ปลดล็อกโกโก้ไทยอย่างไร...ให้ไปต่อได้

รัชณภัค อินนุกูล I ภัทรียา นวลใย I นราพร สังสะนา ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

15 มี.ค. 2564

โกโก้ถูกจับตาเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจใหม่ในปัจจุบันจากจุดเด่นที่สามารถปลูกได้ทั้งแบบเชิงเดี่ยว และแบบปลูกแซมเพื่อเป็นรายได้เสริมให้เกษตรกรตลอดทั้งปี อีกทั้งความต้องการโกโก้ยังมีต่อเนื่องทั้งจากในและต่างประเทศ ส่งผลให้โกโก้ไทยมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม โกโก้ไทยยังติดข้อจำกัดในหลายจุดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ บทความนี้ จึงชวนทุกท่านมาช่วยกันหาคำตอบเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

1. ทำไมโกโก้ไทยถึงถูกจับตามอง

 

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าประเทศไทยมีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศเหมาะสมในการปลูกโกโก้ เนื่องจากเป็นพืชเขตร้อนจึงเจริญเติบโตได้ดีในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร โดยเริ่มปลูกในภาคใต้และกระจายไปยังภาคอื่นทั่วประเทศ โกโก้เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของผู้คนทุกเพศทุกวัยมานาน และด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลาย ทำให้นิยมนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่รู้จักโกโก้ในรูปแบบช็อกโกแลต แต่กว่าจะมาเป็นช็อกโกแลต หรือกระบวนการที่เรียกว่า “Bean to bar” นั้น มีหลายขั้นตอนและเกี่ยวพันกับผู้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่เกษตรกรจนถึงร้านคาเฟ่ ซึ่งอาศัยความเชี่ยวชาญและการมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามตลาดต้องการ

สถานการณ์โกโก้ไทย

 

  • Supply Chain ของโกโก้และความได้เปรียบของไทย ประกอบด้วย
     

   - ต้นน้ำ (เกษตรกร) มีความได้เปรียบด้านพื้นที่ โดยสามารถปลูกได้ทุกภาค ซึ่งจำเป็นต้องคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และอาจต้องลงทุนระบบน้ำเพิ่มเติมในภาคเหนือและอีสาน ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกโกโก้ทั้งสิ้นราว 1,300 ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม การเติบโตของต้นน้ำใน
ระยะถัดไปยังเผชิญความท้าทายอยู่ไม่น้อย

   - กลางน้ำ-ปลายน้ำ (วิสาหกิจชุมชน/ผู้ผลิตช็อกโกแลต/โรงงานแปรรูป/ร้านคาเฟ่) บางกลุ่มมีองค์ความรู้ในการแปรรูปและสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์

 

  • ในช่วง 3 ปีมานี้ โกโก้ได้รับกระแสความนิยมมากขึ้น ทำให้พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อรองรับโอกาสในอนาคต ภาครัฐจึงมีแนวคิดในการส่งเสริมโกโก้ให้เป็นหนึ่งในพืชแห่งอนาคต (Future Crop) 

  • อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังผลิตโกโก้ได้น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องนำเข้ามาโดยตลอด ทั้งนี้ ปี 2559 ไทยนำเข้าโกโก้ 3.9 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นเป็น 4.2 หมื่นตันในปี 2563 และส่งออกเฉลี่ยปีละ 2.1 หมื่นตัน 
excoco
cocoa1
cocoa2

ประตูแห่งโอกาสของโกโก้ไทย 

 

โกโก้ไทยมีโอกาสเติบโตได้นับจากนี้ จากปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศบางส่วนแล้วยังช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการส่งออก

 

ความต้องการบริโภคยังเติบโตได้ต่อเนื่อง จาก…
 

  • การเติบโตของร้านคาเฟ่และขนม ทำให้ความต้องการนำโกโก้ไปเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องดื่มและขนมเติบโตตาม 
  • เทรนด์พฤติกรรมรักสุขภาพ เป็นโอกาสเติบโตของผลิตภัณฑ์จากโกโก้และช็อกโกแลตออร์แกนิคหรือพรีเมี่ยม โดยโกโก้มีประโยชน์หลายด้านทั้งช่วยลดความดันโลหิตสูง เพิ่มประสิทธิภาพด้านความจำ ช่วยให้อารมณ์ดีและป้องกันรักษาโรคซึมเศร้าได้ 1/
  • การเติบโตของห้างสรรพสินค้าและ E-commerce ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์จากโกโก้และช็อกโกแลตได้ง่ายและสะดวกขึ้น
  • โกโก้ไทยเริ่มเข้าสู่เวทีนานาชาติ โดยได้รับรางวัลในงาน International Chocolate Awards Asia-Pacific 2018 ทำให้เพิ่มโอกาสส่งออกไปตลาดโลกได้ในอนาคต
  • ตลาดผลิตภัณฑ์โกโก้โลกยังเติบโตได้กว่า 3% ในช่วงปี 2562-2569 (CAGR) 2/ จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น        
cocoa3
cocoa4

ปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากทั้ง…

 

พื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีนี้ และพื้นที่ที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ส่วนหนึ่งจากแผนการส่งเสริมของภาคเอกชน โดยโกโก้ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากสามารถเก็บผลผลิตได้ทุก ๆ 15 วัน หรือสร้างผลตอบแทนกรณีปลูกเชิงเดี่ยวปีละกว่า 30,000 บาท/ไร่ ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งมีส่วนทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาในประเทศและนำเข้าลดลง ซึ่งช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้เล่นกลางน้ำ-ปลายน้ำซื้อผลผลิตโกโก้จากในประเทศแทนการนำเข้ามากขี้น

cocoa6

2. โกโก้ไทยยังติดล็อกในหลายจุด
 

บทเรียนจากอดีต… ย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน ภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกโกโก้แซมสวนมะพร้าว เพื่อแก้ปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไม่มีองค์ความรู้ในการเพาะปลูกมากนัก ผลผลิตที่ได้จึงไม่มีคุณภาพ ประกอบกับมีการหลอกขายกล้าพันธุ์และไม่มารับซื้อตามสัญญา ทำให้ผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ เกษตรกรจึงโค่นต้นโกโก้ทิ้ง และเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโกโก้ได้รับความสนใจอีกครั้ง เนื่องจากมีราคาดีและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งภาครัฐมีแนวคิดในการส่งเสริมปลูกโกโก้ทดแทนยางพารา หรือปลูกแซมพืชอื่นเพื่อเสริมรายได้ ซึ่งการปลูกโกโก้ในไทยส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนนำการผลิตในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อให้มีตลาดรับซื้อที่ชัดเจน บทเรียนดังกล่าวสะท้อนว่า การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกโกโก้ ทุกฝ่ายจำเป็นต้องเข้าใจข้อจำกัดใน Supply Chain และดำเนินการปลดล็อกอย่างเป็นระบบ มิเช่นนั้นประวัติศาสตร์จะกลับมาซ้ำรอยเดิม ! 

แม้โกโก้จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีประตูโอกาสรออยู่ แต่การไปถึงจุดหมายปลายทางไม่ง่ายนักเนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่เป็นความท้าทาย

cocoa7
cocoa8
cocoa9

3. ปลดล็อกโกโก้ไทยอย่างไร…ให้ไปต่อได้

cocoa10
cocoa11
cocoa12

ร่วมมือร่วมใจเร่งปลดล็อกข้อจำกัดตลอด Supply Chain เพื่อสนับสนุนโกโก้ไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน 

 

 

หมายเหตุ :

1. ที่มา: โกโก้กับสมอง, ศาสตราจารย์นายแพทย์นิพนธ์ พวงวรินทร์

2. ที่มา: alliedmarketresearch, 2019                           

3. คำนวณภายใต้ข้อสมมติผลตอบแทนของต้นโกโก้ ณ ปีที่ 5 และ 1 ไร่ ปลูกโกโก้ 150 ต้น ทั้งนี้ รายได้อาจแตกต่างกันจากหลายปัจจัย เช่น ต้นทุน ราคารับซื้อ และผลผลิตต่อไร่ 

 

 

 

 

“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”

.

.

.