กาแฟคุณภาพ…ทางออกของเกษตรกรไทย

วริทธิ์นันท์ ชุมประเสริฐ | นุชนารถ คูประเสริฐ | อาทร เจียมเด่นงาม | อภิชญา ศรีรัตน์

02 มิ.ย. 2563

กาแฟจะเป็นทางออกให้เกษตรกรไทยได้อย่างไร? คงต้องเริ่มจากความสำคัญของกาแฟในปัจจุบัน โดยข้อมูลทางสถิติ1 พบว่า คนไทยดื่มกาแฟเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ต่อปี หรือดื่ม 300 แก้วต่อคนต่อปี ขณะที่คนต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่นดื่ม 400 แก้วต่อคนต่อปี และยุโรปดื่ม 500 แก้วต่อคนต่อปี รวมทั้งพฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนไทยเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก จากการดื่มเพื่อความสดชื่นสู่การดื่มเพื่อบ่งบอกไลฟ์สไตล์และรสนิยมเฉพาะของตน สะท้อนให้เห็นว่า ความต้องการบริโภคกาแฟมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้ากาแฟที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะการผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค2 นอกจากนี้ ยังมีช่องทางการตลาดที่หลากหลาย อย่างในช่วงการระบาดของ Covid-19 ที่ประชาชนอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ทำให้ผู้บริโภคหลายคนซื้อเมล็ดกาแฟมาชงเองผ่านการสั่งซื้อจากไร่หรือโรงคั่วผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะมีผู้ขายเพิ่มขึ้นจากแรงงานนอกเกษตรที่กลับท้องถิ่นและมีความรู้ด้านการทำการตลาดออนไลน์ จึงทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่อผู้บริโภคได้โดยตรง3

“เมื่อความต้องการกาแฟยังคงเพิ่มขึ้น แล้วเกษตรกรไทยควรมุ่งไปทางไหน เพื่อให้มีรายได้ที่ยั่งยืน?”

ต้องเน้นปลูกกาแฟประเภทใด?  เน้นที่ปริมาณผลผลิต หรือ เน้นคุณภาพ?

1. กาแฟ 101 : รู้จักสายพันธุ์และภาพรวมตลาดกาแฟไทย

 

มาทำความรู้จักกาแฟกันก่อน...ว่าด้วยเรื่อง ชนิดสายพันธุ์

 

ในโลกนี้มีกาแฟหลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่รู้จักกันทั่วไปมี 4 สายพันธุ์ คือ อะราบีกา โรบัสต้า เอ็กซ์เซลซ่า และลิเบอริก้า แต่เอ็กซ์เซลซ่า และลิเบอริก้าไม่นิยมปลูกเพื่อการค้า เนื่องจากรสชาติไม่ค่อยดี เราจึงเห็นเพียงอะราบีกา และโรบัสต้าวางจำหน่ายอยู่เท่านั้น อย่างไรก็ดี การปลูกอะราบีกามีข้อจำกัดมากกว่าโรบัสต้า เพราะเน้นปลูกในที่สูง อากาศเย็นและทนต่อโรคน้อย ทำให้ได้ผลผลิตน้อยกว่า แต่ด้วยราคาที่สูงกว่า จึงจูงใจให้เกษตรกรทั่วโลกยังคงปลูกอะราบีกาเป็นหลัก

ในประเทศไทย พื้นที่ปลูกอะราบีกาจะอยู่ทางภาคเหนือ ขณะที่ภาคใต้จะนิยมปลูกโรบัสต้า เนื่องจากภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสม

รู้หรือไม่?  เมล็ดกาแฟที่มาจากแหล่งเพาะปลูกเดียว (Single Origin) ช่วยเพิ่มมูลค่า ผ่านการบอกเล่าเรื่องราว

 

เมล็ดกาแฟที่มาจากแหล่งเพาะปลูกเดียว (Single Origin) จะมีรสชาติและเอกลักษณ์ตามกรรมวิธีการผลิตและแหล่งเพาะปลูก ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคหลายคนชื่นชอบที่จะเสพเรื่องราวของเมล็ดกาแฟในแต่ละสถานที่ โดยเมล็ดกาแฟ Single Origin ที่เป็นที่รู้จักกันมากในไทย อย่างเช่น กาแฟอมก๋อยฟูลมูน เชียงใหม่ ใช้เทคนิคเกษตรกรรมพึ่งพาธรรมชาติ เลือกเก็บผลผลิตก่อน-หลังวันพระจันทร์เต็มดวง ช่วยให้มีความหอมละมุน ขายได้ใน กก.ละ 1,000 บาท

 

เมื่อมองลึกลงไป...ว่าด้วยเรื่อง ตลาดกาแฟไทย

 

ในแต่ละปีความต้องการบริโภคกาแฟทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดปี 2562 มีความต้องการสูงถึง 10 ล้านตัน แต่หากดูข้อมูลการผลิตกาแฟทั่วโลก (หน้า 2/3) แทบจะไม่เห็นโอกาสสำหรับเกษตรกรไทย เนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่มาจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่เพียง 5 ประเทศ คิดเป็นส่วนแบ่งผลผลิตอะราบีกากว่า 75% และโรบัสต้ากว่า 90% ของผลผลิตทั่วโลกทั้งหมด อีกทั้งในด้านราคา พบว่า ราคาอะราบีกามีแนวโน้มลดลง ขณะที่ราคาโรบัสต้ายังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ดังนั้น หากเกษตรกรปรับมาผลิตกาแฟคุณภาพ จะช่วยเพิ่มการแข่งขันในตลาดโลกได้ เนื่องจากตลาดกาแฟทั่วไป ต้นทุนในไทยสูงกว่า ขณะที่ราคาไม่แตกต่างจากราคาโลก ซ้ำยังถูกแข่งขันมากขึ้นจากการเปิดเสรีนำเข้ากาแฟของสมาคมเศรษฐกิจอาเซียน5 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลตัวเลขการผลิตกาแฟ โดยเฉพาะโรบัสต้าที่ลดลงมากจากการลดพื้นที่ปลูก

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมการบริโภคกาแฟของคนไทยที่เปลี่ยนไป มีความต้องการกาแฟที่มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ทั้งร้านกาแฟพรีเมียมที่เป็นแฟรนไชส์ และร้านกาแฟท้องถิ่นที่เน้นกาแฟคุณภาพยังเห็นโอกาสเติบโต ส่งผลให้ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีร้านกาแฟสดเปิดใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละกว่า 6.2%6 มีการจ้างงานในสายอาชีพเพิ่มขึ้นมาก ทั้งบาริสต้า คนทำการแปรรูป และคนคั่วกาแฟ รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟ (Q-Grader) ที่ผ่านการรับรองโดยสถาบันคุณภาพกาแฟ หลายร้อยคน

 

นอกจากนี้ ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกาแฟไทยหลายรายเห็นตรงกันว่า7 คุณภาพกาแฟไทยดีกว่าในหลายประเทศ ทำให้ยังมีความต้องการสูงจากร้านกาแฟที่เน้นกาแฟคุณภาพ ทั้งนี้ แม้ว่าร้านกาแฟส่วนใหญ่ยังคงใช้อะราบีกาเป็นหลัก เพราะรสชาติที่ละมุนและกลิ่นที่หอมกว่าโรบัสต้า แต่ปัจจุบันพบว่าหลายร้านได้นำโรบัสต้าเกรดคุณภาพไปผสมกับอะราบีกา เพื่อดึงความเข้มข้นของกาแฟให้โดดเด่นขึ้นมา นอกจากนี้ อุตสาหกรรมกาแฟสำเร็จรูปที่ใช้โรบัสต้าเป็นหลัก ได้เริ่มออกผลิตภัณฑ์ที่เป็น Single Origin สำหรับโรบัสต้า เพื่อตอบสนองความต้องการกาแฟคุณภาพของลูกค้า8

ดังนั้น หากจะตอบคำถามที่ว่า “เกษตรกรควรมุ่งไปทางไหน? เพื่อมีรายได้ที่ยั่งยืน” คงต้องตอบว่าทางออกที่ดีที่สุดของกาแฟไทย ไม่ใช่การขายปริมาณ แต่เน้นขายคุณภาพ ที่เกษตรกรกำหนดราคาได้เอง

2. ทางออกเพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรมผลิตกาแฟคุณภาพ *

