คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาว

ศุทธาภา นพวิญญูวงศ์ | สิรีธร จารุธัญลักษณ์ | อภิชญาณ์ จึงตระกูล สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

10 ม.ค. 2565

รถไฟจีน-ลาวที่ได้เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 4 ด้าน ได้แก่ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง1 ทั้งนี้ การค้าจะเป็นด้านแรกที่ได้รับโอกาสและผลกระทบ จากการทะลักของสินค้าขาเข้าได้ทันที  นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะทำให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย-จีนผ่านภาคอีสานทางบกมีบทบาทสำคัญมากขึ้น จากเดิมการขนสินค้าผ่านทางถนนก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่แล้ว จากประมาณร้อยละ 8 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 12 ในปี 25642 และหากมีเส้นทางรถไฟเข้ามาจะทำให้การขนส่งสินค้าเร็วกว่าทางถนนมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นทางเลือกที่ช่วยกระจายความเสี่ยงด้านการขนส่งได้ (รูปที่ 1) ดังนั้น เส้นทางรถไฟนับว่าเป็นการเปิดประตูการขนส่งเส้นทางใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสของการค้าข้ามแดนระหว่าง  3 ประเทศ ได้แก่ ไทย-ลาว-จีน มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับมณฑลยูนนาน

 

บทความนี้นำเสนอการวิเคราะห์ผลกระทบของการเปิดเส้นทางการขนส่งใหม่เส้นนี้ต่อภาคการค้าของไทยกับจีน รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในการแข่งขันบนเส้นทางที่ท้าทายนี้

โอกาส และความท้าทาย

 

เบื้องต้นไทยจะเผชิญกับความท้าทายของสินค้านำเข้าจากจีน แต่ในทางกลับกันไทยก็มีโอกาสในการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดมายังมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นปลายทางรถไฟ จากเดิมที่สินค้าไทย ส่วนใหญ่จะนิยมขนส่งไปทางจีนตะวันออกผ่านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางถนน รวมถึงมณฑลกว้างตุ้งและอื่น ๆ ทางเรือ

ด้านการนำเข้า

 

ไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากสินค้านำเข้าของจีนที่จะมีมากกว่าสินค้าส่งออกจากไทย ซึ่งสินค้าจากจีนจะเข้ามาไทยผ่านทางรางเพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยขนส่งผ่านทางรางมาก่อน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มวัตถุดิบต่าง ๆ และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ดี ไทยสามารถคว้าโอกาสจากการเข้ามาของสินค้ากลุ่มนี้ได้ เนื่องจากการขนส่งผ่านทางรางทำให้ต้นทุนทั้งระยะเวลาและค่าขนส่งถูกลง3 ดังนี้

1. กลุ่มวัตถุดิบต่าง ๆ และกลุ่มผลผลิตทางการเกษตร4(รูปที่ 2) อาทิ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์โทรคมนาคม ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผักผลไม้เมืองหนาว ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าเดิมอยู่แล้ว และการขนส่งผ่านทางรางจะยิ่งทำให้ต้นทุนของวัตถุดิบถูกลง จึงเป็นโอกาสในการนำเข้าสินค้าเพื่อเป็นซัพพลายเชน (Supply Chain) ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยสามารถผลักดันเพิ่มเติมได้

 

2. กลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ5 (รูปที่ 3) อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าแฟชั่น สินค้ากีฬาและการเดินทาง จะเข้ามาไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผ่านมณฑลยูนนานที่เป็นปลายทางรถไฟ จึงเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการประกอบธุรกิจการค้าและบริการอื่น ๆ เช่น ธุรกิจคลังสินค้า การบริการโลจิสติกส์ รวมถึงการเป็นตัวแทนจำหน่าย (Dealer) ทั้งนี้ ไทยควรมีการตั้งรับให้ดี เนื่องจากจีนมีมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจที่ค่อนข้างเข้มงวด เพื่อลดโอกาสที่นักธุรกิจจีนจะเข้ามาดำเนินการในไทยเอง

