เปิดหวูดรถไฟสายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ นัยต่อเศรษฐกิจภูมิภาค

ศิรินัดดา ปรีชา | เบญจมาภรณ์ อมรเลิศพานิช | ธนพร ดวงเด่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

18 ก.ค. 2567

 

รถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นอีกหนึ่งเส้นทางใหม่ในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย ซึ่งช่วยกระจายความเจริญด้านการคมนาคมให้ครอบคลุมจังหวัดในภาคเหนือตอนบนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและจีนตอนใต้ ผ่านเส้นทาง R3A ซึ่งปัจจุบันเป็นเส้นทางที่สะดวกและสั้นที่สุด อันจะก่อให้เกิดผลดี ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ในจังหวัดที่มีรถไฟผ่าน และตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่ รวมทั้ง ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เส้นทางรถไฟทางคู่ดังกล่าวต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571 การเตรียมตัวพร้อมรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น บทความนี้จะนำเสนอเรื่องราวเส้นทางรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ถอดบทเรียนจากต่างประเทศถึงประโยชน์ของการมีเส้นทางรถไฟ โอกาส ศักยภาพและความท้าทายในพื้นที่ รวมทั้งประเด็นชวนคิดเพื่อรองรับกับโอกาสดังกล่าว

1. โครงข่ายการขนส่งของไทย และรู้จักรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

  • ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พบว่า ปัจจุบันการขนส่งของประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้ทางถนนถึง 78.7% รองลงมาคือ ทางน้ำ 19.3% ทางราง 2.0% และทางอากาศ 0.01% 

  • อย่างไรก็ดี แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2561-2580) ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบรางมากขึ้น เพื่อเป็นระบบการขนส่งหลักที่เชื่อมโยงกับการขนส่งรูปแบบอื่นทั่วภูมิภาคของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน แต่การขนส่งทางรางกว่า 90% ยังเป็น “ทางเดี่ยว” ต้องรอสับราง ทำให้ล่าช้า ไม่ตรงเวลา

  • การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงตั้งเป้าเปลี่ยน “ทางเดี่ยว” ให้เป็น “ทางคู่” ให้ได้ 65% ในปี 2567 และเพิ่มทางคู่สายใหม่อีก 12 เส้นทาง ผ่าน 61 จังหวัด ระยะทางรวม 6,463 กิโลเมตร (กม.)

  • สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ รถไฟ “ทางเดี่ยว” ที่จะปรับเป็น “ทางคู่” มี 2 เส้นทาง [รูปที่ 1] คือ เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย และเส้นทางเด่นชัย-เชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังจะมี รถไฟทางคู่ สายใหม่อีก 3 เส้นทาง คือ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (แนวเหนือ-ใต้) เส้นทางแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ และเส้นทางนครสวรรค์-บ้านไผ่ (แนวตะวันออก-ตะวันตก)
train-01

รู้จัก…รถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

 

  • วัตถุประสงค์เพื่อขนส่งทั้งสินค้าและผู้โดยสาร มีมูลค่าโครงการ 85,345 ล้านบาท ระยะทาง 323 กม. จำนวน 26 สถานี ความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. ขนาดความกว้างราง 1 เมตร มีลานกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า รองรับการเชื่อมต่อกับศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 การออกแบบแต่ละสถานีมีความเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เหมาะกับการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าและผู้โดยสารในอนาคต [รูปที่ 2] 

  • เส้นทางรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการขนส่งแบบ multimodal transportation ที่จะช่วยเชื่อมต่อการขนส่งโดยรถไฟเข้าใกล้ประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น ผ่านเส้นทางถนน R3A (เชียงของ (ไทย)-โม่ฮาน (สปป.ลาว)-คุนหมิง (จีน)) นอกจากนี้ ยังสามารถขนส่งไปยัง สปป.ลาว ผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว และไปยังจีนผ่าน The Pan-Asia Railway Network ซึ่งเชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียนได้
train-02

ที่มา : 1/ วราวุฒิ เรือนคำ และ ฉัตรฤดี จองสุริยภาส. “วิเคราะห์ผลประโยชน์จากโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ : มุมมองของจังหวัดเชียงราย” วารสารเศรษฐศาสตร์รามคำแหง ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 ก.ค.-ธ.ค. 2559  

 

2. ถอดบทเรียนจากต่างประเทศถึงประโยชน์ของการมีเส้นทางรถไฟ

train-03
train-04
train-05

ที่มา : 2/ https://opentransportationjournal.com/VOLUME/10/PAGE/35/FULLTEXT/

3/ https://indianrailways.gov.in/railwayboard/uploads/directorate/secretary_branches/IR_Reforms/Kisan%20Rail%20-%20A%20Boon%20for%20Farmers.pdf3/ https://indianrailways.gov.in/railwayboard/uploads/directorate/secretary_branches/IR_Reforms/Kisan%20Rail%20-%20A%20Boon%20for%20Farmers.pdf

4/ https://documents1.worldbank.org/curated/es/933411559841476316/pdf/Chinas-High-Speed-Rail-Development.pdf

5/ https://blogs.worldbank.org/en/transport/climate-action-how-can-eu-countries-unlock-potential-railways,

6/ http://www.lmcchina.org/tha/2024-03/18/content_42728327.html

7/ https://krungthai.com/Download/economyresources/EconomyResourcesDownload_488China_Laos.pdf

8/ https://openknowledge.worldbank.org/server/api/core/bitstreams/c72cc1cf-b944-57e8-9f35-7deb6380269d/content

 

3. โอกาสและศักยภาพของเส้นทางรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

1. โอกาสในการลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าระยะไกล: 

 

การขนส่งสินค้าทางรถไฟช่วยลดค่าขนส่ง 1.17 บาท/ตัน/กม. เมื่อเทียบกับทางถนนโดยใช้รถบรรทุก คิดเป็นต้นทุนค่าขนส่งที่ลดลงในไทย (กรุงเทพ-เชียงของ) 990 บาท/ตัน /9 และด้วยศักยภาพของเส้นทาง R3A ซึ่งเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดจากด่านเชียงของ จ.เชียงราย ไปยังเมืองคุนหมิง ประเทศจีน ระยะทาง 1,048 กม. ใช้เวลา 20 ชม. ทำให้มีการขนสินค้ากลุ่มผลไม้และพืชผักผ่านเส้นทาง R3A มากที่สุด หากเทียบกับการขนส่งทางบกทั้งหมด นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อการขนส่งรูปแบบอื่นในพื้นที่ เช่น ท่าเรือเชียงแสน ที่เชื่อมไปยังท่าเรือกวนเหล่ย (จีน) อีกด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการขนส่งให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลผลไม้ 

train-06

2. โอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าเดิมที่มีศักยภาพด้วยต้นทุนถูกลงและโอกาสใหม่ในการเข้าถึงตลาด e-commerce ของจีน:

 

ภาคเหนือเป็นประตูการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนจากมูลค่าส่งออกสินค้าไปเมียนมา สปป.ลาว และจีน ในปี 2566 ผ่านด่านชายแดนภาคเหนือ สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ (37%) โดยมีด่านเชียงของส่งออกเป็นอันดับ 5 ของประเทศ (11%) และส่งออกผลไม้ไปจีนเป็นอันดับ 1 ของประเทศ (25%) เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย และเพิ่มโอกาสให้สินค้าในกลุ่มที่คนจีนนิยม เช่น เสื้อผ้า หัตถกรรม และเครื่องสำอาง เพื่อส่งออกไปตลาด Retail e-commerce ของจีน ซึ่งมีมูลค่าการขายใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงสินค้ากลุ่มไม่เน่าเสียง่ายและมีน้ำหนัก เช่น ปูนซีเมนต์ ที่มีศักยภาพในการส่งออกไปลาว

train-07

3. กระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่: 

 

ภาคเหนือมีศักยภาพด้านท่องเที่ยว จึงคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ทั้งการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และสุขภาพที่รองรับสังคมสูงวัย สะท้อนจากรายได้ท่องเที่ยวในภาคเหนือ คิดเป็น 9.2% ของประเทศ ขณะที่รายได้ท่องเที่ยวในพื้นที่ 4 จังหวัดที่เส้นทางรถไฟจะผ่าน* เพิ่มขึ้นจาก 19% ในปี 2562 เป็น 29% ในปี 2566 ดังนั้น การสร้างกลยุทธ์การท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัด การท่องเที่ยวแบบไป-กลับ ให้สามารถเชื่อมกับเส้นทางรถไฟที่มีขบวนท่องเที่ยวอยู่แล้ว จะยิ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาคมากขึ้น นอกจากนี้ การเข้ามาของนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านจะช่วยกระตุ้นรายได้แรงงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและการค้าด้วย

train-08

4. โอกาสในการส่งเสริมโลจิสติกส์สีเขียวในภูมิภาค:

 

การขนส่งทางรถไฟปล่อยก๊าซ CO2  ต่ำสุดเมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่น โดยกรณีขนส่งเฉพาะผู้โดยสาร จะปล่อยก๊าซ CO2 24 กรัมต่อการเดินทาง 1 กม. สำหรับกรณีขนส่งสินค้า 1 ตัน แบบที่มีตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นด้วย จะปล่อยก๊าซ CO2 60 กรัมต่อการเดินทาง 1 กม. ทำให้ผู้ประกอบการที่ขนส่งสินค้าทางรถไฟมีโอกาสในการขายคาร์บอนเครดิต

train-09

 

4. ความท้าทายและประเด็นชวนคิดของเส้นทางรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

01 การเชื่อมต่อของระบบรางที่ครบวงจรแบบไร้รอยต่อ

 

