เทรนด์โลกใหม่ : SMEs ไทย ใครว่าปรับตัวไม่ได้ (กรณีศึกษาธุรกิจในภาคใต้)

มณฑล ศิริธนะ l จิรวัฒน์ ภู่งาม l อารยา จันทร์สกุล

01 พ.ค. 2563

การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก เราแทบจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เห็นในวันนี้จะยังคงอยู่ในวันพรุ่งนี้หรือไม่ เช่น เทคโนโลยีที่อัพเดตแบบรายวัน หรือแม้แต่ความชอบและกระแสของผู้บริโภค ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า
ทุกวันนี้การทำธุรกิจให้อยู่รอดเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจขนาดเล็กทั่วโลกปิดกิจการไปถึง 50% ทั้งที่เปิดกิจการมาได้ไม่ถึง 1 ปี 1 ดังนั้นธุรกิจจึงจำเป็นต้องหาหนทางเพื่ออยู่รอด ซึ่งมองในอีกด้านอาจเรียกได้ว่า เป็นการหาวิธีปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ว่ามา ทั้งนี้ ถ้ามองเป็นภาพใหญ่ จะมีอยู่ 3 เรื่องที่ภาคธุรกิจต้องเจอ ซึ่งเรียกว่าเป็นเทรนด์โลกใหม่ได้เลยทีเดียว

3 เทรนด์โลกใหม่ 

1. ทิศทางการค้าขายสินค้าและบริการเปลี่ยนไปแล้ว โดยการขายสินค้าเติบโตลดลง และถูกแทนที่ด้วยภาคบริการที่เติบโตต่อเนื่อง ภาคบริการที่สำคัญ ได้แก่ ท่องเที่ยว ขนส่ง IT และโทรคมนาคม ซึ่งมีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลกในปัจจุบัน ในไทยเองธุรกิจที่โตเร็วอย่างเห็นได้ชัดมีพวกธุรกิจส่งอาหาร เช่น Grab Food, Food Panda รวมถึงโรงแรม ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ที่เน้นบรรยากาศสวยเก๋เหมาะสำหรับถ่ายรูปลงใน Social media  อย่างไรก็ดี แม้ว่ามูลค่าการขายสินค้าจะโตน้อยลง แต่ธุรกิจที่ผลิตสินค้าก็ยังหาโอกาสเติบโตได้ในกลุ่มตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ประเทศกำลังพัฒนาที่ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีสัดส่วนการบริโภคสูงถึง 38% ของการค้าโลกในปี 2560 จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียง 19% ในปี 2538 3

2. เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจเพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าจะใช้เพื่อเพิ่มยอดขายสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า หรือลดต้นทุน  ทั้งในด้านเครื่องจักรอุปกรณ์ Application ต่าง ๆ บนมือถือ รวมถึงการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยในปี 2559 ธุรกิจใช้เงินลงทุนในเทคโนโลยี และ R&D เพิ่มขึ้นเป็น 13% ของรายได้ จาก 5% ในปี 2543 4  หรือแม้แต่ภาคการเงินการธนาคารทั่วโลกที่ลงทุนในเทคโนโลยีไปมากกว่า 30 ล้านล้านบาทในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา 5 (เกือบ 3 เท่าของ GDP ไทย) สำหรับธุรกิจในภาคใต้พบว่า มีการลงทุน R&D และใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอยู่ไม่น้อย เช่น หุ่นจำลองสำหรับฝึกการทำ CPR ที่ผลิตจากยางพารา, App “Town Portal” ที่รวมเอาที่กิน ที่เที่ยว และที่พักหลายจังหวัดในภาคใต้เข้าไว้ด้วยกัน

3. การพัฒนากระบวนการผลิตและให้บริการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่มีมากขึ้น ซึ่งในด้านหนึ่งอาจมองเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า และเป็นต้นทุนที่ธุรกิจต้องแบกรับ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสที่ช่วยให้ธุรกิจที่ทำได้ สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจไม้ยางพาราและถุงมือยางกับมาตรฐาน Forest Stewardship Council ที่ต้องระบุที่มาของวัตถุดิบให้ได้ว่าไม่ได้มาจากการบุกรุกป่า ซึ่งจะตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ธุรกิจโรงแรมที่นอกเหนือจากมาตรฐานโรงแรม 1-5 ดาว ยังมีมาตรฐานทางอ้อม เช่น คะแนนรีวิวบน Platform ต่าง ๆ อาทิ Agoda, Booking.com ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ภาคธุรกิจไม่ควรมองข้าม

แล้วถ้าถามว่าวิธีการปรับตัวหรือทางรอดของธุรกิจที่ทำได้จริง เห็นผลจริงเป็นอย่างไร ผู้เขียนจะขอยกเอาแนวทางของธุรกิจท้องถิ่นที่ฝ่าฟันอุปสรรคปัญหา จนสามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ ธปท. รวบรวมนำมาแบ่งปันและเล่าสู่กันฟัง

หมายเหตุ: แนวทางการปรับตัวตามแผนภาพ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้ประกอบการในภาคใต้เลือกใช้ ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมถึงวิธีการปรับตัวทั้งหมด

 จากแผนภาพข้างต้น ต้องบอกว่าจริง ๆ แล้ว มีหลายธุรกิจในภาคใต้ที่เลือกใช้หลาย ๆ วิธี มาผสมผสานกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้ประสบความสำเร็จในการปรับตัว ยังทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้อ่านได้ โดยในที่นี้ขอยกตัวอย่างมา 3 เคส

