เปิดประสบการณ์ “สแกนปุ๊บ-จ่ายปั๊บ” ที่เมืองนอก
สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดิฉันได้เดินทางไปประชุม ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และเป็นโอกาสที่ได้มีการต้อนรับประเทศเวียดนามเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค (Regional Payment Connectivity : RPC) อย่างเป็นทางการ ทำให้ปัจจุบันมีธนาคารกลางอาเซียนเป็นสมาชิกแล้ว 6 ประเทศ จากช่วงเริ่มต้นเมื่อปลายปี 2565 ที่มีอยู่แล้ว 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย
RPC เป็นความร่วมมือที่ประเทศอาเซียนจะพัฒนาการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยจะมีการเชื่อมต่อใน 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือ การชำระค่าสินค้า ซึ่งมีไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปประเทศที่ได้เชื่อมโยงการชำระเงินด้วยการใช้ QR code ไว้
อีกรูปแบบหนึ่งคือ การโอนเงินระหว่างบัญชี เหมือนเราโอนพร้อมเพย์ให้เพื่อน แต่เป็นการโอนข้ามประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับแรงงานที่ไปทำงานยังต่างประเทศแล้วส่งเงินกลับบ้าน ในรูปแบบนี้ปัจจุบันเราเชื่อมกับสิงคโปร์แล้ว เรียกว่าระบบ PromptPay-PayNow ซึ่งนับเป็นคู่แรกในโลก
นอกเหนือไปจาก 6 ประเทศสมาชิก RPC ได้ทยอยสร้างความร่วมมือด้านการชำระเงินและโอนเงินกับประเทศต่าง ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนแรงงาน การค้า และการท่องเที่ยวกับไทยมาตั้งแต่ปี 2561 ก่อนที่จะมีการลงนามในบันทึกความร่วมมือ RPC อย่างเป็นทางการเสียอีก
ซึ่งปัจจุบันคนไทยสามารถใช้ QR payment ได้แล้วในหลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนวงเงินในการทำธุรกรรมนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละธนาคารที่เราใช้งาน สำหรับของนักท่องเที่ยวไทย ธนาคารได้ร่วมกันกำหนดเพดานสูงสุดไว้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อครั้ง และไม่เกิน 5 แสนบาทต่อวัน
กลับมาที่เรื่อง QR สำหรับนักเดินทางอย่างเรา เมื่อไปถึงอินโดนีเซีย ก็ไม่พลาดโอกาสที่จะลองจ่ายเงินซื้อของฝากด้วยการสแกน QR code ซึ่งร้านค้าส่วนใหญ่ ตั้งแต่ร้านในห้างไปจนถึงร้านค้าย่อย ๆ ก็เข้าร่วมโครงการ สำหรับวิธีใช้งานก็ง่ายมาก เพียงแค่เปิดแอปพลิเคชั่นธนาคาร ในโทรศัพท์มือถือขึ้นมา สแกน QR code
ของร้านค้าเหมือนที่ทำในไทย ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีมาตรฐาน QR ของตัวเอง
อย่างเช่น QRIS (Quick Response Code Indonesian Standard) ของอินโดนีเซีย DuitNow QR ของมาเลเซีย หรือ Viet QR ของเวียดนาม จากนั้นก็แค่ใส่จำนวนเงินสกุลต่างประเทศที่ต้องการจ่าย โดยหน้าจอจะแสดงจำนวนเงินสกุลต่างประเทศและแปลงเป็นเงินบาทให้เลย เมื่อตรวจสอบความถูกต้องแล้วก็กดยืนยันการทำรายการ เงินก็จะส่งตรงถึงบัญชีผู้ขายทันที
ไม่เพียงแค่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย แต่การชำระด้วย QR code ยังมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลง โดยตอนนี้มีหลายธนาคารที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมเลย และที่สำคัญคือเราจะเห็นอัตราแลกเปลี่ยนทันที ไม่เหมือนกับการจ่ายด้วยบัตรเครดิตที่ต้องรอลุ้นค่าเงินในรอบบิลถัดไป นอกจากนี้ เราจะทราบผลของการทำธุรกรรมทันที และสามารถตรวจสอบสถานะได้ทุกเมื่อที่ต้องการ แถมยังมี e-Slip เป็นหลักฐานสำหรับ ตรวจสอบและอ้างอิงภายหลังได้ด้วย ที่สำคัญคือ ไม่ต้องวุ่นวายแลกเงินไปเยอะ ๆ แล้ว ให้พอมีติดกระเป๋าสำหรับค่าทิปก็พอ
ข้อดีอีกอย่างที่อาจไม่ค่อยมีคนนึกถึงคือ การใช้ QR payment หรือการโอนเงินระหว่างบัญชี ช่วยลดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ด้วย เพราะค่าเงินภูมิภาคเทียบดอลลาร์ สรอ. มักเคลื่อนไหวไปในทิศทางใกล้กัน ทำให้ความผันผวนไม่สูงมาก และยังช่วยสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นด้วย
เพราะการคำนวณเงินที่ต้องชำระสามารถทำได้โดยไม่ต้องไปอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนของเงินดอลลาร์สหรัฐก่อน ซึ่งในระยะต่อไปจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าและการโอนเงิน โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง ที่ถือว่าเป็นข้อต่อสำคัญของความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ
เร็ว ๆ นี้คนไทยจะสามารถจ่ายเงินผ่านการสแกน QR code ได้ที่ฮ่องกงและอินเดียเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง และเราหวังว่าจะมีโอกาสพัฒนาระบบการชำระเงินร่วมกับอีกหลายประเทศ
ในฝั่งขาเข้า ผู้ประกอบการไทยก็สามารถรับเงินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ด้วย เช่น นักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ตอนนี้เดินทางเข้ามาไทยมากเป็นอันดับต้น ๆ ก็สามารถใช้แอปพลิเคชั่นธนาคารมาเลเซียของตนสแกนซื้อของฝากในตลาดกิมหยงได้เช่นกัน
ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถปรึกษาธนาคารที่ท่านมีบัญชีที่ใช้รับเงินอยู่ว่ารับเงินจากประเทศใดได้บ้าง แล้วอาจติดป้ายที่ QR code หน้าร้านว่า “(ชื่อประเทศ) scan here to pay” เพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวรู้ว่าเขาสามารถสแกนจ่ายได้เหมือนในประเทศบ้านเกิดเช่นกัน
เมื่อปีที่แล้ว ธปท.ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอเกี่ยวกับบริการชำระเงินด้วย QRIS มีประโยคหนึ่งที่ยังติดอยู่ในหัวตลอดช่วงที่ผ่านมา “Let’s start the future” อยากชวนให้ทุกท่านทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการมาเปิดประสบการณ์การจ่ายเงินที่จะ
เป็นจุดเริ่มต้นแห่งอนาคตกันค่ะ
แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไปนะคะ
ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
คอลัมน์ “แบงก์ชาติชวนคุย” นสพ.ประชาชาติ
ฉบับวันที่ 21 กันยายน 2566