คว้าโอกาส ช่วงวิกฤต ... ชวนคิด นโยบายท้องถิ่น หลังโควิด

นางสาวทักษอร พรถาวร นางสาวณัคนางค์ กุลนาถศิริ นายปุญญวิชญ์ เศรษฐ์สมบูรณ์ นางสาวอนุสรา อนุวงค์ และคณะ [1]

19 พ.ค. 2563

คำว่า “ว่างงาน” และ “ประกันสังคม” ถูกค้นในกูเกิลเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจและวิถีชีวิตหลังจากนี้ คงบอกได้คำเดียวว่า “อาการหนัก” โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประเมินว่า คนไทยมีความเสี่ยงที่จะตกงานจากโควิดถึง 7 ล้านคน บางคนคิดว่า “ปีนี้เงินเดือนไม่ขึ้นไม่เป็นไร   ขอแค่ไม่ตกงานก็เป็นบุญมากแล้ว” พูดมาขนาดนี้ หมดหวังแล้วจริงหรือ ... ในวิกฤต ยังมีโอกาสเสมอ



นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คลุกคลีและแลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาชนในภูมิภาคทั้งภาคเหนือ อีสาน กลาง และใต้ สังเกตว่า ในช่วงวิกฤตนี้บางท้องถิ่นคิดและได้ทดลองใช้บางนโยบายในพื้นที่เล็ก ๆ จนได้ผลดี เราจึงอยากเล่าสู่กันฟังเผื่อมีโอกาสต่อยอดและขยายผลเป็นวงกว้าง บางนโยบายทำได้เลยในระยะสั้น บางนโยบายอาจต้องใช้เวลาในระยะยาว



สร้างรายได้ให้ฐานราก ด้วยนโยบาย “เปิดตลาดฟรีให้ชุมชน”

แนวคิดนี้เป็นการหาพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ค้ามาขายของได้ฟรี จริง ๆ คนให้พื้นที่ฟรีเป็นได้ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ มหาวิทยาลัย สนามกีฬา ลานห้างสรรพสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยบางแห่งเปิดพื้นที่ให้ขายของฟรีช่วงโควิด จึงปิ๊งไอเดียว่า แนวคิดนี้ขยายในวงกว้างได้ อีกทั้งอาจพลิกให้น่าสนใจมากกว่าการเป็นตลาดทั่ว ๆ ไป เช่น เปิดตลาดฟรีกับฟู๊ดทรัก ในบางจังหวัดก็จะเพิ่มความเก๋ให้ตลาดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ลูกค้าตระเวนถ่ายรูปแบบเท่ ๆ  โดยธุรกิจนี้มีจุดเด่นตรงที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่าเปิดร้านอาหารเองโดยเฉลี่ยเกือบ 6 เท่า [2] ไม่เสียค่าเช่า ค่ามัดจำ ค่าเฟอร์นิเจอร์ แถมยังคล่องตัวขับได้ไม่จำกัดทำเล สิ่งสำคัญ คือ ทำยังไงให้เกิดขึ้นได้และยั่งยืนซึ่งควรคำนึงถึง

1) จัดการพื้นที่ให้มีต้นทุนต่ำ เพราะถึงจะเป็นที่รัฐ ก็ยังคงมีต้นทุน เช่น ค่าจัดการขยะ ค่าทำความสะอาด จ้างคนดูแลความเรียบร้อย

2) การจัดการควรมีความโปร่งใส เช่น การคัดเลือกผู้ขาย มีสินค้าบริการที่หลากหลายตอบสนองความต้องการลูกค้า และ

3) หากเป็นที่ของเอกชน ภาครัฐอาจช่วยสนับสนุนผ่านการสร้างแรงจูงใจ (Incentive) เช่น ลดหย่อนภาษีให้เจ้าของพื้นที่ 

งานใหม่ กับนโยบาย “วินมอ’ไซค์ ไม่ใช่แฟนแต่ทำธุระแทนได้”

ช่วยคนตกงานผ่านวินมอ’ไซค์ โดยสร้างแพลตฟอร์มกลางที่จ้างพี่วินทำธุระแทนได้ เช่น ซื้อของในตลาด รับผ้าร้านซักรีด พาพ่อแม่ไปหาหมอ ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ที่มีมอเตอร์ไซด์ ทั้งพี่วิน แท็กซี่รับจ้าง หรือคุณลุงแถวบ้าน ซึ่งหากจะเริ่มนโยบายนี้ อาจเริ่มจากการไปคุยกับแพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้ว เช่น Buddy-สงขลา WeServe-ภูเก็ต Dino Khon Kaen-ขอนแก่น เพราะเข้าถึงง่าย ใช้งานสะดวก มีต้นทุนไม่สูง โดยผู้ริเริ่มก่อตั้งแพลตฟอร์มควรมีความชำนาญด้าน

1) การจับคู่ระหว่างพี่วินและลูกค้า

2) การสร้างระบบตรวจสอบ เช่น รีวิวหรือจัดอันดับ

3) การดูแลต้นทุนและผลประโยชน์ให้ลงตัวอย่างเป็นธรรมทั้งกับพี่วินและเจ้าของแพลตฟอร์ม และ 

4) การสร้างเครือข่ายลูกค้า เช่น ให้ส่วนลด สมัครสมาชิก

สร้างรายได้ให้กระจายในจังหวัด ด้วยนโยบาย “พลิกกิจกรรม สู่เงินหมุนเวียนในชุมชน”

