ไขข้อข้องใจ ทำไมยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยโตไม่ดี
ธุรกิจที่ฟื้นตัวได้ดี เป็นภาคบริการ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว และพลังงาน ซึ่งคิดเป็น 60% ของจีดีพี และจ้างงานประมาณ 40% ของแรงงานทั้งหมด ทำให้คนที่ทำธุรกิจหรือทำงานอยู่ในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีมากกว่า 3 ล้านคน พอยิ้มได้บ้าง โดยเฉพาะร้านอาหารและที่พัก (4.3% ของจีดีพี) เพราะนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติที่ฟื้นตัวกลับมาทำให้ยอดขายและราคาทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป ที่เน้นลูกค้ารายได้ปานกลาง-สูง และนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์ เช่นเดียวกับธุรกิจปิโตรเลียม (3.6% ของจีดีพี) ที่การฟื้นตัวของการขนส่งคนและสินค้าช่วยให้มีการผลิตและการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะยิ้มได้เหมือนกันหมด เพราะธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวเด่น ๆ โรงแรม 3 ดาวลงมา จนถึงที่พักขนาดเล็ก ยังลำบากจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ขึ้นราคาได้ยาก จนบางแห่งต้องปิดตัว และอาจไม่ได้รู้สึกถึงการฟื้นตัวเท่าที่ควร
สำหรับภาคการผลิตในหลายอุตสาหกรรม ต้องเจอผลกระทบจากหลายปัจจัย การฟื้นของกลุ่มนี้ (6% ของจีดีพี และ 5% ของแรงงาน) จึงยังเจอความไม่แน่นอนสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า (9.6% ของมูลค่าส่งออก) ที่ตอนนี้ส่งออกหดตัว แต่คาดว่าจะปรับดีขึ้นได้ตามการฟื้นตัวของความต้องการโลก โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศตามอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ยังต้องสู้กับการตีตลาดของสินค้าจีนที่ต้นทุนต่ำกว่า (จะขอมาคุยยาว ๆ ให้ฟังในโอกาสต่อไป)
การผลิตและส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วน (2.1% ของจีดีพี) ก็ต้องประสบปัญหาจากการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก แม้กระทั่งยอดขายในประเทศก็สูญเสียให้กับรถยนต์จีนที่มีจุดแข็งด้านราคาด้วย ส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น รถยนต์มือสอง เช่าซื้อ และชิ้นส่วนรถยนต์ แม้ผู้ผลิตในไทยเริ่มปรับตัวสำหรับการผลิต EV บ้างแล้ว แต่กว่าจะผลิตป้อนตลาดในประเทศและตลาดโลกได้ ก็ต้องรอ 1-2 ปี และยังมีปัจจัยที่ต้องดูต่อ เช่น กำลังการผลิตรถยนต์ของจีน และข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปรับตัวของธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์
สำหรับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่รวม Hard Disk Drive (7.1% ของมูลค่าส่งออก) แม้การส่งออกจะขยายตัวจากหมวดโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ จากการย้ายฐานการผลิตออกจากไต้หวันและจีน แต่สินค้าที่เคยส่งออกได้ดีอย่างแผงวงจรรวม (IC) ก็ยังไม่ดีนัก และไทยน่าจะได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกไม่มาก เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำไม่ใช่เทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวกับ AI
กระนั้น ความรู้สึกของคนที่ทำงานในภาคการผลิตข้างต้นที่มีมากกว่า 1 ล้านคน ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น การผลิตส่วนเกินที่สะสมไว้ ปริมาณสินค้ารอขายในคลัง และลักษณะของอุตสาหกรรมว่าพึ่งพิงแรงงานหรือเครื่องจักร ซึ่งอาจมีผลกับการจ้างงาน รายได้และโอที ในสัดส่วนต่างกัน
สำหรับธุรกิจที่พึ่งพากำลังซื้อของคนในประเทศอย่างภาคก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ (5.1% ของจีดีพี) ที่จ้างงานมากกว่า 2 ล้านคนนั้น ตลาดบนในกลุ่มที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ยังพอไปได้ แต่ตลาดกลาง-ล่าง ไม่สู้ดีมาพักใหญ่แล้ว โดยเฉพาะที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ทำให้มีที่อยู่อาศัยรอขายจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเพราะหนี้ที่อยู่ในระดับสูงและการฟื้นของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งมีผลต่อการเข้าถึงสินเชื่อ รวมถึงการที่ พรบ. งบประมาณปี 2567 ล่าช้า ก็ส่งผลต่อภาคก่อสร้าง ซึ่งเมื่อกลับมาเบิกจ่ายงบประมาณได้แล้ว ต่อไปน่าจะมีเม็ดเงินเข้าไปเติมให้ภาคก่อสร้างมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังกังวลกับปัญหาขาดแคลนแรงงานและต้นทุนค่าแรงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต
การเข้ามาของสินค้าจีนเป็นปัญหาที่บั่นทอนความสามารถการแข่งขันของไทยในตอนนี้ ตัวอย่างที่ชัด คือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (1% ของจีดีพี) ซึ่งไทยเราไม่อาจสู้กับของถูกจากจีนได้ แถมยังมี e-commerce ที่ทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาง่ายขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเปลี่ยนมานำเข้าหรือย้ายฐานการผลิตไปยังเพื่อนบ้านแทน ซึ่งย่อมมีผลต่อการจ้างงานในสาขานี้ที่มีอยู่ประมาณ 6 แสนคน คล้ายกันกับสถานการณ์ของปิโตรเคมี (0.8% ของจีดีพี) ที่ไทยมีจุดอ่อนด้านต้นทุนน้ำมันดิบที่สูงกว่าคู่แข่งอยู่แล้ว พอจีนหันมาผลิตปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น ก็ทำให้เราส่งออกไปจีนได้น้อยลง แถมจีนยังกลายมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวทั้งในบ้านและนอกบ้านด้วย
จากกลุ่มฟื้นดีที่มีจีดีพีสัดส่วนสูง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังดูไปได้ แต่ถ้าดูลงไปในภาพย่อย ก็จะเห็นว่ายังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข นอกจากการดูแลสภาวะเศรษฐกิจการเงินและอัตราเงินเฟ้อให้เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้ว การให้ความช่วยเหลือคนเดือดร้อนผ่านมาตรการเฉพาะจุดก็สำคัญเช่นกัน แบงก์ชาติจึงมีเกณฑ์ให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง โดยลูกหนี้สามารถเจรจาเพื่อขอปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้เหมาะกับศักยภาพและรายได้ในแต่ละช่วงเวลาได้ สำหรับธุรกิจที่กำลังเผชิญปัญหาด้านการแข่งขัน เราก็มีนโยบายให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เช่น สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตลอดจนปรับ business model ให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง ทั้งในแง่ตัวเลขและคุณภาพต่อไป
แล้วพบกันใหม่ค่ะ
ผู้เขียน : ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์
คอลัมน์ แบงก์ชาติชวนคุย ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2567