เรื่องเล่าความสำเร็จ จากวิกฤติสู่จุดเปลี่ยน

“ ธุรกิจอาหารกระป๋อง ” กับการใช้ประโยชน์จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวและแสวงหากลุ่มลูกค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง จากความท้าทายรอบด้านที่เผชิญ ทั้งยอดขายที่ลดลงมากจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศที่หายไป สินค้าเดิมที่ขายได้ในราคาถูกจากการแข่งขันที่รุนแรง บีบให้ต้องหาทางรอดด้วยการใช้การเติบโตของภาคบริการมาเป็นเครื่องมือ โดยเปิดโรงงานให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมการผลิตเพื่อสร้าง Customer journey รวมถึงออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สะดุดตาเพื่อสร้างมุมมองใหม่จากอาหารกระป๋องธรรมดา ๆ เป็นของฝากวางจำหน่ายในโรงแรมและร้านค้าตามสถานที่ท่องเที่ยว นอกจากนี้ ด้วยความเป็นแบรนด์เก่าแก่จึงเกิดแนวคิด Refreshing brand โดยปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัย พร้อมทั้งคิดค้นสินค้าใหม่ อาทิ รสชาติที่หลากหลาย ขนมขบเคี้ยว อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน และเจาะตลาดกลุ่มใหม่ที่มีกำลังซื้อ อาทิ จีน และ CLMV

“ ธุรกิจอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง ” เลือกที่จะต่างและต่อยอดสินค้าให้มีมูลค่าสูงด้วยการก้าวข้ามมาตรฐานสากล อุตสาหกรรมอาหารทะเล นับวันยิ่งแข่งขันยากขึ้น แต่ธุรกิจสามารถยืนหยัดได้ ด้วยการรู้จักตนเองว่าถนัดอะไร ยอมรับความจริง จึงสู้ได้ถูกทาง โดยวิเคราะห์ข้อมูลภาวะตลาดทั่วโลกอย่างหนัก หลีกหนีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและค่าแรงสูง ด้วยการเลือกทำในสิ่งที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น ทำฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งที่ผ่านการรับรองจาก ASC 6 เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังตลาดยุโรปได้ และมุ่งพัฒนามาตรฐานการผลิตทุกขั้นตอนให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่ม Value ในใจลูกค้า ทั้งนี้ การได้มาซึ่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง และตลาด Niche market ต้องเปิดตัวเองให้กว้าง รับฟังข้อมูลจากคู่ค้า วิเคราะห์เทรนด์ผู้บริโภคแล้วทำ R&D โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย รวมถึงคิดค้นสินค้าใหม่ และใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบเหลือใช้จากการผลิตสินค้าหลักมาต่อยอด

“ ธุรกิจโรงแรม ” ที่ไม่ได้บริการแค่ที่พัก แต่สร้างประสบการณ์เหนือความคาดหมายให้ลูกค้า และมุ่งสร้าง Story ที่ชัดเจนด้วยการคลุกคลีอยู่ในธุรกิจสร้างบ้านพักตากอากาศ จึงเห็นโอกาสและก้าวเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเริ่มจากความไม่รู้ แต่กล้าที่จะเปลี่ยน กล้าที่จะทำ ไม่ยึดติดกับกรอบการทำโรงแรมแบบเดิม ให้ความสำคัญกับการสร้างตัวตนที่ชัดเจน ว่าต้องเป็นแบรนด์โรงแรมที่ถ่ายรูปแล้วสวย และต้องสื่อสารออกไปอย่างชัดเจนให้ตรงกลุ่มลูกค้า นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือ การนำ Pain point ของลูกค้ามาออกแบบบริการให้เหนือความคาดหมาย เช่น ขยายเวลาอาหารเช้าถึงบ่ายโมง เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ตื่นสายจากการปาร์ตี้ยามดึก และลูกค้าที่อยากทานทั้งมื้อเช้าและเที่ยง อีกทั้งเลือกใช้วิธีการแก้ไขปัญหาจากการบริการในอุตสาหกรรมอื่นมาประยุกต์ใช้ เช่น การเสิร์ฟอาหารแบบเซ็ตหลาย ๆ จาน ที่ประยุกต์จากร้านชื่อดัง เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่า

จากเรื่องราวที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง ผู้เขียนพบว่ายังคงมีสิ่งที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอด ได้แก่

 

1)  ปรับวิธีคิด (Mindset) : กล้าที่จะเปลี่ยน เปิดใจให้กว้าง ไม่ยึดติดกรอบเดิม ๆ

2)  หาข้อมูลรอบด้าน : เพื่อเข้าใจผู้บริโภค เข้าใจคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง
3)  ไม่หยุดอยู่กับที่ : ออกเดินทางบ่อย ๆ ไปเจอโลก เจอผู้คน ไปเรียนรู้ จะช่วยให้เจอเส้นทางที่จะแปลงวิกฤติเป็นโอกาสได้มากขึ้น และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด คือ คอยทบทวนอยู่เสมอว่าเรามาถูกทางแล้วหรือไม่

อ้างอิง

1 Top-business-degrees.net

2 World Trade Statistical 2019 จัดทำโดย WTO

3  4 Globalization in Transition จัดทำโดย McKinsey Global Institute

5  forbes.com

6 Aquaculture Stewardship Council องค์กรไม่แสวงหากำไร ผู้ออกใบรับรองให้กับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบ, รูปภาพสัญลักษณ์จาก Flaticon และ Shutterstock

 

 

“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”