​ทิศทางเศรษฐกิจปี 2562 ยังเติบโตแต่ในอัตราที่ชะลอลง


นับจากปี 2555 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยไม่เคยขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4 สาเหตุมาจากปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่เผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ แม้ในระยะหลังเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้สูงกว่าร้อยละ 4 แต่ผลกระทบของสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น ในปี 2562 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันภาคการส่งออก


แม้ว่าประเทศไทยจะเผชิญความท้าทายจากปัจจัยภายนอกประเทศ แต่การใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4 นั้น นับเป็นอัตราที่ชะลอลงจากปีที่ผ่านมา แต่ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่เติบโตดี และใกล้เคียงกับระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย

 


การส่งออกสินค้า : เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าชัดเจนขึ้น

 

ในปี 2562 นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งภาคธุรกิจและภาคเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนที่อาจตัดสินใจเลื่อนการลงทุนออกไป อย่างไรก็ดี ในด้านการส่งออกสินค้า ประเทศไทยอาจได้รับผลดีบ้างจากการย้ายฐานการผลิตหรือการโยกคำสั่งซื้อในบางประเภทสินค้าจากจีนมาไทย แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการชะลอตัวของปริมาณการค้าโลกโดยรวม ดังนั้น ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ยังคงพึ่งพาภาคต่างประเทศสูง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เศรษฐกิจไทยในปี 2562 นี้จะมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามไปด้วย

 

การท่องเที่ยว : นักท่องเที่ยวจีนทยอยฟื้นตัว แต่ปัจจัยด้านอุปทานยังคงเป็นข้อจำกัด

 

จากเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่ภูเก็ตเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีนอย่างรุนแรง และส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ขยายตัวดีต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้าต้องสะดุดลง รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้เร่งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงใช้มาตรการกระตุ้นต่าง ๆ อาทิ การยกเลิกค่าธรรมเนียมวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศ และการขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจในการจัดมาตรการส่งเสริมการขายในศูนย์การค้าต่าง ๆ ในช่วงปลายปี 2561 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเริ่มปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น และน่าจะมีแรงส่งต่อเนื่องมาในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ผนวกกับเงินหยวนที่อ่อนค่าอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนไม่ขยายตัวสูงเหมือนในอดีต ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ น่าจะยังขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ปัญหาด้านอุปทานในภาคการท่องเที่ยวของไทยโดยเฉพาะสนามบินต่าง ๆ ที่ปัจจุบันใช้งานเกินศักยภาพก็ยังคงเป็นข้อจำกัดสำคัญสำหรับภาคการท่องเที่ยวไทย

 


การบริโภคภาคเอกชน : ในภาพรวมได้ไปต่อ แต่ยังมีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มรายได้

 

การบริโภคภาคเอกชนหรือการใช้จ่ายของประชาชนนับเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์หลักที่มีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจพอ ๆ กับการส่งออกสินค้า โดยนับตั้งแต่ปี 2555 หลังมีโครงการรถยนต์คันแรก การบริโภคภาคเอกชนของไทยถือว่าอยู่ในภาวะประคองตัว แต่ในปี 2561 ที่ผ่านมา การบริโภคภาคเอกชนสามารถกลับมาขยายตัวในอัตราที่เกินความคาดหมาย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาระผูกพันในโครงการรถยนต์คันแรกที่ทยอยหมดลง ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในปี 2561 ขยายตัวสูง นอกจากนี้ กำลังซื้อนอกภาคเกษตรกรรมยังฟื้นตัวต่อเนื่องตามการจ้างงานที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น อีกทั้งรายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้สูงยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรถือว่าไม่ดีนักเนื่องจากประสบปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำตามผลผลิตที่ออกมามากทั่วโลก อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้ง จึงถือได้ว่าการใช้จ่ายของประชาชนในภาพรวมขยายตัวดี แต่ยังมีความแตกต่างระหว่างกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกับรายได้สูง หรืออาจเทียบได้เสมือนกับไทยมีเศรษฐกิจสองความเร็ว ดังนั้น ภาครัฐจึงเข้ามามีบทบาทผ่านการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เลือกช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มมากขึ้น รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหา ซึ่งมาตรการภาครัฐนี้คาดว่าจะมีแรงส่งต่อเนื่องไปถึงปี 2562 จึงคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2562 จะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

 

 

การใช้จ่ายภาครัฐ : เลือกตั้งไม่สะดุด เสริมความเชื่อมั่นนักลงทุน

 

คงต้องยอมรับว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของไทยที่ยืดเยื้อมาหลายปีเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความน่าสนใจด้านการลงทุนของประเทศไทยในอดีต และในปี 2562 นี้ ไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งหากเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนงานของรัฐบาลเดิมมีความต่อเนื่อง คาดว่าจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี โดยปี 2562 จะเป็นปีสำคัญที่จะมีความชัดเจนในเรื่องโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจจริง ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ห้าสาย และโครงสร้างพื้นฐานของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ส่วนปัญหาความไม่เข้าใจใน พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่ก็คาดว่าจะทยอยคลี่คลายลงเป็นลำดับ

 

 

การลงทุนภาคเอกชน : จุดติดและไปต่อ

 

เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างยั่งยืนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไป ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการลงทุนที่หายไป แต่การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega-project) ที่ภาคเอกชนต่างเฝ้ารอดูเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นได้ช่วยจุดเครื่องยนต์การลงทุนภาคเอกชนให้ติดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ สงครามการค้าที่อาจยืดเยื้อครั้งนี้ยังอาจส่งผลบวกให้เกิดกระแสการย้ายฐานการลงทุนของบริษัทข้ามชาติระลอกใหม่ ซึ่งการที่ไทยมีความชัดเจนในโครงการ EEC และการมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมน่าจะมีส่วนช่วยให้ไทยสามารถช่วงชิงความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับประเทศตัวเลือกอื่น ๆ ในภูมิภาค การลงทุนภาคเอกชนจึงเป็นความหวังของไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการลงทุนที่ช่วยสร้าง Productivities และความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวในระดับศักยภาพได้อย่างยั่งยืน

 

 

อัตราเงินเฟ้อ : มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ

 

มองไปข้างหน้าคาดว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นบ้างจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับเพิ่มราคาได้มากนัก สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป1 ถูกกดดันเพิ่มเติมจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่มีทิศทางปรับลดลงสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และแนวโน้มอุปทานน้ำมันดิบที่มีมากขึ้นในระยะต่อไป

 

 

 

นโยบายการเงิน : ในระยะข้างหน้ามีความท้าทายมากขึ้น

 

ในปี 2561 ที่ผ่านพ้นไป อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยนับว่ากลับมาอยู่ใกล้ระดับศักยภาพแล้ว การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นลดลง ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 สำหรับปี 2562 นี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในทิศทางชะลอลงจากปัจจัยด้านอุปสงค์ต่างประเทศ แต่ยังอยู่ในระดับศักยภาพ ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าอยู่จะภายในกรอบเป้าหมาย และภายใต้โลกของ VUCA2 นี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ รวมถึงเสถียรภาพของระบบการเงินที่แม้โดยรวมจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีแต่ยังคงมีบางจุดที่เปราะบาง เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่มาพร้อมกับการประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าควร (Underpricing of Risks) ที่สืบเนื่องมาจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน การดำเนินนโยบายการเงินจึงต้องชั่งน้ำหนักอย่างรอบด้าน โดยการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะมีการประเมินสถานการณ์ตามพัฒนาการของข้อมูล (Data-dependent) มากขึ้น จึงกล่าวได้ว่าปี 2562 จะเป็น “ปีหมูที่ไม่หมู” สำหรับเศรษฐกิจการเงินไทยรวมไปถึงผู้ดำเนินนโยบายต่าง ๆ เช่นกัน

 

[1] จะสามารถสรุปตัวเลขที่แน่นอนได้ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562

 

[2] Volatility, Uncertainty, Complexity, and Ambiguity