 

“กาแฟคุณภาพ คือ กาแฟที่ผู้กี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่เกษตรกรจนถึงผู้บริโภคให้ความสำคัญและใส่ใจ” เพื่อนำไปสู่การผลิตกาแฟคุณภาพ...จำเป็นต้องทลายข้อจำกัดที่อุตสาหกรรมกาแฟไทยกำลังเผชิญ

 

3. หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างจริงจัง จะช่วยให้กาแฟไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ต้นน้ำ (เกษตรกร)

  • หน่วยงานภาครัฐในแต่ละพื้นที่ผลักดันโครงการเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) มากขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมความรู้ในการปลูกกาแฟและการแปรรูปในชุมชน รู้จักบริหารจัดการการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของกาแฟ และสามารถเป็นต้นแบบเกษตรสมัยใหม่ให้กับเกษตรกรรุ่นพ่อแม่ในท้องถิ่นได้
  • หน่วยงานภาครัฐช่วยคัดเลือกและแจกจ่ายเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่
  • หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เช่น คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และกรมป่าไม้จังหวัด ควรเร่งจัดสรรที่ดินทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ์แต่เกษตรกรใช้ทำกินตกทอดกันมานาน ให้สามารถใช้เป็นที่ดินทำกินได้ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นไปตามเงื่อนไขการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ดียิ่งขึ้น
  • หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนเกษตรกรภาคเหนือปลูกกาแฟชดเชยพื้นที่ปลูกข้าวโพด เพื่อลดการเผาป่าและเป็นการช่วยรักษาป่าต้นน้ำ

 

กลางน้ำ (โรงคั่ว)

  • หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่เป็นตัวกลางผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้ประกอบการโรงคั่วกาแฟเอกชนรายใหญ่ รายเล็กและวิสาหกิจชุมชนมากขึ้น อาทิเช่น จัดอบรมเชิงปฏิบัติการโดยมีโรงคั่วกาแฟรายใหญ่มาเป็นผู้ให้ความรู้แก่โรงคั่ววิสาหกิจชุมชนหรือรายเล็ก โดยภาครัฐอาจให้การสนับสนุนด้านวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ แก่รายใหญ่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟไทย 

 

ปลายน้ำ (ร้านกาแฟ)

  • หน่วยงานภาครัฐทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟ (Q-grader) เพื่อต่อยอดสร้างการตลาดเมล็ดกาแฟ เช่น การสร้างเรื่องราวกาแฟและรสชาติเฉพาะในแต่ละพื้นที่ และทำงานร่วมกับผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล (Influencer) ผลักดันให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับจากร้านกาแฟและผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

 

หากภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันช่วยเกษตรกรยกระดับผลผลิตกาแฟให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อตอบสนองการบริโภคที่กำลังขยายตัวจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าของประเทศ

ภาคผนวก

บอกเล่าความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพกาแฟ

ต้นน้ำ (เกษตรกร)

 

ปัญหา: ขั้นตอนการผลิตที่มีรายละเอียด ต้นทุนการผลิตที่สูงและหนี้ครัวเรือนทำให้เกษตรกรไม่กล้าเปลี่ยน ซึ่งเชื่อมโยงเกษตรกรบางกลุ่มที่ยังการขาดความรู้ในการเพิ่มคุณภาพผลผลิต

ทางออก: เริ่มจากสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า “แม้ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น แต่ราคาที่ขายได้จะสูงกว่ามาก” เช่น ราคากาแฟโรบัสต้าเกรด A 400 บาท/กก. เกรด C 200 บาท/กก.10 โดยเกษตรกรอาจเริ่มต้นจากการปรับพื้นที่บางส่วนมาผลิตกาแฟคุณภาพและควรปลูกพืชผสมผสานเพื่อลดภาระต้นทุนและช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดปี

 

