มองเวียดนาม แล้ว “สะท้อนดูไทย” ยกระดับอย่างไร ให้แข่งขันได้ยั่งยืน ?
พิทูร ชมสุข ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
15 มี.ค. 2564
“เวียดนามแซงไทยแล้วหรือยัง” เป็นอีกหนึ่งคำถามที่คนไทยอยากรู้มากที่สุด ณ เวลานี้ หลังเวียดนามมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด บทความนี้จึงอยากพิจารณาความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามในแง่มุมต่างๆ เพื่อตอบคำถามนี้ พร้อมทั้งเรียนรู้ประสบการณ์ และนำมาปรับใช้กับไทย เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับศักยภาพ และการเติบโตของไทยอย่างยั่งยืน
เวียดนามมีลักษณะคล้ายไทยในหลายมิติ ทั้งที่ตั้ง และความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเมื่อพิจารณาด้านศักยภาพในการแข่งขัน หากเปรียบการพัฒนาประเทศกับการแข่งวิ่ง ไทยซึ่งออกจากจุดสตาร์ทก่อนด้วยการเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจที่เร็วกว่าทำให้ปัจจุบัน “ไทยยังวิ่งนำหน้าเวียดนามอยู่” แต่หากออกวิ่งพร้อมกัน (รูปที่ 1) คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “เวียดนามวิ่งได้เร็วกว่าไทย” สะท้อนจากที่สามารถยกระดับรายได้ต่อหัวได้ดีกว่า
WEF Competitiveness Report 20191/ (รูปที่ 2) สรุปว่า เวียดนามยังมีอันดับความสามารถในการแข่งขันโดยรวมต่ำกว่าไทย แต่มีคะแนนด้านการใช้ ICT และด้านตลาดสินค้าสูงกว่า อีกทั้งยังมีหลายด้านที่มีพัฒนาการที่รวดเร็ว เช่น ด้านทักษะ ตลาดแรงงาน พลวัตธุรกิจ และนวัตกรรม ขณะที่ไทยมีพัฒนาการลดลง ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทักษะ และสถาบัน สอดคล้องกับผลสำรวจของ JETRO ปี 20192/ สะท้อนว่า นักลงทุนญี่ปุ่นสนใจลงทุนที่เวียดนามมากกว่าไทย 3 ปีติดต่อกัน จากปัจจัยการเติบโตของตลาดในประเทศ การเข้าถึงตลาดต่างประเทศ ต้นทุนแรงงานต่ำ แรงงานมีคุณภาพ และการเมืองมีเสถียรภาพ
“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”