ความท้าทายภาคการผลิตอีสานหลังโควิดคลี่คลาย
คณิศร เรืองแสน • เพชรลักษณ์ บุญญาคุณากร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ [Regional Letter ฉบับที่ 02/2568]
11 มี.ค. 2568
ภาคอุตสาหกรรมของอีสานในระยะหลังเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยเชิงวัฏจักร ที่อุปสงค์โลกฟื้นตัวช้าและสินค้าคงคลังของคู่ค้ายังอยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้างที่อีสานผลิตสินค้าโลกเก่าไม่ตอบสนองความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป ประกอบกับกำลังซื้อภายในภาคอีสานยังคงเปราะบาง บทความนี้จึงฉายภาพสถานการณ์อุตสาหกรรมการผลิตอีสานหลังเหตุการณ์โควิด-19 คลี่คลายถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งตัวอย่างการปรับตัวจากผู้ประกอบการที่อยู่รอดได้ และความท้าทายระยะถัดไปที่แนวโน้มผลกระทบจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศจะมีความรุนแรงมากขึ้น
ปี 65 และ 66 หลังโควิดคลี่คลาย การผลิตภาคอีสานหดตัวต่อเนื่อง และเริ่มเห็นการฟื้นตัวบ้างในปี 67
ตารางที่ 1 การเติบโตของการผลิตอุตสาหกรรมภาคอีสาน
() ตัวเลขในวงเล็บ คือ สัดส่วนน้ำหนักต่อภาคการผลิตภาคอีสาน
ที่มา : สศอ. สศก. และกรมศุลกากร คำนวณโดย ธปท.
ปี 65 เป็นปีที่สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดทยอยปรับดีขึ้น แต่ภาพรวมภาคการผลิตสะท้อนจากข้อมูลดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม กลับพบว่าโดยรวมหดตัวจาก “ปัจจัยเชิงวัฏจักร” ที่อุปสงค์โลกฟื้นตัวช้าและสินค้าคงคลังของคู่ค้ายังอยู่ในระดับสูง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัวและการกักตุนสินค้าในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และ “ปัจจัยเชิงโครงสร้าง” ที่สินค้าอีสานไม่ตอบสนองความต้องการของโลกที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้การผลิตที่เน้นส่งออก อาทิ หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หดตัว ซึ่งเป็นหมวดการผลิตสำคัญที่มีน้ำหนักมูลค่าประมาณร้อยละ 16 ของภาคการผลิต สำหรับการผลิตที่เน้นการขายในประเทศหดตัว อาทิ หมวดเครื่องดื่ม จากกำลังซื้อที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้และค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่การผลิตปูนซีเมนต์ลดลงตามภาวะตลาดภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา สอดคล้องกับความสามารถในการทำกำไร (อัตราส่วนของกำไรต่อรายได้) ที่่ลดลงตามตาราง ก ในภาคผนวก
ในปี 66 ดัชนีการผลิตหดตัวสูงขึ้น จากหมวดอุตสาหกรรมอาหารและการผลิตยางพาราแปรรูปที่หดตัวจากผลของภัยแล้ง ขณะที่หมวดสิ่งทอเครื่องแต่งกายได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาไทยมากขึ้น ทำให้หดตัวสูงถึงร้อยละ 32.3
อย่างไรก็ดี ในปี 67 ดัชนีการผลิตกลับมาขยายตัวได้บ้าง จากการผลิตหมวดอาหาร โดยเฉพาะน้ำตาลทรายขาวที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการของคู่ค้า การผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขยายตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการผลิตหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับดีขึ้นจากการเติบโตของธุรกิจกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์
การลงทุนใหม่ลดลงสอดคล้องกับภาวะการผลิต แต่ยังเห็นการลงทุนเพิ่มในหมวดอาหารที่เป็นจุดแข็งของภาคอีสาน
รูปที่ 1 จำนวนเงินทุนจดทะเบียนรวมของโรงงานจัดตั้งใหม่
ปี 2565 ถึง ปี 2567
ที่มา : สถิติกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม
การลงทุนใหม่ภาคอีสานหลังโควิดปี 65-67 ลดลงเทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปี1 แต่การลงทุนอุตสาหกรรมอาหารยังไปได้ดี2 โดยเป็นการลงทุนอันดับหนึ่งในภาคอีสานที่มีมูลค่ารวมกว่าสามหมื่นล้านบาท เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์และโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ตามสภาพภูมิประเทศที่มีพื้นที่มาก ขณะที่โรงเลี้ยงสัตว์มีที่ตั้งห่างกัน การแพร่ระบาดของเชื้อโรคในสัตว์จึงน้อย รวมถึงพัฒนาการของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ทำให้การเลี้ยงสัตว์และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์เพิ่มขึ้น
การลงทุนอันดับสองคือโรงงานผลิตพลังงานเพื่อรองรับเทรนด์ใหม่ของโลกผ่านการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green) ซึ่งมีมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำหรือเป็นศูนย์ จึงมีการเปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ การลงทุนอันดับสามคือโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากนักลงทุนต่างประเทศที่มองถึงจุดยุทธศาสตร์ของภาคอีสานที่มีระบบโลจิสติกส์ เอื้อต่อการขนส่งไปประเทศกลุ่มอาเซียน รวมถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน
1 จากสถิติโรงงานจัดตั้งใหม่ของภาคอีสาน ค่าเฉลี่ยทุนจดทะเบียนโรงงานใหม่ปี 65 – 67 อยู่ที่ปีละ 2.3 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท/ปี
2 สะท้อนจากค่าเฉลี่ยทุนจดทะเบียนโรงงานอาหารจัดตั้งใหม่ปี 65 – 67 ที่ปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท/ปี
โรงงานเดิมที่ยังไปต่อได้ มีการปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด ?
จากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าทุนจดทะเบียนรวมของโรงงานไทยที่ปิดตัวในปี 65-67 เพิ่มขึ้นเทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปี3 ทั้งนี้โรงงานอีสานเดิมที่ยังไปต่อได้ ส่วนใหญ่มีการปรับตัว จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในพื้นที่ มีแนวทางสรุปได้ดังนี้ 1) การเพิ่มมูลค่า 2) การลดต้นทุน 3) การเพิ่มช่องทางจำหน่าย และ 4) การหาผู้ร่วมลงทุน โดยแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์มีรายละเอียดต่างกัน เช่น
•ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง สะท้อนจากราคาต่อชิ้นของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามรูป ก ในภาคผนวก
•ชิ้นส่วนยานยนต์ ประเภทชิ้นส่วนรถสันดาป ปรับตัวโดยทำการศึกษาการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัว หรือพัฒนาสินค้าใหม่ เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภท On-Board Charger สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
•เครื่องแต่งกาย เพิ่มช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ทั้งแพลตฟอร์มในประเทศและต่างประเทศเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง
•ชุดชั้นใน จ้างบริษัทในประเทศจีนผลิตในบางผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตของจีนมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า
•ธุรกิจสิ่งทอ ประเภทแหอวนที่ใช้จับปลา มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ตามรูปแบบการจับปลาที่บางส่วนเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงปลาในกระชังกลางทะเล
•อาหารสำเร็จรูป บริหารต้นทุนผ่านการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนมากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกกว่าและมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน
•ขนม/เบเกอรี่ เพิ่มการบริการให้แก่ลูกค้ามากขึ้น ทั้งยังมีการบริการขนส่งสินค้าสู่ร้านค้าปลีกโดยตรง
•เครื่องดื่ม ออกผลิตภัณฑ์ใหม่และรสชาติใหม่ มีแผนร่วมลงทุนกับบริษัทในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ได้นวัตกรรมการผลิตรูปแบบใหม่ และขยายตลาดไปต่างประเทศมากขึ้น
•แป้งมันสำปะหลัง เพิ่มสัดส่วนการผลิตแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิก เพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออก
•ปศุสัตว์ ปรับตัวด้วยการทำฟาร์มอัจฉริยะและทดแทนแรงงานด้วยเครื่องจักร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
3 จากสถิติโรงงานปิดกิจการของไทย ค่าเฉลี่ยทุนจดทะเบียนโรงงานที่ปิดตัวปี 65 – 67 อยู่ที่ปีละ 8.8 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ที่ 6.0 หมื่นล้านบาท/ปี
ความท้าทายเพิ่มเติมระยะถัดไปมีอะไรบ้าง ?
