ยกระดับทุเรียนใต้ด้วยเทคโนโลยีและเกษตรกรยุคใหม่

สุรเชษฐ์ ศรีภูริรักษ์ | ณัฐชนน ภัทรภิญโญกุล | ณิชมล ปัญญาวชิโรกุล | กฤตยา ตรีวรรณไชย | ธนายุส บุญทอง สำนักงานภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย

08 ธ.ค. 2566

ทุเรียนก้าวขึ้นเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ แต่จะเจอกับความท้าทายที่มากขึ้น

 

ทุเรียนก้าวขึ้นเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยและภาคใต้ จากความนิยมบริโภคของจีนที่เพิ่มขึ้นมาก สะท้อนจากราคาทุเรียนที่ปรับตัวสูงขึ้น และเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และยะลา จนปัจจุบันทุเรียนสร้างมูลค่าให้กับภาคใต้ได้กว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี และคิดเป็น 13% ของมูลค่าสินค้าเกษตรทั้งหมด

แม้ว่าความต้องการบริโภคในอนาคตยังเติบโตดี แต่ทุเรียนไทย โดยเฉพาะทุเรียนภาคใต้ จะเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้น

1. การผลิตภาคเกษตรโดยรวมเผชิญสภาพอากาศแปรปรวน และต้นทุนการปลูกสูงขึ้น เช่น ค่าแรง ค่าปุ๋ย

2. ตลาดทุเรียนไทย เผชิญคู่แข่งในตลาดจีนเพิ่มขึ้น ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอาจมีคู่แข่งอื่นอีกในอนาคต นอกจากนี้ ในระยะยาว ตลาดจีนมีโอกาสเกิดภาวะผลผลิตล้นตลาด (Oversupply)1/

3. ผลผลิตทุเรียนต่อไร่ของภาคใต้ยังไม่สูงนัก ทำให้แข่งขันได้ยาก และยังเจอปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ เช่น ทุเรียนอ่อน หนอนเจาะผลทุเรียน

ปัจจุบัน มีการขับเคลื่อนการยกระดับทุเรียนในหลากหลายมิติ เช่น การส่งเสริมความรู้เกษตรกร การควบคุมมาตรฐานล้ง การบริหารเส้นทางขนส่ง การขยายตลาดทั้งในจีนและประเทศอื่น รวมถึงอีกหนึ่งในแนวทางที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ “การปรับใช้เทคโนโลยีการเกษตร” ซึ่งจะช่วยเสริมให้ทุเรียนไทยและภาคใต้สามารถก้าวข้ามความท้าทายได้ในอนาคต

“เทคโนโลยี” ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และพัฒนาคุณภาพทุเรียนได้ในคราวเดียว

 

ธปท. สำนักงานภาคใต้ ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีในสวนทุเรียน จึงจัดสัมมนาวิชาการสัญจร โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ อาทิ เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ รวมถึงสถาบันการเงิน มาร่วมกันขับเคลื่อน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. เทคโนโลยีการเกษตร (Agritech) เป็นแนวทางการทำเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี ข้อมูล และนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งต่างจากทำการเกษตรแบบดั้งเดิมที่ใช้แรงงานเยอะ มีต้นทุนสูง และอาศัยประสบการณ์และความเคยชินเป็นหลัก

2. ประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีในสวนทุเรียนมีทั้งการเพิ่มผลผลิต วางแผนการผลิตได้เหมาะสมแม่นยำมากขึ้น รวมถึงลดต้นทุน ใช้ปัจจัยการผลิตเท่าที่จำเป็น และพัฒนาคุณภาพ ตรวจจับโรคและศัตรูพืชได้เร็ว มีข้อมูลตรวจสอบย้อนกลับได้

nomad3

แม้ว่าการใช้เทคโนโลยีจะมีประโยชน์มาก แต่ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ยังปรับใช้น้อย

 

สวนทุเรียนในภาคใต้ยังปรับใช้เทคโนโลยีไม่มาก ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน จ.ชุมพร และเป็นเพียงเทคโนโลยีขั้นต้น เช่น ระบบเปิด-ปิดน้ำด้วยโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเกษตรกรยังพบเจอ 3 อุปสรรคสำคัญ ดังนี้

1. สภาพพื้นที่ปลูกทุเรียนในภาคใต้ยากต่อการปรับใช้เทคโนโลยี เพราะส่วนใหญ่เป็นสวนขนาดเล็ก และบางส่วนอยู่บนภูเขา

2. ขาดความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญู่สูงอายุและคุ้นชินกับการทำสวนแบบดั้งเดิม และเข้าไม่ถึงผู้ให้บริการทางเทคโนโลยี

3. ขาดเงินลงทุนในเทคโนโลยีขั้นกลาง-สูง หากมีเงินจะนิยมลงทุนขยายพื้นที่ปลูกมากกว่า ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนมาก  

การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เป็นตัวช่วยสำคัญในการยกระดับการใช้เทคโนโลยีของเกษตรกร

 

ปัจจุบัน หลายหน่วยงานในภาคใต้ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีการทำงานเชิงรุกและประสานความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยปิดข้อจำกัดและเพิ่มการปรับใช้เทคโนโลยีของชาวสวนทุเรียนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านหลายโครงการ

nomad5

การปลูกทุเรียนนั้นดูแลยาก ขึ้นชื่อว่า “ปลูกทุเรียนแล้วเรียนไม่รู้จบ” เกษตรกรทุเรียนจึงถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องการใช้เทคโนโลยี ที่ปัจจุบันมีแหล่งความรู้มากมาย ไม่ได้ยากเกินตัว และสามารถเริ่มต้นได้ด้วยต้นทุนไม่สูงนัก ดังนั้น หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของชาวสวนทุเรียนภาคใต้อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เชื่อว่าจะทำให้ทุเรียนใต้สามารถก้าวข้ามความท้าทายได้ในอนาคต และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้ที่สำคัญได้ต่อไป


1/ อ้างอิงข้อมูลจาก Regional Letter ฉบับที่ 5/2566 เรื่อง “จับตาสถานการณ์ทุเรียนไทย เมื่อคู่แข่งรุก บุกตลาดจีน” โดย ธปท. สำนักงานภาคใต้

 

บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย