ชง “กัญชง” จากสิ่งเสพติดสู่พืชเศรษฐกิจใหม่

รสสุคนธ์ ศึกษานภาพัฒน์ | ดวงทิพย์ ศิริกาญจนารักษ์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

15 ม.ค. 2564

กัญชง เป็นพืชที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งจากเกษตรกรและนักธุรกิจ หลังจากรัฐบาลประกาศปลดล็อคให้สามารถผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชงได้เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรและภาคธุรกิจสามารถขออนุญาตปลูก ผลิต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ ครอบครอง และจำหน่ายได้ ซึ่งการปลดล็อคในครั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ไทยจะสามารถ ชง “กัญชง” ให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ที่จะช่วยเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรในระยะยาว ได้หรือไม่ ซึ่งบทความนี้ จะช่วยถ่ายทอดมุมมองต่าง ๆ จากการรวบรวมข้อมูล การสัมภาษณ์นักวิชาการและนักธุรกิจที่เชี่ยวชาญเรื่องกัญชง เพื่อตอบคำถามนี้

้hemp

1. กัญชง (Hemp) มีดีอย่างไร ?

 

1.1 ลักษณะของกัญชงที่โดดเด่นกว่าพืชชนิดอื่น ๆ

 

  • กัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp) เป็นพืชไร่ตระกูลเดียวกับกัญชา ทำให้มีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับกัญชามาก
  • มีปริมาณสารที่มีฤทธิ์ให้ผู้เสพมึนเมาและติดน้อยกว่ากัญชา ตามกฎหมายไทย (Tetrahydrocannabinol: THC) ไม่เกินร้อยละ 1 ของน้ำหนักแห้ง
  • มีสารช่วยต้านการเมาเคลิ้ม ลดอาการปวด อักเสบ อาการซึมเศร้า ช่วยให้นอนหลับลึก และต้านอนุมูลอิสระ (Canabidiol: CBD) สูงกว่ากัญชา
  • เส้นใย มีคุณสมบัติ ทน เหนียว น้ำหนักเบา กันความร้อนได้ดี สามารถดูดซับเสียงได้ และไม่มีเชื้อรา
avail

1.2 กัญชงทำอะไรได้บ้าง

 

กัญชงสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ช่อดอก ใบ เมล็ด เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก (ภาพที่ 1) ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรมทั้งการแพทย์ อาหารเสริม และเครื่อง สำอาง โดยใช้สารสกัด CBD จากช่อดอก น้ำมัน และโปรตีนจากเมล็ด ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ให้กับกัญชงเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีความต้องการจากตลาดสูง นอกจากนี้ เส้นใยและส่วนอื่นของกัญชง ยังสามารถใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง สิ่งทอ อาหารสัตว์ พลังงาน และปุ๋ย ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเช่นกัน 

"อย่างไรก็ตาม การปลูกกัญชงควรคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ วิธีการปลูก และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมโดยอยู่ภายใต้กฎหมายและมาตรฐานของสินค้า"

 

2. “กัญชง” น่า ชง  ให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย หรือไม่ ? 

 

จากมุมมองของนักวิชาการและนักธุรกิจที่สนใจลงทุนในอุตสาหกรรมกัญชงต่างเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตจาก 5 ปัจจัย ดังนี้

มุมมองฝั่งอุปทาน (Supply) : ไทยมีความพร้อมและได้เปรียบในการปลูกเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

2.1 สภาพภูมิประเทศและอากาศที่เอื้ออำนวย 

 

สภาพภูมิประเทศและอากาศที่เอื้ออำนวย กัญชงเป็นพืชที่เหมาะกับอากาศค่อนข้างเย็น 13-22×C  ส่งผลให้ปลูกได้ดีและให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงในพื้นที่เหนือเส้นศูนย์สูตร สำหรับไทยนับเป็นพื้นที่เหมาะสม โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ย 18-33×C 1/

2.2 ต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าต่างประเทศ 

 

    - ในไทยสามารถปลูก Outdoor ได้ตลอดทั้งปี เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย ซึ่งต้นทุนต่ำกว่าปลูกแบบ Indoor หรือ Green House แม้ว่าต้นทุนการปลูกเริ่มแรกจะสูงกว่าพืชอื่น แต่ในระยะยาวต้นทุนต่อหน่วยจะลดลง

 

    - แหล่งปลูกกัญชงสำคัญในตลาดโลกส่วนใหญ่ปลูกแบบ Indoor เนื่องจากอยู่ในเขตที่ฤดูหนาวมีหิมะปกคลุม ทำให้ปลูกตามธรรมชาติได้ปีละ 1 ครั้ง (ภาพที่ 2)

growing_area

2.3 ความพร้อมนักวิชาการและเกษตรกรที่มีทักษะ

 

    - กัญชงนับเป็นพืชที่ไทยมีการค้นคว้าวิจัยและปลูกมาช้านานและมีสถาบันการศึกษาทดลองและพัฒนาพันธุ์อย่างต่อเนื่องที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

 

    - เกษตรกรไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรประณีต ที่เหมาะกับการปลูกกัญชง ที่ต้องการความดูแลแบบ Intensive คล้ายกับการปลูกมะเขือเทศ แคนตาลูป และผักในบ้านเรา

 

มุมมองฝั่งอุปสงค์ (Demand) มีโอกาสโตและได้ผลตอบแทนที่ดี

2.4 ความต้องการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดโลก

 

    - ตลาดภายในประเทศ แม้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เห็นบางผลิตภัณฑ์มีราคาสูง เช่น น้ำมันจากเมล็ด ลิตรละ 500-1,200 บาท ราคา CBD ลิตรละ 100,000–120,000 บาท และหากแปรสภาพลิตรละ 180,000 บาท

 

    - ตลาดโลก คาดว่า ความต้องการผลิตภัณฑ์กัญชงจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 15.8% (2020-27) โดยในปี 2027 คาดว่าจะมีมูลค่า 15.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ*

2.5 ผลตอบแทนสูงกว่าพืชอื่น ๆ

 

    เมื่อเปรียบเทียบกับพืชไร่ท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่ราคาและปริมาณการผลิตค่อนข้างผันผวนตามทฤษฎีใยแมงมุม 2/ กัญชงนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร อาทิในพื้นที่ 1 ไร่เท่ากัน การปลูกกัญชงในที่โล่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าข้าว 6 เท่า และสูงกว่าข้าวโพดถึง 40 เท่า (เฉลี่ย 3 ปี พ.ศ.2561-63) และในโรงเรือนระบบน้ำหยดได้ผลตอบแทนสูงกว่าปลูกแคนตาลูปถึงประมาณ 3 เท่า 

ความท้าทายในการปลูกกัญชงสำหรับเกษตรกร

 

  • เป็นพืชที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด และสภาพแวดล้อมต้องให้เหมาะสมกับพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตและคุณภาพตามต้องการ
  • เป็นพืชที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพอากาศ คือ หากอากาศร้อนมากจะทำให้ค่า THC เพิ่มขึ้น ซึ่งหากเกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดต้องทำลายทั้งหมด หรือหากอากาศชื้นจะทำให้เกิดโรคโคนเน่า และเชื้อรา ส่งผลให้ผลผลิตเสียหายและเกษตรกรขาดทุน
  • เพื่อผลผลิตคุณภาพดีและปลอดภัยต่อการบริโภค ปลูก
    กัญชงควรปลูกตามมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) และการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ เพราะกัญชงสามารถดูดซึมสารต่าง ๆ จากดินได้มาก
  • การเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับเกษตรกรที่สนใจปลูกกัญชง แต่การเริ่มต้นปลูกต้องใช้เงินทุนมากกว่าการปลูกพืชไร่ชนิดอื่น
  • ความชัดเจนและความเข้มงวดของกฎหมาย หากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายหลังจะกระทบต่อการปลูกและการลงทุนก่อนหน้า รวมทั้งความสอดคล้องของกฎหมายกับการนำไปปฏิบัติจริง ที่บางส่วนอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการปลูกกัญชงโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่อาจมีอุปสรรคในการเริ่มต้นมากกว่า (Barrier to entry) นอกจากนี้ ไม่ควรนำช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อผลิตสารเสพติด 

3. ถอดบทเรียน จากประเทศผู้ผลิตกัญชงสำคัญในโลก

mpi
mpi

4. สรุปและข้อเสนอแนะ

 

“กัญชง” สามารถเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ให้กับเกษตรกรและภาคธุรกิจไทย จากความได้เปรียบในการปลูกเมื่อเทียบกับต่างประเทศและความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ราคากัญชงเป็นไปตามทฤษฎีใยแมงมุมเช่นเดียวกับพืชอื่น ๆ  หรือตามรอยประสบการณ์ต่างประเทศที่ราคาผลผลิตลดลงมากหลังจากทางการผ่อนคลายการผลิตมากขึ้น ควรควบคุมปริมาณผลผลิตในภาพรวม ด้วยการวาง Timeline ของทั้งตลาดให้ชัดเจนตั้งแต่การเริ่มเพาะปลูก ขณะเดียวกันกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องมีความชัดเจนและเหมาะสมกับข้อเท็จจริง ตลอดจนมีการควบคุมที่รัดกุม เพราะกัญชงสามารถให้ได้ทั้งคุณและโทษ นอกจากนี้ การส่งเสริมในมิติอื่น ๆ
ทั้งแหล่งเงินทุนสำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย การรวมศูนย์แหล่งข้อมูลและองค์ความรู้ที่ถูกต้องครอบคลุมทุกฝ่ายทั้งการผลิตและการบริโภค เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์นับเป็นปัจจัยสำคัญ และหากไทยสามารถทำตามปัจจัยทั้งหมดนี้ จะทำให้กัญชงไม่ได้เป็นเพียงพืชเศรษฐกิจตามกระแสในระยะสั้นเท่านั้น แต่จะช่วยหนุนให้กลายเป็น S-Curve ใหม่ใน Mega trend ระยะยาวได้อีกด้วย

 

"จากการแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักวิชาการและนักธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้เห็นมุมมองเพิ่มเติมที่ไทยควรทำโดยมี 6 สิ่ง ที่ควรเตรียมความพร้อมก่อนการปลูก และ 3 สิ่งที่ควรทำระหว่างการเติบโต เพราะไทยยังถือเป็นน้องใหม่ในตลาดกัญชงโลก ทำให้ในระยะเริ่มต้นอาจยังต้องลองผิดลองถูกในการปลูกพืชใหม่นี้ ไทยจึงควรค่อย ๆ ทยอยปลูก เพื่อเรียนรู้และ

สร้างความคุ้นชิน เหมือนกับการเดินอย่างมี STEP ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงหรืออุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้"

 

do&don't

 

บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีจากการสนับสนุนของนักวิชาการจากหลายหน่วยงานและนักธุรกิจที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการให้ข้อมูลต่าง ๆ  ที่เป็นประโยชน์ต่อบทความนี้ ผู้เขียนขอขอบพระคุณ เป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

 

 

หมายเหตุ:

 

1/ ขึ้นกับสายพันธุ์และสภาพแวดล้อมด้วย

 

2/ ทฤษฎีใยแมงมุม คือ เมื่อพืชไร่ราคาสูงเกษตรกรจะแห่กันปลูกจนปริมาณผลผลิตล้นตลาดแล้วราคาปรับลดลง

 

ที่มา: กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ.๒๕๖๓ และ คู่มือการปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ (ปี 2564)

 

ที่มา: *Grand View Research **การสัมภาษณ์นักวิชาการและนักธุรกิจ และหลักสูตรการอบรมการส่งเสริมการปลูก “กัญชง” พาณิชย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 

 

ที่มา: Economic Viability of Industrial Hemp in the United States: A Review of State Pilot Programs (USDA) , 2019 Hemp Annual Report (USDA), Hemp Cultivation In France: Situation And Opportunities (March 2., 2020)

 

 

 

 

“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”

.

.

.