รู้ทันเศรษฐกิจภูมิภาคยุคโควิด-19… ต้องตามติดอะไร ?

สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค

15 ก.พ. 2564

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง

 

ซึ่งกระทบในแต่ละพื้นที่ไม่เท่าเทียมและการฟื้นตัวของแต่ภาคส่วนไม่เท่ากัน ดังนั้น การติดตามเศรษฐกิจภูมิภาคจากเครื่องชี้ที่มีอยู่ ทั้งข้อมูลสถิติและการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการอาจไม่เพียงพอ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้พัฒนาการวิเคราะห์เศรษฐกิจภูมิภาคให้เข้มข้นและลุ่มลึกมากกว่าเดิมด้วยการดูข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจาก Digital Platform และข้อเท็จจริงในพื้นที่ เพื่อมาใช้เสริมการมองภาพเศรษฐกิจภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น และเพื่อช่วยสนับสนุนการกำหนดนโยบายได้อย่าง “เหมาะสม ตรงจุด และเพียงพอ” 1/

 

 

assessment

1. เพิ่มความไวและความลึก : เห็นผลกระทบไม่เท่าเทียม (ภาพรวมเศรษฐกิจ)

 

การวิเคราะห์เศรษฐกิจในช่วงวิกฤตเป็นช่วงที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะวิกฤติอย่างโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จึงต้องการข้อมูลและเครื่องมือที่รวดเร็วและทันกาลมากขึ้น ธปท. จึงนำข้อมูล Digital Platform อย่าง Facebook Movement Range Map ที่มีความถี่สูงเป็นรายวันและสามารถเจาะลึกถึงระดับรายอำเภอ มาช่วยสะท้อนการเดินทางของคนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังใช้คีย์เวิร์ดสำคัญที่ค้นหาบน Google อย่าง “ประกันสังคม” ที่แสดงถึงการหาข้อมูลสิทธิประกันสังคมของประชาชน สะท้อนความกังวลของประชาชนในพื้นที่ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นสอดคล้องกันว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 ระลอกใหม่มีน้อยกว่ารอบแรก

facebook_movement

โควิด-19 ส่งผลกระทบไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ 

 

การเคลื่อนที่ของประชาชนลดลงกว่าปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ หลังพบผู้ติดเชื้อที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาร์ สอดคล้องกับจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยในเดือน ธ.ค. 63 ของทั้งภาคเหนือและภาคใต้ที่หดตัวมากขึ้น

Partial Lockdown ช่วยลดผลกระทบนอกพื้นที่เสี่ยง 

 

หลังเริ่มมีระบาดระลอกใหม่ที่ จ.สมุทรสาคร การเดินทางของประชาชนลดลงอย่างชัดเจน แต่ยังไม่รุนแรงมากเท่ากับช่วงปิดเมืองในเดือน เม.ย. 63 (Total Lockdown) ซึ่งทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ได้รับผลกระทบเพียง 1 ใน 3 ของรอบแรก ขณะที่ภาคกลางได้ผลกระทบใกล้เคียงกับการระบาดรอบแรก นอกจากนี้ สถานการณ์หลังเดือน ก.พ. 64 มีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง ทำให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการ และประชาชนเริ่มกลับมาเดินทาง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมามากขึ้น

2. เพิ่มความครอบคลุม : รู้ทันการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน (รายสาขาเศรษฐกิจ

 

หากจะพิจารณาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคให้ชัดเจนขึ้น การใช้จ่ายด้านการบริโภคและการท่องเที่ยวเป็นเครื่องชี้หนึ่งที่ช่วยทำให้เห็นการฟื้นตัวได้ดี เพราะสะท้อนกำลังซื้อของประชาชนในพื้นที่ แต่ด้วยวิกฤตที่เป็นอยู่จึงจำเป็นจะต้องมองให้ครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิม เช่น เพิ่มการติดตามการใช้จ่ายของประชาชนทั้งผ่านช่องทางออนไลน์จากคำค้นหาบน Google หรือผ่านช่องทางเครื่องรูดบัตร ณ ร้านขายปลีก ซึ่งช่วยให้เห็นภาพครอบคลุมทุกประเภทของการใช้จ่าย และติดตามสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยผ่านระบบฐานข้อมูลจองห้องพักล่วงหน้า (SiteMinder) ที่ช่วยให้เห็นพฤติกรรมการท่องเที่ยวจากการเข้าพักในโรงแรมที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งเครื่องชี้เสริมเหล่านี้สะท้อนว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคฟื้นตัวต่างกันในแต่ละภาค โดยกำลังซื้อภาคใต้ยังไม่กลับมา

google_trends

การบริโภคในหมวดสินค้าออนไลน์มีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่องในภาคเหนือและภาคอีสาน ขณะที่ภาคใต้ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

 

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนออกไปจับจ่ายใช้สอยนอกบ้านได้น้อยกว่าปกติ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น สะท้อนจากคำค้นหาหมวดขนส่งพัสดุ (Parcel Delivery) บน Google ที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ปกติกว่า 70-80% นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังเห็นการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ที่ต่างกันระหว่าง 3 ภูมิภาค

การบริโภค ณ ร้านขายปลีก สะท้อนภาพกำลังซื้อที่ฟื้นตัวต่างกัน

 

ข้อมูลการซื้อสินค้าผ่านเครื่องรูดบัตร ณ ร้านขายปลีก ที่รวมการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคในแต่ละภาคฟื้นตัวต่างกัน โดยการบริโภคภาคเอกชนของภาคใต้ฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่น ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคของใต้ที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก 

การท่องที่ยวทยอยฟื้นตัวในบางจังหวัด แต่ยังไม่ดีเท่าก่อนโควิด-19

 

ข้อมูลยอดจองห้องพักล่วงหน้าจาก SiteMinder มีความรวดเร็วและครอบคลุมโรงแรมทุกขนาด สะท้อนว่าการท่องเที่ยวในเดือน ก.พ. 64 ตามการท่องเที่ยวของคนไทยยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

mpi

3. เสริมมุมองเชิงพื้นที่ : เห็นภาพที่ชัดและลุ่มลึกขึ้น (รายสาขาเศรษฐกิจ)

 

นอกจากการวิเคราะห์เศรษฐกิจให้ทันเหตุการณ์แล้ว การประเมินภาพเศรษฐกิจให้ครบยังต้องอาศัย ข้อเท็จจริงในเชิงพื้นที่เพื่อช่วยเสริมภาพให้ครอบคลุมมากขึ้น

การใช้ข้อเท็จจริงในพื้นที่และเพิ่มความครอบคลุม ช่วยอธิบายการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้ดีขึ้น 

 

ตัวอย่าง : ภาคอีสาน อุตสาหกรรมสิ่งทอมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ ดังนั้น การเพิ่มข้อมูลการส่งออกสิ่งทอซึ่งเป้นอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงในดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) จะช่วยสะท้อนภาพการผลิตของอีสานได้ดีขึ้น เนื่องจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ประกอบการสิ่งทอในภาคอีสาน พบว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 และมีการขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

mpi

ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ธปท. ได้เสริมมุมมองด้วย เครื่องชี้ที่ไว มีความครอบคลุม และสะท้อนภาพในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่สามารถนำมาวิเคราะห์ประกอบกันได้อีก เช่น การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA เพื่อประเมินผลผลิตเกษตรสำคัญ ซึ่งท้ายที่สุด การพัฒนาเครื่องมือเหล่านี้ ก็เพื่อให้ผู้ดำเนินนโยบายและประชาชนมั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคที่เราติดตามนั้นสามารถสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างทันเหตุการณ์และทั่วถึงมากที่สุด

 

change

หมายเหตุ

 

1/ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 1/2564

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด