ส่องทิศทางการท่องเที่ยวภาคใต้

ภัทรียา นวลใย สำนักงานภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย

28 ก.ย. 2566

ภาคการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันได้ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดว่าในปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวภาคใต้จะฟื้นตัวกลับมาเกือบ 70% ของช่วงก่อน  โควิด-19 และกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ในปี 2568

โครงสร้างการท่องเที่ยวภาคใต้ก่อนโควิด-19  

 

  • รายได้ภาคการท่องเที่ยวของภาคใต้คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ โดยรายได้กว่า 77% มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ประเทศพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 60% (รูปที่ 1)
  • เกือบ 70% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในภาคใต้เป็นชาวจีน ยุโรป และมาเลเซีย (รูปที่ 2) นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นสัดส่วนประมาณ 7.7% รวมถึงนักท่องเที่ยวอินเดียที่ขยายตัวมากขึ้นตั้งแต่ปี 2560 ก่อนเกิดโควิด-19

การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภาคใต้หลังโควิด-19

 

  • ก่อนเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นกลุ่มหลักที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลดีต่อเมืองรองในหลายจังหวัด และช่วยพยุงการท่องเที่ยวในเมืองหลักได้บ้าง ปัจจุบัน การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทยคิดเป็น 76% ของช่วงก่อนโควิด-19 (รูปที่ 3)
  • เมื่อเริ่มเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา จะเห็นว่ากลุ่มแรกส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปที่มีระยะเวลาเข้าพักนาน และเมื่อเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ชาวมาเลเซียซึ่งเป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวหลักเข้ามามากขึ้น ขณะที่ชาวรัสเซียเริ่มเพิ่มขึ้นชัดเจนในช่วงปลายปี 2565 นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มใหม่ ๆ ที่เดินทางเข้ามา อาทิ อิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย สำหรับชาวจีนมีเข้ามาบ้างหลังจีนเปิดประเทศ แต่ยังน้อยมากเนื่องจากเที่ยวบินที่ยังมีเพียง 22% ของช่วงก่อนโควิด-192 และการต่ออายุหนังสือเดินทางในจีนที่ยังล่าช้า ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมในภาคใต้ฟื้นตัวกลับมาที่ประมาณ 58% (รูปที่ 3) ทั้งนี้ การฟื้นตัวยังมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
  • อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภาคใต้ทั้งด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวยังช้ากว่าประเทศ เนื่องจากเที่ยวบินตรงที่ยังกลับมาน้อย (รูปที่ 4) และค่าตั๋วโดยสารที่ราคาสูง ขณะเดียวกันการระมัดระวังการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทย ทำให้การฟื้นตัวของด้านรายได้ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19

มองไปข้างหน้า ทิศทางการท่องเที่ยวภาคใต้จะเป็นอย่างไร

 

  • ธปท. และหลายหน่วยงานประมาณการว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยปี 2566 จะอยู่ที่ 27 – 30 ล้านคน (รูปที่ 5) ซึ่งยังต่ำกว่า 40 ล้านคนในปี 2562 และจะทยอยเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้ในปี 2567-2568 ซึ่งคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในภาคใต้จะฟื้นตัวเช่นเดียวกับประเทศ เนื่องจากกว่า 34% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยเดินทางมายังภาคใต้
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติในภาคใต้ที่ปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปสงค์ที่ยังมีต่อเนื่อง สอดคล้องกับเที่ยวบินที่ทยอยฟื้นตัวเช่นกัน โดย บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) คาดว่าจำนวนเที่ยวบินจะเข้าสู่ระดับปกติในปี 2567 สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวส่วนใหญ่พร้อมให้บริการ แม้มีบางส่วนที่ยังไม่กลับมาเปิด แต่ก็พร้อมหากนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้น
  • ทั้งนี้ คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกสัญชาติหลัก โดยชาวมาเลเซียมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงก่อนโควิด-19 ก่อนสัญชาติอื่น เนื่องจากนิยมเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวจึงไม่มีข้อจำกัดด้านเที่ยวบิน ด้านนักท่องเที่ยวชาวยุโรปมีแนวโน้มเข้ามามากขึ้นตามเที่ยวบินที่ฟื้นตัว เช่นเดียวกับชาวรัสเซียที่จะเข้ามามากขึ้น ส่วนหนึ่งจากผลของความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนคาดว่าจะเข้ามามากขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 25663   ซึ่งเป็นช่วงปิดภาคเรียนของจีน
  • ปี 2566 จึงคาดว่าจะมีผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติในภาคใต้ประมาณ 18 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 23 ล้านคน ในปี 2567 (รูปที่ 6) โดยจะกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2568
  • ขณะที่ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังเร่งไปมากในปี 2565 โดยในปี 2566 มีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในเดือน มี.ค.-เม.ย.66 แต่ยังมีปัจจัยด้านค่าครองชีพที่ยังคงกดดันกำลังซื้อ จึงคาดว่าจะมีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยประมาณ 21 ล้านคน และจะขยายตัวประมาณ 5% ใกล้เคียงระดับปกติ ในปี 2567 เพิ่มมาอยู่ที่ประมาณ 22 ล้านคน

อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวภาคใต้ อาจเพิ่มขึ้นกว่าที่ประมาณการ หากนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากกว่าคาด แต่ยังต้องติดตามปัญหาการขาดแคลนพนักงานสนามบินที่ส่วนกลาง ซึ่งเป็นปัญหาคอขวดที่อาจกระทบต่อการท่องเที่ยวภาคใต้ทางอ้อมได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวบางส่วนแวะเปลี่ยนเที่ยวบินจากส่วนกลางก่อนมาภาคใต้ รวมถึง การขาดแคลนแรงงานในธุรกิจโรงแรม ที่แม้ไม่กระทบต่อการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว แต่อาจกระทบต่อคุณภาพการให้บริการได้

หมายเหตุ:

 

1) ผู้เยี่ยมเยือน หมายถึง ผู้ที่เดินทางเพื่อการท่องเที่ยว และอื่น ๆ เช่น การเยี่ยมเพื่อน/ญาติ ทั้งที่พักค้างคืน และไม่พักค้างคืน โดยเป็นการพักค้างในสถานพักแรม บ้านญาติ/บ้านเพื่อน และอื่น ๆ โดยผู้เยี่ยมเยือนภาคใต้จะเป็นการนับผู้เยี่ยมเยือนในทุกจังหวัดของภาคใต้รวมกัน

2) OAG Aviation Worldwide Limited, March 2023

3) Chinese Traveler Sentiment Report,January 2023

4) สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

5) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ข้อมูลปี 62 และ ม.ค.-ก.พ.66), คำนวณโดย ธปท. 

 

 

“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”               

.

.