3 ปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้ออีสาน
พิทูร ชมสุข • กรวิชญ ทับแสง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ [Regional Letter ฉบับที่ 08/2567]
27 พ.ย. 2567
การบริโภคภาคเอกชนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอีสาน หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า คนอีสานมีกำลังซื้อลดลง และระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งเกิดจาก การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ส่งผ่านมายังรายได้ครัวเรือนอย่างจำกัด รายได้ครัวเรือนที่พึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก ซึ่งมีความผันผวน ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง บทความนี้ชี้ให้เห็นถึง ปัจจัยที่ฉุดรั้งกำลังซื้อคนอีสานในช่วงที่ผ่านมา และสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคของคนอีสานในระยะข้างหน้า ซึ่งถ้าเรายังไม่เริ่มลงมือแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ปัจจัยฉุดรั้งต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนอีสานในระยะยาว
10 ปีที่ผ่านมา (2552-2562) ในช่วงก่อนโควิด-19 ขนาดเศรษฐกิจ (GRP) และรายได้ต่อหัวเฉลี่ย (GRP per capita) ของอีสานมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3 และร้อยละ 4 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่รายได้ครัวเรือนเติบโตเพียงร้อยละ 1 ต่อปีเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอีสานส่งผ่านมาที่รายได้ครัวเรือนอีสานเพียงเล็กน้อย (ตารางที่ 1) ทำให้ครัวเรือนอีสานในปัจจุบันมีรายได้สำหรับนำไปใช้จ่ายอย่างจำกัด สะท้อนจากรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของอีสานที่ต่ำที่สุดในประเทศเพียง 181,231 บาทต่อครัวเรือนต่อปี สอดคล้องกับจำนวนผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการแห่งรัฐที่มากที่สุดในประเทศ 4/ (ณ เดือนตุลาคม 2567) ที่มีถึง 5,502,154 คน หรือร้อยละ 41 ของจำนวนผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการทั้งประเทศ และจำนวนคนฐานะยากจนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนมากที่สุด ที่อีสานมีมากถึง 277,875 คน หรือร้อยละ 34 ของจำนวนคนจนทั้งประเทศ 5/
กว่า 4.3 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 58 ของครัวเรือนอีสานทั้งหมดอยู่ในภาคเกษตร 7/ ส่วนใหญ่ปลูกพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะข้าวที่เป็นพืชที่ใช้น้ำมากและสร้างรายได้หลักเพียงรอบเดียวต่อปี ขณะที่ภาคอีสานมีพื้นที่ชลประทานเพียงร้อยละ 7.8 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 8/ จึงต้องพึ่งพิงน้ำฝนเป็นหลัก ขณะเดียวกันเกษตรกรยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนในการทำเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (ตารางที่ 2) โดยเฉพาะในครัวเรือนที่ปลูกข้าวและมันสำปะหลัง มีรายได้เพิ่มขึ้นน้อยกว่าต้นทุน (ภาพที่ 2) ดังนั้น เมื่อสภาพภูมิอากาศแปรปรวนย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตและรายได้เกษตรกรที่จะนำไปใช้เพื่อการบริโภคในระยะต่อไป ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมปัญหาโครงสร้างประชากรอีสานที่มากกว่า 4 ล้านคน หรือร้อยละ 19 ของประชากรอีสานทั้งหมดเป็นผู้สูงวัย 9/ ทำให้มีแนวโน้มของผลิตภาพและรายได้จากการทำงานที่ลดลง
ครัวเรือนอีสานมีรายได้เติบโตช้า ไม่พอสำหรับรายจ่าย โดยในปี 2556-66 รายได้จากการทำงานของครัวเรือนเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 0.9 ต่อปี น้อยกว่าการเติบโตของรายจ่ายเฉลี่ยที่เติบโตร้อยละ 1.3 ต่อปี จึงทำให้มีส่วนต่างระหว่างรายได้กับรายจ่ายต่อเดือนติดลบอย่างต่อเนื่องและติดลบมากกว่าทุกภูมิภาค 10/ ในปี 2566 ครัวเรือนอีสานมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายถึง 5,396 บาทต่อเดือน (ภาพที่ 3) 11/ ทำให้ครัวเรือนอีสานยังพึ่งพาเงินช่วยเหลือมากกว่าทุกภูมิภาค 12/ ที่ 5,024 บาทต่อเดือน เมื่อพิจารณาด้านรายจ่ายครัวเรือนในปี 2566 จำแนกตามวัตถุประสงค์ พบว่า ครัวเรือนอีสานมีรายจ่ายเพื่อการบริโภคมากที่สุดหรือร้อยละ 38 ของรายจ่ายทั้งหมด แต่รายจ่ายที่น่าสนใจ คือ รายจ่ายเพื่อสังคมและนันทนาการ ซึ่งเป็นรายจ่ายที่สามารถลดได้ ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 13 ของรายจ่ายทั้งหมดสูงกว่าทุกภูมิภาค ค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจเบียดบังค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่จำเป็นด้านอื่นได้ 13/ (ภาพที่ 4)
หลังการแพร่ระบาดของโควิด -19 ต้นทุนค่าครองชีพของคนอีสาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาอาหารสด และราคาพลังงาน สะท้อนจากดัชนีราคาทั่วไปของอีสานที่ปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (ภาพที่ 5) แม้ระยะหลังเงินเฟ้อจะปรับลดลงแล้ว แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันหลายรายการยังมีราคาสูง เช่น ไข่ไก่ น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น ซึ่งส่ง ผลกระทบโดยตรงต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนอีสาน (ภาพที่ 6) ที่ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนรายได้น้อยที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเทียบกับรายได้ค่อนข้างสูง สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้รับจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการภาคการค้าส่ง-ค้าปลีกในพื้นที่ ต่างยืนยันว่า "ผู้บริโภครายได้น้อยส่วนใหญ่ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดยตัดสินใจเลือกที่จะลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเปลี่ยนพฤติกรรมไปบริโภคสินค้ายี่ห้อรองที่มีราคาต่ำกว่าทดแทนการบริโภคยี่ห้อหลักที่มีราคาสูง"
ภาคอีสานมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่ำที่สุด ขณะที่มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้มาโดยตลอด จึงทำให้ต้องมีการก่อหนี้มากขึ้น ปี 2566 มีหนี้สินต่อครัวเรือน 200,540 บาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ 197,255 บาท (ตารางที่ 3) เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้สินต่อครัวเรือนทั้งหมด พบว่า อีสานมีสัดส่วนถึงร้อยละ 61 สูงกว่าทุกภูมิภาคและค่าเฉลี่ยประเทศ โดยเฉพาะครัวเรือนในพื้นที่อีสานตอนล่างทุกจังหวัด 14/ ซึ่งมีประชากรรวมกันมากถึง 1 ใน 6 ของประเทศ มีสัดส่วนครัวเรือนที่ก่อหนี้สูงที่สุด (ภาพที่ 7) และเมื่อพิจารณาประเภทการก่อหนี้ พบว่า ครัวเรือนอีสานส่วนใหญ่ก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 43.9 ของจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งหมด โดยเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุด รองลงมาคือ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบัตรเครดิต ตามลำดับ สูงกว่าหนี้ที่นำไปสร้างรายได้ เช่น หนี้เพื่อทำการเกษตรและหนี้เพื่อการประกอบธุรกิจค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจุบันสินเชื่อเหล่านี้มีแนวโน้มกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น (ภาพที่ 8)
1/ ผู้ศึกษาพิจารณาคำนวณ GRP เพียงช่วง 10 ปี (2552-2562) ก่อนเกิดวิกฤติโควิด -19 เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยและภูมิภาคอยู่ในสถานการณ์ปกติ
2/ อัตราการขยายตัวเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ระหว่างปี 2552-2562
3/ เฉพาะรายได้ที่มาจากการทำงานหรือผลิตเอง (Factor Income) เท่านั้น โดยคำนวณจากค่ากลาง (Median) ของรายได้ครัวเรือนต่อปี หารด้วยรากที่สองของจำนวนสมาชิกในครัวเรือน
4/ จำนวนผู้มีสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ เข้าถึงจาก https://govwelfare.cgd.go.th/welfare/reportSubprov รวบรวมและคำนวณโดย ธปท.
5/ จำนวนคนฐานะยากจนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คือ คนจนที่ภาครัฐสำรวจจากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) แล้วได้รับการพิจารณาว่ายากจนและได้ลงทะเบียนรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง เข้าถึงได้จาก https://www.tpmap.in.th/ รวบรวมและคำนวณโดย ธปท.
6/ ภาคเหนือ ประกอบด้วย 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี และเพชรบูรณ์
7/ แบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากรทั่วราชอาณาจักร (Labour Force Survey) สำนักงานสถิติแห่งชาติ คำนวณโดย ธปท.
8/ พื้นที่ชลประทานอีสานที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ปี 2566 เท่านั้น
9/ ผู้สูงวัยหรือผู้สูงอายุ ตามนิยามของกรมกิจการผู้สูงอายุ คือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป/ ที่มาของข้อมูลประชากรสูงอายุอีสาน : สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รวบรวมและคำนวณโดย ธปท.
10/ รายได้ที่มาจาการทำงาน ไม่รวมรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงิน (inkind) ซึ่งอยู่ในรูปสวัสดิการ/ สินค้า บริการต่าง ๆ ที่ได้รับมาโดยไม่ต้องซื้อ รวมประเมินค่าเช่าบ้าน/ บ้านตนเอง
11/ ครัวเรือนภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ และประเทศมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่ารายจ่าย 5,396 บาท 3,112 บาท 1,499 บาท 2,663 บาท ตามลำดับ โดยรายได้เป็นรายได้ที่มาจากการทำงานหรือการผลิตเท่านั้น
12/ เงินช่วยเหลือ เช่น เงินโอน เงินช่วยเหลือภาครัฐ ภาคอีสาน 5,024 บาท เหนือ 4,218 บาท ใต้ 2,864 บาท ประเทศ 3,794 บาท
(ข้อมูล 10/-12/ มาจากฐานข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ รวบรวมและคำนวณโดย ธปท.
13/ สอดคล้องกับรายจ่ายเพื่อสังคมและนันทนาการจากสำรวจพฤติกรรมการเงินครัวเรือนเกษตรกร (2562-63) โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธปท. พบว่า ภาคอีสานมีสัดส่วนสูงสุด 16% (เฉลี่ย 52,000 บาทต่อปี) รองลงมาคือภาคใต้ 10% (เฉลี่ย 37,000 บาทต่อปี)
และภาคเหนือ 6% (เฉลี่ย 22,000 บาทต่อปี)
14/ อีสานตอนล่าง ประกอบด้วย จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร และอำนาจเจริญ มีประชากรรวมกัน 10.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ที่มา : กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย คำนวณโดย ธปท.