การปลูกกาแฟคุณภาพ ทำได้โดย

  • การเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมและสามารถปรับตัวได้กับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศ เช่น เกษตรกรไร่กาแฟในภาคใต้ส่วนใหญ่จะเลือกสายพันธุ์กาแฟชุมพรหรือสายพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งจะให้กาแฟผลดกและมีเมล็ดใหญ่
  • การใส่ใจกับการเตรียมพื้นที่ปลูก การให้น้ำ และการดูแลรักษา มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพกาแฟให้ดีขึ้น เช่น การเว้นระยะห่างพื้นที่ปลูก ทั้งกรณีปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยว หรือปลูกร่วมกับพืชอื่น มีการเว้นระยะไม่เท่ากัน การให้น้ำต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำฝน เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เกษตรกรสามารถศึกษาเพิ่มกับกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ได้
  • การเก็บเกี่ยวเลือกเฉพาะเมล็ดที่สุก ช่วยให้ได้กาแฟคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรบางส่วนยังนิยมเก็บกาแฟในลักษณะการรูดเก็บเพื่อความรวดเร็วและปริมาณที่มาก แต่จะทำให้ได้เมล็ดกาแฟที่ดิบปนสุก

 

ปัญหา: ขาดความรู้ในการเพิ่มมูลค่าหลังการเก็บเกี่ยว เกษตรกรนิยมขายผลเชอร์รี่สด ทำให้ขายได้ราคาต่ำ

ทางออก: เพิ่มมูลค่าเมล็ดกาแฟ โดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์และการทำให้เมล็ดกาแฟเป็นที่รู้จัก

 

1. การเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์

 

การแปรรูปผลเชอรี่สดผ่านกระบวนการแปรรูปอาจแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์และพื้นที่ เพื่อให้ได้กาแฟกะลาหรือกาแฟสาร ช่วยเพิ่มมูลค่าได้ กรณีตัวอย่างกาแฟอะราบีกา ราคาขายเมล็ดกาแฟกะลา กก.ละ 120-140 บาท ขณะที่ราคาขายกาแฟสารสูงถึง กก.ละ 160-200 บาท นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าแล้วยังช่วยเพิ่มระยะเวลาการเก็บระยะเวลารักษาได้ถึง 2 ปี

เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนกระบวนการแปรรูปกาแฟ

 

ไร่กาแฟโรบัสต้าแห่งหนึ่งใน จ.ระนอง ได้ลองผิดลองถูกพัฒนาคุณภาพกาแฟ จากเดิมเก็บเมล็ดแล้วตากแดดไว้บนพื้นดินก่อนนำส่งเข้าโรงงานหรือที่เรียกว่า Dry Process ต่อมาพบว่า สภาพอากาศของภาคใต้ที่มีความชื้นสูงและฝนตกชุก ไม่เอื้อต่อกระบวนการดังกล่าว จึงเปลี่ยนมาลองแปรรูปแบบเปียก หรือ Washed Process โดยใช้น้ำเป็นวัตถุดิบซึ่งหาง่ายในพื้นที่และมีคุณภาพดี รวมทั้งหากฝนตกก็สามารถคลุมปิดโดยที่เมล็ดกาแฟไม่เน่าได้ ผลตอบรับจากการปรับกระบวนการแปรรูป ทำให้กาแฟของไร่ดังกล่าวได้รับรางวัลกาแฟโรบัสต้าที่มีรสชาติโดดเด่นจากงาน Thailand Coffee Fest 2016 ปัจจุบันสามารถจำหน่ายเมล็ดกาแฟได้สูงถึง กก.ละ 600 บาท

 

2. การเพิ่มมูลค่าด้วยการทำให้เมล็ดกาแฟเป็นที่รู้จัก ได้แก่

 

  1. การเพิ่มคุณค่าด้วยรางวัลจากการประกวด ผลผลิตกาแฟในภาคเหนือที่ราคาสูง ส่วนใหญ่ได้รับรางวัลจากการประกวดกาแฟ หรือผ่านนักชิมกาแฟที่มีชื่อเสียง ทั้งนี้ คุณภาพของกาแฟขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ การเพาะปลูก และการทำ Process ที่ดี ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแต่กาแฟอะราบีกาเท่านั้นที่แข่งขันได้ โรบัสต้าเองก็มีการประกวดที่เป็นที่ยอมรับในทั่วโลก เช่น การจัดประกวดกาแฟพิเศษในงาน Thailand Coffee Fest ของสมาคมกาแฟพิเศษไทย หรือ SCATH โดยหลังจากการตัดสินแล้ว จะมีการประมูลกาแฟ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าของกาแฟ และยังเป็นโอกาสที่เกษตรกรได้พบกับผู้ซื้อโดยตรง (ไม่ผ่านคนกลาง) อีกด้วย
  2. การเพิ่มมูลค่าด้วยการสร้างแบรนด์ ซึ่งจะต้องมีการออกแบบในตัวสินค้า มีการจดทะเบียนสิทธิบัตร ตลอดจนเครื่องหมายการค้า
  3. การเพิ่มมูลค่าด้วยการรับรองความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety)  เช่น สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ของไทย

ปัญหา: พื้นที่ส่วนใหญ่ในการปลูกอะราบีกาไม่มีเอกสารสิทธิ์

ทางออก: ภาครัฐควรช่วยเหลือในการอนุญาตใช้พื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ให้แก่เกษตรกร นอกจากจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรกรกล้าลงทุนกับการสร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังช่วยลดปัญหาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดการเผาตอซังและเผาป่า ช่วยลดปัญหาหมอกควันได้ อย่างไรก็ตาม การจัดสรรที่ดินทำกินแม้จะเป็นนโยบายแก้ปัญหาระยะยาว แต่ท้ายที่สุดการมีที่ดินทำกินจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรและเป็นการผลิตที่เพิ่มมูลค่าในระยะยาว 

กลางน้ำ (โรงคั่ว)

 

ปัญหา: โรงคั่วกาแฟวิสาหกิจชุมชนบางแห่งยังขาดความรู้เกี่ยวกับกระบวนการคั่วกาแฟแต่ละชนิด

ทางออก: ส่งเสริมกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน อาทิ การแข่งประกวดการคั่วกาแฟ
เช่น Thailand National coffee Roasting Championship เนื่องจากโรงคั่วกาแฟส่วนใหญ่ค่อนข้างมีศักยภาพ การแลกเปลี่ยนความรู้จะช่วยยกระดับโรงคั่วกาแฟให้มีความรู้ด้านมาตรฐานยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่ากาแฟคั่ว นอกจากนี้ กระบวนการคั่ว ก็มีผลต่อรสชาติกาแฟ และการ Blend ก็มีผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการด้วย

 

ปัญหา: เกษตรกรที่ต้องการลงทุนทำกาแฟคั่วบดยังขาดความเชี่ยวชาญ และเงินทุนดำเนินการ

ทางออก: เกษตรกรในหลายพื้นที่มีการดำเนินงานในลักษณะวิสาหกิจชุมชนเพื่อช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภาครัฐง่ายขึ้น 

 

ปลายน้ำ (ร้านกาแฟ)

 

ปัญหา: ผู้บริโภคยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับกาแฟโรบัสต้า ทำให้ร้านกาแฟส่วนใหญ่ยังไม่กล้านำเข้ามาขาย

ทางออก: กระแสของโรบัสต้าคุณภาพหรือไฟน์โรบัสต้าเริ่มเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ร้านกาแฟไทยหลายร้านนำเสนอเมล็ดกาแฟไฟน์โรบัสต้าให้กับผู้บริโภคได้ลองมากขึ้น หากสามารถนำเสนอความพิเศษของกาแฟให้ผู้บริโภคได้ก็ยิ่งเป็นประโยชน์กับร้าน และช่วยสนับสนุนการเติบโตของกาแฟคุณภาพ

อ้างอิง

1 Euromonitor International (2018)

2 การค้าไทย กระทรวงพาณิชย์

3 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

4 Third Wave of Coffee บทความของ “Trish Rothgeb” 

5 นายกสมาคมชาวสวนกาแฟไทย

6 อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร

7 สัมภาษณ์เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านกาแฟ

8 เนสกาแฟ เรดคัพ ออริจิน ซีเล็คชั่น

9 ปัจจุบันเกษตรกรนิยมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในที่ดินทำกินแบบไม่มีเอกสารสิทธิ์ เนื่องจากต้นทุนถูก และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว  * การยกระดับกาแฟคุณภาพดูในภาคผนวก

10 ราคากาแฟโรบัสต้าแต่ละเกรดจากการสอบถามผู้ประกอบการโรงคั่ว

 

 

“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”