 

ด้านการส่งออก

 

ไทยมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังมณฑลยูนนาน รวมทั้งมณฑลใกล้เคียง โดยระยะแรกคาดว่าสินค้าส่งออก จะเป็นสินค้าเดิมที่เคยส่งออกไปมณฑลยูนนาน หรือสินค้าที่มีการขนส่งทางถนนอยู่เดิม

 

จากการวิเคราะห์ความต้องการสินค้าของจีนและศักยภาพการส่งออกของสินค้าไทย6 ซึ่งพิจารณาจากอัตราการเติบโตของตลาดเฉลี่ยและอัตราการขยายตัวของส่วนแบ่งตลาดไทยเฉลี่ยในทุกรูปแบบการขนส่ง  เทียบกับค่าเฉลี่ยระหว่างปี พ.ศ. 2559-2563 สามารถแบ่งสินค้าออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มแชมป์เปี้ยนส์ 2. กลุ่มที่พัฒนาได้ 3. กลุ่มที่ไทยส่งออกไปจีนเยอะแต่ความต้องการจากจีนน้อย 4. กลุ่มที่ไทยส่งออกไปจีนน้อยและความต้องการจากจีนน้อย (รูปที่ 4) พบว่า กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกไปจีนมีเพียง 2 กลุ่ม ดังนี้ 

1. กลุ่มแชมป์เปี้ยนส์ ได้แก่ ผลไม้ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบรถยนต์ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ และเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค รวมทั้งอาหารทะเล ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มที่ตลาดมีความต้องการ และส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ย  (รูปที่ 5)

  • ผลไม้ เนื่องจากเดิมจีนมีการนำเข้าจากไทยอยู่แล้ว (รูปที่ 6) อีกทั้งด่านหนองคายได้รับอนุมัติเป็นด่านที่อยู่ในพิธีสารการส่งออกและนำเข้าผลไม้ทางบกของจีนเพิ่มเมื่อ ก.ย. 2564 ทำให้ต่อไปไทยจะสามารถส่งออกผลไม้สดผ่านด่านหนองคายได้สะดวกมากขึ้น
  • กลุ่มเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค เดิมมีการนำเข้าเนื้อไก่แช่แข็งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี (รูปที่ 6) ซึ่งโอกาสของตลาดสินค้ากลุ่มนี้ และสามารถขยายประเภทสินค้าไปยังเนื้อสัตว์อื่น ๆ ที่ไทยมีศักยภาพ เช่น เนื้อโค และอาหารทะเล เนื่องจากมณฑลของจีนด้านตะวันตกมีประชากรชาวมุสลิมจำนวนมาก อีกทั้งไม่มีเขตติดทะเลและค่อนข้างห่างไกล ทำให้ต้องซื้ออาหารทะเลในราคาที่สูง

2. กลุ่มที่พัฒนาได้ เช่น เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ธัญพืช อาหารปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ (อาทิ กะทิสำเร็จรูป ซอสปรุงรส) น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล รวมถึงเครื่องหอม/เครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง แต่ส่วนแบ่งของตลาดของสินค้าไทยลดลงกว่าค่าเฉลี่ย (รูปที่ 5) หากไทยสามารถเพิ่มช่องทางการขายสินค้ากลุ่มนี้ อาทิ อาหารเครื่องดื่ม และเครื่องหอม/เครื่องสำอาง ไปเป็นสินค้า CBEC จะทำให้สินค้ามีศักยภาพมากขึ้น และสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ในอนาคต เนื่องจากทางการจีนมีการส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางนี้ 

ประเด็นพิเศษ : สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกของภาคอีสาน

สำหรับภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบโดยตรง สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออก คือ กลุ่มผลผลิตทางการเกษตร และเกษตรแปรรูป เนื่องจากเป็นสินค้าในกลุ่มแชมป์เปี้ยนส์  ที่มีความต้องการนำเข้าจากจีนมาก และภาคอีสานมีจุดแข็งด้านการเป็นแหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตรและปศุสัตว์ที่สำคัญของประเทศ 

 

1. อาหารแปรรูป ได้แก่ ผลไม้แปรรูป อาทิ สัปปะรดแปรรูป  ซึ่งได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากข้อตกลง RCEP7  และอาหารแปรรูปพร้อมทาน (Ready to Eat) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ฮาลาล เนื่องจากคนจีนด้านตะวันตกเป็นชาวมุสลิมกว่า 22 ล้านคน จึงเป็นโอกาสในการเปิดตลาดใหม่ด้านนี้มากขึ้น

 

2. ปศุสัตว์แปรรูป อาทิ เนื้อไก่แปรรูป และเนื้อโคขุน ซึ่งมีอัตราการเติบโตของตลาดเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในจีนสูงถึงกว่าร้อยละ 2,000 อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอีสานยังไม่ได้ส่งออกเนื้อโคประเภทนี้มากนัก สามารถพัฒนามาตรฐานการผลิตเพื่อคว้าโอกาสจากความต้องการนำเข้าของจีนที่มากขึ้น  

 

3. สินค้าของที่ระลึก โดยพัฒนาต่อยอดกับสินค้า OTOP ที่มีอยู่เดิมให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ผ้าฝ้าย ของใช้ทำจากยางพารา สินค้าความงามประเภทสปา ครีมขัดผิวที่ทำจากสมุนไพร เนื่องจากชาวจีนนิยมใช้สินค้าที่ทำมาจากธรรมชาติมากขึ้น 

 

4. ผลไม้สด ได้แก่ ทุเรียนภูเขาไฟ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง แต่ปัจจุบันอีสานมีปริมาณผลไม้น้อย ซึ่งเป็นโอกาสให้เกษตรกร ซึ่งเดิมปลูกพืชไร่ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ที่มีความผันผวนด้านราคา ปรับเปลี่ยนมาปลูกไม้ผลเพื่อการส่งออกมากขึ้น

โดยสรุปแล้ว การเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาว ส่งผลกระทบต่อภาคการค้าของไทย ทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้า เช่น วัถตุดิบ ผลผลิตทางการเกษตร และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าในช่วงแรกยังไม่สามารถดำเนินการได้สะดวก เนื่องจากยังมีการปิดพรมแดนทั้ง สปป. ลาว และจีน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

 

1. โครงสร้างพื้นฐานใน สปป. ลาว อาทิ Vientiane Logistics Park (VLP) ซึ่งเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าใน สปป. ลาว และด่านรถไฟโม่ฮานในจีนที่ยังดำเนินการได้ไม่สมบูรณ์

 

2. มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของจีน เช่น ความเข้มงวดด้านการนำเข้าสินค้าของจีน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโคโรน่าไวรัส โดยเฉพาะอาหารสดและผลไม้

 

3. มาตรการกีดกันทางการค้าด้านภาษีศุลกากร อาทิ ระเบียบพิธีการด้านการขนส่งทั้งใน สปป.ลาว และจีน อย่างไรก็ดี ข้อตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 1 ม.ค. 2565 จะมีส่วนช่วยบรรเทาข้อจำกัดด้านภาษีศุลกากรได้บ้าง และควรมีการหารือเรื่องการขนส่งร่วมกันระหว่าง สปป. ลาว และจีนเพิ่มเติม เพื่อให้การขนส่งไปจีนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น 

 

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ใน สปป. ลาว คาดว่าการขนส่งสินค้าจะสะดวกมากขึ้น ในช่วงกลางปีนี้ (มิ.ย. 2565) เป็นต้นไป ระหว่างนี้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs อาจเจอข้อจำกัดหลายด้านในการส่งออกสินค้าไปจีน ที่ทำให้ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายนี้

กุญแจสำคัญสู่การปลดล็อกข้อจำกัดในการทำการค้ากับจีน 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีข้อสังเกตดังนี้  

 

1. ระบบการชำระเงิน8

 

  • ช่องทางการชำระเงิน ผู้ประกอบการสามารถรับชำระเงินสกุลหยวนแบบ E-Payment ผ่านแอพพลิเคชั่น WeChat Pay หรือ Alipay ซึ่งมีบทบาทในช่องทางการขายออนไลน์มากขึ้น เพราะมีความสะดวก รวดเร็ว

 

  • ช่องทางการโอนเงินกลับไทย ผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกสินค้าไปจีนอย่างเป็นทางการส่วนใหญ่จะใช้ตัวแทนหรือนอมินีในการโอนเงินข้ามประเทศ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียและต้นทุนที่สูง 
    • ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการผ่านตัวกลาง (Third Party) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. แล้ว จำนวน 29 แห่ง  อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีเพียงบางรายที่ได้รับอนุญาตจากทางการจีนให้สามารถให้บริการรับชำระเงินข้ามประเทศจากจีนมายังไทยได้ (ข้อมูล ณ ม.ค. 2565)

 

2. การเริ่มต้นค้าขายกับจีนสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่

 

  • KNOW WHO (รู้ว่าใคร) ติดต่อหอการค้าไทยในจีน สมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน หรือสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ในภูมิภาคจีน เพื่อรับข้อมูลพื้นฐานของจีน สร้างเครือข่ายธุรกิจ และสร้างสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐบาล/สมาคม รวมทั้งมีโอกาสได้พบปะกับนักธุรกิจไทย-จีน เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางในการทำธุรกิจระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้น

 

  • KNOW HOW (รู้ว่าทำอย่างไร) 
    1. ตรวจสอบกฎระเบียบในการส่งออกสินค้าไปจีน จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    2. ศึกษาตลาดจีน โดยอาศัยการเดินทางรถไฟที่สะดวกเพื่อเข้าไปดูช่องทางการค้าในจีน ดูงานแสดงสินค้า รวมทั้งสร้างตราสินค้าเป็นของตัวเอง และผสมผสานสินค้าให้มีเอกลักษณ์เข้ากับวัฒนธรรมจีน

 

นอกจากนี้ การสร้างความร่วมมือที่ดีกับ สปป. ลาว จะเป็นข้อต่อสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การค้าผ่านเส้นทางนี้เติบโตไปด้วยกัน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการค้า และการลงทุนในการผลิตสินค้า เนื่องจากจีนมีข้อตกลงด้านการค้ากับ สปป. ลาว ร่วมกันในหลายด้าน

หมายเหตุ: 

1/ อ้างอิงงานศึกษา “เปิดหวูดรถไฟจีน-ลาว: นัยต่อเศรษฐกิจไทย” ทั้งนี้ ด้านการขนส่งยังไม่ได้รับผลกระทบทันที เนื่องจากยังไม่มีการเชื่อมโยงมายังไทยได้อย่างสมบูรณ์

2/ ที่มา: กรมศุลกากร คำนวณโดยผู้ศึกษา สัดส่วนช่องทางการขนส่งหลัก เฉลี่ย 2560-2564 ทางเรือ 73% ทางอากาศ 11%  ทางบก 9% อื่น ๆ 7%

3/ ที่มา: ธนาคารโลก (2560)  

4/ คำนวณจากสถิติการนำเข้าผ่านทางบกเดิม

5/ คำนวณจากสถิติการนำเข้าสินค้าที่มีศักยภาพจากมณฑลยูนนาน

6/ ประยุกต์จาก Boston Consulting Group Matrix (BCG Matrix) ที่มา:สถิติการนำเข้าส่งออกจาก Trade map (ปี 2559-2563) คำนวณโดยผู้ศึกษา

7/ ข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)

8/ ที่มา: ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทยณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

 

“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”               

.

.

.