ในระยะถัดไปจะมีความท้าทายเพิ่มมากขึ้นจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นสำคัญ อาทิ
1) นโยบายการค้าสหรัฐฯ จากรัฐบาลของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ทำเนียบขาวประกาศกำหนดภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญเพิ่มขึ้น คาดว่าจะกระทบภาคผลิตอีสานที่มีห่วงโซ่อุปทานกับสหรัฐฯ ผ่านประเทศที่ถูกตั้งกำแพงภาษี เช่น หมวดยางแท่งที่ส่งออกไปยังจีนที่นำไปแปรรูปเป็นยางล้อรถยนต์และส่งออกไปยังสหรัฐฯ สำหรับการกำหนดกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าต่อทุกประเทศ ยังมีความไม่แน่นอน หากมีการบังคับใช้จริง คาดว่าจะกระทบภาคผลิตอีสานในหมวดที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูง เช่น หมวดอิเล็กทรอนิกส์ หมวดสิ่งทอและเครื่องแต่งกายดังรูปที่ 2.1 และ 2.2 ตามลำดับ ขณะที่หมวดอาหารมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ คิดเป็น 4% ของมูลค่าการส่งออกของหมวดอาหาร
รูปที่ 2.1 สัดส่วนมูลค่าการส่งออกภาคอีสานหมวดอิเล็กทรอนิกส์ปี 2567
หมายเหตุ : หมวดอิเล็กทรอนิกส์รวมหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ที่มา : กรมศุลกากร คำนวณโดยธปท.
รูปที่ 2.2 สัดส่วนมูลค่าการส่งออกภาคอีสานหมวดสิ่งทอและเครื่องแต่งกายปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร คำนวณโดยธปท.
2) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ธุรกิจคู่ค้าต้องการสินค้าที่มีมาตรฐานบ่งชี้ว่ามีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานน้ำตาล Bonsucro4 ยางพารา EUDR5 เป็นต้น ซึ่งหากอีสานปรับตัวไม่ทันอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าได้
ตารางที่ 2 ผลกระทบของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ที่สำคัญและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าส่งผลต่อภาคการผลิตภาคอีสาน
หมายเหตุ : * จากการสัมภาษณ์ของทรัมป์ ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567
4 Bonsucro คือ องค์การไม่แสวงหาผลกำไรโดยได้กำหนดมาตรฐานในการผลิตอ้อยและน้ำตาลขึ้นโดยคำนึงถึงความมั่นคงทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
5 EUDR หรือ European Union Deforestation Regulation หมายถึง กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
ในระยะถัดไป เศรษฐกิจภาคอีสานมีแนวโน้มเติบโตต่ำ จากภาคการผลิตที่ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งการผลิตสินค้าโลกเก่า และขาดปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ในการผลักดันให้เศรษฐกิจอีสานเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีความท้าทายใหม่ที่จะกดดันภาคผลิตอีสานจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ และกระแสสิ่งแวดล้อม ที่ภาคธุรกิจควรเร่งปรับตัวให้ทัน ขณะเดียวกันภาครัฐควรเร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับและดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ท้ายสุดทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ ภาครัฐควรเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการรับมือกับสงครามทางการค้าและสินค้าที่จะทะลักมาจากจีน และบทบาทภาคการเงินที่ช่วยเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้ทันการณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้มุ่งผลักดันให้ภาคการเงินมีบทบาทในการช่วยให้ภาคเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน โดยได้ดำเนินการ 2 ส่วน ได้แก่
1) การวางรากฐานที่จำเป็นในระยะยาวสำหรับระบบนิเวศด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แนวนโยบายการให้สถาบันการเงินผนวกเรื่องสิ่งแวดล้อมในการทำธุรกิจ (Standard Practice) และการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านสิ่งแวดล้อมของไทย (Thailand Taxonomy)
2) การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับตัวมากขึ้น โดยให้สถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ โดยมีโครงการ Financing the Transition ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ในการกำหนดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ในปี 2568 สูงถึง 1 แสนล้านบาท6 เพื่อให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานที่มีหรือได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมสูงไปสู่การดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง
6 จากคำกล่าวปาฐกถาพิเศษ งาน Sustainability Forum 2025 หัวข้อ “Climate Finance toward SDGs” โดย ดร. รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
"บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย"