COVID ชวนคิด…ธุรกิจใต้จะลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวได้อย่างไร ?

ภัทรียา นวลใย | รัชณภัค อินนุกูล | กฤตยา ตรีวรรณไชย ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

15 ก.ค. 2564

ภาพรวมการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในภาคใต้

 

•  ภาคใต้พึ่งพาแรงงานต่างด้าวสูงมาโดยตลอด และสูงที่สุดในทุกภูมิภาค (รูปที่ 1) (ไม่นับรวมภาคกลางและ กทม.) โดยในปี 2563 มีสัดส่วนการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวอยู่ที่ 6.5% รองลงมาเป็นภาคอีสานและภาคเหนือ ตามลำดับ

 

•  แรงงานต่างด้าวกว่า 90% เป็นสัญชาติเมียนมา รองลงมาเป็นกัมพูชา และลาว (รูปที่ 2) โดยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคการผลิต ก่อสร้าง และเกษตร

 

•  การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้แรงงานต่างด้าวที่กลับภูมิลำเนา ยังกลับเข้ามาไม่ได้ ประกอบกับไทยชะลอการนำเข้าแรงงาน ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวในภาคใต้ลดลงไปกว่า 9 หมี่นคน 1/ ทำให้หลายธุรกิจเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงาน

south_labour1

ทำไมแรงงานต่างด้าวถึงมีความสำคัญในภาคใต้ ? 

 

1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักในภาคใต้ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) ต่างจากภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่อุตสาหกรรมสำคัญในภาคอีสานและภาคเหนือ อาทิ การสีข้าว และน้ำตาล ใช้เครื่องจักรเป็นหลักได้ ขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญในภาคใต้ อาทิ ยางพาราแปรรูป และอาหารทะเลแปรรูป มีขั้นตอนที่เครื่องจักรยังมีข้อจำกัดและไม่สามารถแทนที่แรงงานคนได้ เช่น การขูดแล่เนื้อปลา 

 

2) แรงงานไทยไม่นิยมทำงานบางประเภท ซึ่งเป็นลักษณะงานที่พบได้มากในสาขาเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ เช่น ในภาคเกษตรงานกรีดยางพาราที่ต้องทำในช่วงกลางคืน และงานเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มน้ำมันบนต้นปาล์ม ซึ่งอยู่สูงและมีใบปาล์มเป็นอุปสรรค ขณะที่แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานประเภทนี้ได้

 

3) Mismatch ในด้านระดับการศึกษา โดยภาคใต้มีประชากรที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นไปสูง (รูปที่ 3) ซึ่งไม่สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่วนใหญ่ใช้แรงงานเข้มข้น

 

4) การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้กำลังแรงงานในภาคใต้มีแนวโน้มลดลง โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (รูปที่ 4) ทำให้กำลังแรงงานลดลงและจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวมากขึ้น 

south_labour2

 

จากปัจจัยข้างต้น ภาคใต้จึงต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวอยู่อย่างน้อยในระยะสั้นและยังมีความท้าทายในการเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวมากขึ้นในระยะข้างหน้า

ภาคธุรกิจปรับตัวต่อการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวและมีข้อจำกัดอย่างไร ?

 

ธุรกิจในภาคใต้ตระหนักถึงความสำคัญของการลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวและได้ปรับตัวมาโดยตลอด เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวและเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ อย่างไรก็ดี การปรับตัวยังทำได้ค่อนข้างช้าและเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ ดังนี้

south_labour3
south_labour4

 

แรงงานต่างด้าวในภาคใต้…จะลดการพึ่งพาได้อย่างไร ?

 

ในระยะต่อไป การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม คือ ทางออกสำคัญในการลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว โดยที่ผ่านมา ภาครัฐได้ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ หลักสูตรอบรมช่างฝีมือ/เทคนิค โครงการ Digital Transformation และสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการวิจัยและพัฒนา (R&D) แต่จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการ พบว่า ยังมีบางประเด็นที่ภาครัฐสามารถพิจารณาผลักดันเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการปรับตัวของภาคเอกชนได้ ดังนี้

south_labour5

 

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น การปรับตัวของภาคธุรกิจยังทำได้จำกัด ทำให้อาจยังจำเป็นต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อมาบรรเทาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่เกิดขึ้นในช่วง COVID-19 โดยผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา และลาว) อยู่ในไทยและทำงานต่อไปได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 นอกจากนี้ ในระยะสั้นเช่นกัน ภาครัฐอาจพิจารณาจัดตั้งศูนย์ One Stop Service (OSS) เพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมายอย่างเช่นในปี 2560 โดยอาจตั้งเป็นศูนย์ประจำที่ชายแดน เพื่อช่วยลดเวลาและต้นทุนในการต่ออายุเอกสารของแรงงาน ซึ่งภาคธุรกิจประเมินว่า หากมีการจัดตั้งศูนย์ในลักษณะดังกล่าวเป็นประจำ 1-2 ครั้ง/ปี จะลดเวลาในการต่ออายุเอกสารของแรงงานลงเหลือเพียง 1 เดือน (จากเดิม 3-4 เดือน)

เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นทางออกหลักของปัญหาการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในภาคใต้ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดจำนวนแรงงานต่างด้าวแล้ว ยังช่วยเพิ่มศักยภาพ ความสามารถในการแข่งขัน และช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

หมายเหตุ :

 

1/ ส่วนต่างระหว่างเดือนมกราคม 2563 และสิงหาคม 2564

 

 

“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”

.

.

.