  • การขนส่งระบบรางจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากเชื่อมต่อแบบครบวงจรและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควบคู่กัน อาทิ การเชื่อมต่อของระบบรางในประเทศกับถนนไปถึงปลายทางในประเทศคู่ค้า ผ่านความร่วมมือสาขาคมนาคมขนส่งภายใต้กรอบ GMS (GMS Cross-Border Transport Agreement : CBTA) ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามพรมแดน 5 ประเทศ (ไทย สปป.ลาว จีน เวียดนาม กัมพูชา) รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เพื่อควบคุมระยะเวลาการขนส่งให้เป็นไปตามกำหนด

  • ระบบที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมบริการหลังท่าเรือบก (Dry Port) และการอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานอื่น อาทิ การเปลี่ยนโหมดขนถ่ายสินค้าจากรถยนต์มารถไฟ เครนเพื่อยกย้ายตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นรถไฟ ระบบเชื่อมโยงข้อมูลของผู้เกี่ยวข้อง

02 การบูรณาการมาตรการและสิทธิประโยชน์

 

  • การบูรณาการกฎหมาย มาตรการสนับสนุน และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ เพื่อสร้างแรงจูงใจผู้ประกอบการหรือประชาชนให้มาใช้บริการขนส่งทางรางมากขึ้น

  • การบูรณาการเป้าหมายการมุ่งไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว เนื่องจากการเดินทางระบบรางมีส่วนช่วยลดคาร์บอนในระบบการขนส่ง ดังตัวอย่างของรถไฟยุโรปที่ระบบรางมีการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าระบบถนนถึง 6 เท่า

03 การส่งออกและนำเข้าสินค้า

 

  • กฎระเบียบการนำเข้าส่งออกและพิธีการผ่านแดนที่สนับสนุนให้กิจกรรมมีความคล่องตัวและต้นทุนที่แข่งขันได้ จากการเจรจาระดับภาครัฐของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน การตรวจมาตรฐานสินค้า กระบวนการตรวจปล่อยสินค้า ภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • สินค้ากลุ่มผลไม้และพืชเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าเน่าเสียง่าย ต้องการความรวดเร็วในการจัดส่ง การมีระบบติดตามควบคุมอุณหภูมิในตู้คอนเทนเนอร์ จะช่วยให้ทราบสถานะการขนส่งแบบเรียลไทม์ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ทัน เกิดความเสียหายต่อสินค้าน้อยที่สุด ดังตัวอย่าง Kisan railway ในอินเดียที่ควบคุมความเย็นและความเร็วให้สามารถขนส่งสินค้าสดไปต่างเมืองโดยมีของเสียน้อย

  • การเข้ามาแข่งขันของสินค้าจีน ผู้ประกอบการบางส่วนมีความกังวลการเข้ามาแข่งขันของสินค้าจีน จากกำลังการผลิตส่วนเกิน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มนวัตกรรม อาทิ แผงโซลาร์เซลล์ อุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ไฟฟ้า ที่มีผลต่อผู้ประกอบการรายเล็ก

04 การเตรียมความพร้อมของพื้นที่

 

  • การวางยุทธศาสตร์ในระดับพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการมาถึงของรถไฟ อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองอย่างมีแบบแผน การชูอัตลักษณ์เมืองรองเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานอื่น เช่น ระบบรองรับการขนส่งผู้โดยสารเข้าเมืองและแหล่งท่องเที่ยว ดังตัวอย่างของรัฐบาลท้องถิ่นเมืองอิบุซุกิ ประเทศญี่ปุ่น ที่วางแผนเพื่อรองรับก่อนชินคันเซนจะแล้วเสร็จ และมีการสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เช่น บ่อน้ำร้อนสุขภาพเป็นจุดเด่นที่มีส่วนดึงดูดการท่องเที่ยว 

  • การเตรียมแรงงานทักษะ เพื่อรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยว ศูนย์การแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น แช่บ่อน้ำร้อน นวดสปา รวมทั้ง รองรับการเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า

  • การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ เพื่อคว้าโอกาสของการมีรถไฟเข้ามาถึงพื้นที่ เช่น เพิ่มประเภทสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่ม จากเดิมที่เป็นผักผลไม้สด ก็อาจนำมาแปรรูป ไม่ให้เน่าเสียง่าย และมีมูลค่าสูงขึ้น การสร้างจุดขายสินค้าในท้องถิ่น อาทิ เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก และการให้บริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้รถไฟไม่ว่าจะสำหรับผู้โดยสารหรือสินค้า

 

ประเด็นชวนคิด

 

คนในพื้นที่จะคว้าโอกาสจากรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ได้ สิ่งสำคัญคือ การเชื่อมต่อของระบบรางและการขนส่งอื่นที่มีความสมบูรณ์ โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวย รวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ยืดหยุ่นต่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเชิงพื้นที่ และแรงงาน ดังเช่นประเทศญี่ปุ่นที่เตรียมการไว้ล่วงหน้า

 

 

 



* บทความนี้เป็นการรวบรวมความคิดเห็นของผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ จ.เชียงราย ในงานสัมมนาวิชาการสัญจร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567