ยกระดับเศรษฐกิจอีสานด้วย Bio-economy
ศิรินัดดา ปรีชา | วัชรพงศ์ รัชตเวชกุล ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
15 ก.ย. 2564
เศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bio-economy เป็นแนวคิดภายใต้โมเดล Bio-Circular-Green Economy (BCG) ที่หลายประเทศนำมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ผ่านการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนการใช้ทรัพยากรในรูปแบบ Zero Waste ที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจชีวภาพเป็นกลไกหนึ่งในการยกระดับรายได้ประเทศ โดยแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้วยโมเดล BCG ปี 2564 – 2569 ได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 4.4 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 24% ของ GDP) และเพิ่มการจ้างงานกว่า 3.5 ล้านคน ในปี 2567 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ โอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมเกษตรของไทย โดยเฉพาะในภาคอีสานที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของประเทศ รวมทั้งเป็นพื้นที่รองรับแรงงานกลับถิ่นในช่วง COVID-19 จะถือโอกาสนี้ในการผลักดันและยกระดับเศรษฐกิจด้วย Bio-economyได้อย่างไร บทความนี้ขอรวบรวมข้อมูลและมุมมองต่าง ๆ จากเกษตรกร นักวิชาการ และผู้ประกอบการ มาถ่ายทอดให้ทุกท่านได้ติดตามกัน
เป็นแนวคิดการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านทรัพยากรชีวภาพ เพื่อปลดล็อกการผลิต โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมที่ “ทำมากถึงได้มาก” ไปสู่การผลิตแบบ “ทำน้อยแต่ได้มาก” ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสานกับองค์ความรู้ท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่การผลิต และยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการสร้างมลภาวะ สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ช่วยยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกร เช่น เนเธอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่นำแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพมาขับเคลื่อนภาคเกษตรอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้แรงงานภาคเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 57,000 ยูโรต่อคน สูงที่สุดในยุโรป และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3.5 เท่า (รูปที่ 1)
ผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากข้าว ผู้ประกอบการในประเทศอินเดียผลิตซิลิกาจากแกลบ เพื่อเป็นสารเสริมแรงในยางรถยนต์ ที่มีคุณสมบัติดีกว่ายางทั่วไป เช่น ความต้านทานต่อการสึกกร่อนได้ยาวนานขึ้น จึงช่วยประหยัดน้ำมันและอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้โรงสีข้าวมีรายได้เสริมจากการสกัดซิลิกาจากแกลบ ทั้งนี้ คาดว่า ตลาดซิลิกาของอินเดียจะมีมูลค่าสูงถึง 77.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 (ที่มา: Chun et al., 2020, www.aggrowth.com, www.entrepreneurindia.co)
ผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากอ้อยและมันสำปะหลัง ผู้ประกอบการในประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ โดยใช้กรดโพลีแลคติค (Poly Lactic Acid: PLA) ที่ได้จากพืชในกลุ่มแป้งและน้ำตาล เช่น อ้อยและมันสำปะหลัง เป็นองค์ประกอบ โดยเฉพาะการผลิตจากอ้อยที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ต่ำที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ต่อยอดไปสู่การผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง ยาและเวชภัณฑ์ ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นจากการเกิดธุรกิจชีวภาพ และแรงงานในภาคเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 45.5 % ในปี 2560 (ที่มา: European Commission 2017, Nowak et al., 2021)
สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ในภาคอีสาน ผลิตภัณฑ์ชีวภาพด้านอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้น (ฐานพีระมิด รูปที่ 2) ในกลุ่มพลังงานและเชื้อเพลิง เช่น การผลิตไฟฟ้าและเอทานอลจากวัตถุดิบและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ขณะที่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา เช่น
บริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในภาคอีสาน ต่อยอดการผลิตน้ำตาลแบบดั้งเดิมไปสู่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Bio-based Chemicals สำหรับการผลิตอาหารคนและสัตว์ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในขั้นที่ 3 ของปิรามิด เช่น สารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ต่ำ โพรไบโอติกส์ที่เป็นส่วนผสมในอาหารและนมสารสกัดจากยีสต์ที่ได้จากชานอ้อย สามารถต่อยอดไปในอุตสาหกรรมอาหารเสริมและยา นอกจากนี้ ร่วมกับบริษัทในต่างประเทศพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพขั้นสูงต่อไป
มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับภาคเอกชนผลิตแบตเตอร์รี่ลิเทียมไอออน โดยใช้สารนาโนซิลิกอนที่ได้จากแกลบเป็นส่วนประกอบขั้วแบตเตอร์รี่ ซึ่งเก็บพลังงานได้มากกว่าแบตเตอร์รี่ทั่วไป และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ภาคอีสานมีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรสูง ทำให้มีศักยภาพในการต่อยอด และจะได้รับประโยชน์มากจากการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ
อีสานเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพสำคัญของไทย โดยมีสัดส่วนผลผลิตที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญ อาทิ ข้าว อ้อยและมันสำปะหลัง ถึงครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ (รูปที่ 3) และมีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรคิดเป็น 1 ใน 5 ของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดในภาค โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์แป้ง น้ำตาล และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
ภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญต่ออีสาน โดยมีสัดส่วนสูง คิดเป็น 1 ใน 5 ของโครงสร้างเศรษฐกิจ (รูปที่ 4) และแรงงานอีสานกว่า 6.5 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมดอยู่ในภาคเกษตร (รูปที่ 5) นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอีสานส่วนใหญ่ยังเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร (รูปที่ 6) ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในอีสาน
มีความได้เปรียบเชิงพื้นที่ในการเชื่อมโยงไปยังตลาดสำคัญ ตามยุทธศาสตร์ชาติที่ยกระดับให้อีสานเป็นศูนย์เศรษฐกิจนวัตกรรมและการกระจายสินค้าไปสู่อนุภูมิภาคข้างเคียง โดยเชื่อมโยงตามแนวระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งโอกาสในการกระจายสินค้าไปสู่ตลาดสำคัญอย่างจีน จากเส้นทางรถไฟจีน-ลาว (รูปที่ 7)
ความพร้อมของหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เกษตรกร เอกชน สถาบันการศึกษา ที่มีการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัย (Innovation Center) เพื่อเป็นแหล่งศึกษา วิจัย เชื่อมโยง และถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างกันในพื้นที่อีกด้วย สำหรับครัวเรือนเกษตรอีสานเริ่มเห็นการนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น วิสาหกิจชุมชนอารยะฟาร์มจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ใช้องค์ความรู้ท้องถิ่น และการผลิตแบบ Zero Waste ในการแปรรูปข้าวหอมมะลิ เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น แป้งข้าวหอมมะลิปลอดกลูเตน เครื่องดื่มผงข้าวฮางงอก โจ๊กซองจากปลายข้าว และปุ๋ยชีวภาพจากแกลบ ซึ่งทำให้วิสาหกิจฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นและลดต้นทุนการผลิต
“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”
.
.
.