เปลี่ยนกิจกรรมหรืองานอดิเรกมาสร้างรายได้และเงินหมุนเวียนในท้องถิ่น เช่น จัดกิจกรรมวิ่งมาราธอน ฟุตบอล Thai league มีตัวอย่างแล้วใน แม่ฮ่องสอน ครอสคันทรี่ หรือ บุรีรัมย์โมเดล พื้นที่อื่นสามารถนำไปต่อยอดและใช้จุดเด่นของจังหวัดจัดมหกรรมการแข่งขันให้ยิ่งใหญ่ ใช้โปรโมทที่เที่ยวในจังหวัด กิจกรรม แบบนี้จะดึงดูดคนให้มาใช้จ่ายในท้องถิ่น นักกีฬามีรายได้ ที่พัก ที่กิน ที่เที่ยว ร้านค้า รถรับจ้าง มีเงินหมุนเวียน จ้างงานต่อเป็นทอด ๆ กุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้คึกคัก ต้องมีภาคเอกชน คนในท้องถิ่น และ ผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล (Influencer) เป็นหัวเรือใหญ่คอยกระตุ้นให้คนสนใจ พูดปากต่อปาก ส่วนภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและกีฬาสามารถช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับคนในท้องถิ่น (Facilitator) ได้หลายด้าน อาทิ การประชาสัมพันธ์ การดูแลที่เที่ยวในจังหวัดให้สะอาดสวยงาม

ต่อยอดธุรกิจ อัพเกรดสินค้า กับนโยบาย “สองวัย ‘เก๋า’ ‘เก๋’ ร่วมด้วยช่วยกันคิด”

รวมคนสองวัยทำธุรกิจร่วมกัน โดยใช้จุดเด่นด้านทักษะของ “คนรุ่นเก๋า” ผสมกับ “คนหนุ่มสาว” ยกระดับธุรกิจหรือภาคเกษตรไทย (Skill and Business Matching) เพราะคนรุ่นเก๋ามีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาว ส่วนคนหนุ่มสาวมักมีความคิดเก๋ ๆ ชอบแข่งขัน ชอบปรับเปลี่ยน มีความรู้การค้าออนไลน์และเทคโนโลยี อยากลองชวนคิดให้เห็นภาพว่า สมมติมีเกษตรกรรุ่นเก๋าภาคอีสานต้องการขาย “ข้าวฮาง” แต่ลูกหลานที่ตกงานจากเมืองใหญ่มีไอเดียเก๋ ๆ เลยช่วยรุ่นเก๋าออกแบบถุงให้มีความชิคและตรงใจวัยรุ่น แล้วขายผ่านตลาดออนไลน์สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ปัจจุบันมีการรวมกลุ่ม Young Smart Farmer เกือบทั่วประเทศ แต่ไม่ค่อยเห็นคนรุ่นเก๋าจับมือหนุ่มสาวมากนัก หากไอเดียบรรเจิดแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ หัวใจสำคัญคงอยู่ที่ทัศนคติของรุ่นเก๋าและคนหนุ่มสาวต้องมีเป้าหมายเดียวกัน อีกทั้งภาครัฐอาจมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนอำนวยความสะดวก รวมถึงสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ เช่น จัดหาผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ เสนอเงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำ ลดหย่อนภาษีให้คนซื้อของ หรือช่วยรับซื้อของจากกลุ่มนี้

สร้างงาน สร้างคน ด้วยนโยบาย “ดูแลสูงวัย พัฒนาการศึกษาทางเลือก”

ปลดล็อคปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพและการศึกษาระหว่างเมืองใหญ่และท้องถิ่น แถมยังช่วยสร้างงานให้ชาวบ้านตอบโจทย์โควิดควบคู่กัน โดยการพัฒนาทักษะและจ้างงานคนในท้องถิ่นให้เป็นคนดูแลผู้สูงวัยและครูสอนการศึกษาทางเลือก (Active learning) เพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่อยู่ดีกินดี ปัจจุบันมีหลายท้องถิ่นพยายามผลักดันโครงการเช่นนี้ เช่น กาฬสินธุ์ ลพบุรี แต่โครงการดี ๆ เหล่านี้ยังสามารถขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้อีก สิ่งสำคัญ คือ ภาครัฐสามารถมีบทบาทในการเป็นผู้สนับสนุนในหลายด้าน เช่น ด้านงบประมาณ กฎระเบียบที่เอื้อในทางปฏิบัติ

 

นี่เป็นเพียง 5 ตัวอย่างนโยบายชวนคิดจากท้องถิ่น บางนโยบายทำไปแล้วแต่อยู่วงเล็ก ๆ  ยังมีอีกหลายนโยบายที่น่าสนใจแต่ยังไม่ได้ทำ จึงอยากชวนคิดว่ายุคหลังโควิดจะมีนโยบายอะไรอีกบ้างที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อได้ มักมีคนพูดเสมอว่า ในวิกฤตย่อมมีโอกาส หากอยากเปลี่ยนสิ่งยาก ให้เปลี่ยนช่วงวิกฤตเวลานี้จึงเป็นโอกาสที่จะมาร่วมด้วยช่วยกันคิด แล้วเราคนไทยจะผ่านโควิดนี้ไปด้วยกัน


 

อ้างอิง

[1] นางสาวสุทธิดา พาณิชย์พัฒนกิจ นางสาวอภิชญา จึงตระกูล นางสาวเพชรลักษณ์ บุญญาคุณากร นางสาวศรันยา อิรนพไพบูลย์

นางสาวอภิชญา ศรีรัตน์  

[2] Wessel, G. M. (2015). Mobilizing Food Vending: Rights, Communication Technology and Urban Space in the American City. UC Berkeley.


บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย