุนและความคล่องตัวของธุรกิจใน Fin Hub ผู้ประกอบธุรกิจจึงจะได้รับการยกเว้นกฎหมาย 7 ฉบับ ที่กำกับดูแลธุรกิจทางการเงินดังกล่าวข้างต้น โดยมีคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One-Stop Authority : OSA) เป็นผู้ที่กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจใน Fin Hub โดยเฉพาะ
ทั้งนี้ กฎเกณฑ์และการกำกับดูแลที่มีแนวโน้มผ่อนคลายกว่าภายนอก ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ OSA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมการประกอบธุรกิจการเงินของต่างชาติกับการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม โดยกฎกติกาต่าง ๆ ที่ผ่อนปรนจะต้องไม่เพิ่มความเสี่ยง (เช่น ความมั่นคงทางการเงินของผู้ประกอบการ และความเป็นธรรมในการให้บริการแก่ลูกค้า)
นอกจากนี้ ควรต้องมีกลไกป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายใน Fin Hub ไม่ให้กระทบต่อลูกค้าในวงกว้าง และความน่าเชื่อถือของระบบการเงินโดยรวม โดยหากเกิดกรณีที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ หน่วยงานกำกับดูแลหลักควรต้องมีกลไกที่สามารถเข้าไปดูแลและกำหนดหลักเกณฑ์ผ่านการหารือกับ OSA เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจใน Fin Hub ถือปฏิบัติ เพื่อลดความเสียหายให้มากที่สุด
อีกความท้าทายคือ การกำกับดูแลเกี่ยวกับการฟอกเงิน แม้ธุรกรรมใน Fin Hub จะอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่กฎระเบียบอื่น ๆ ที่ผ่อนคลายข้างต้น
รวมทั้งรูปแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะหลากหลายและซับซ้อนขึ้น จะเป็นความท้าทายในการดูแลและตรวจสอบธุรกรรม เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ในการใช้ฟอกเงิน หรือทำธุรกรรมผิดกฎหมาย หรือธุรกรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะส่งผลต่อชื่อเสียงและความเชื่อมั่นต่อประเทศ ลดความดึงดูดต่อธุรกิจชั้นนำทางการเงินที่จะมาตั้งใน Fin Hub ลง
สุดท้ายนี้ การที่ไทยจะเป็น Fin Hub ที่ประสบความสำเร็จตามความคาดหวัง จะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน รวมถึงการกำกับดูแลที่สมดุลระหว่างความยืดหยุ่นของการดำเนินธุรกิจและการจำกัดความเสี่ยง รวมทั้งมีแผนและกลไกรองรับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเหล่านี้จะกำหนดความสามารถในการแข่งขันของไทยกับ Fin Hub อื่น ๆ ในอนาคต … ขอเป็นกำลังใจให้ทุกหน่วยงานในการขับเคลื่อนโครงการนี้นะคะ แล้วพบกันใหม่ค่ะ
ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
คอลัมน์ แบงก์ชาติชวนคุย ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 6 พฤษภาคม 2568