โจ ฮอร์น พัธโนทัย
นักธุรกิจหนุ่มไทยกับพันธกิจทูตเศรษฐกิจจีน-ไทย
สืบต่อสายใยจากรุ่นสู่รุ่น
นักธุรกิจหนุ่ม ผู้ผ่านประสบการณ์สุดพิเศษ ได้รับโอกาสเติบโตและเรียนรู้ชีวิตในวัฒนธรรมที่หลากหลายจาก 2 ทวีป 2 ฝั่งของโลก “จากไทย ไปสู่จีน และฝรั่งเศส” ขณะเดียวกัน ยังมีภารกิจพิเศษในฐานะสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีงามระหว่างไทยและจีน สืบทอดต่อจาก “คุณตาสังข์ พัธโนทัย และคุณแม่สิรินทร์ พัธโนทัย” ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็น “ทูตพิเศษ” ระหว่างจีนกับไทย จนคุณแม่สิรินทร์ มีศักดิ์เสมือน “บุตรบุญธรรม” ของท่านโจว เอิน ไหล อดีตนายกรัฐมนตรีของจีน
“โจ ฮอร์น พัธโนทัย” กรรมการอำนวยการบริษัท Strategy613 จำกัด บริษัทที่ปรึกษาให้กับองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ และหน่วยงานของรัฐ ในการลงทุนทำธุรกิจระหว่างไทยกับจีน รวมถึงระหว่างยุโรปกับจีนด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับความไว้วางใจจากคุณบัณฑูร ล่ำซำ แห่งธนาคารกสิกรไทย ให้เป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจประเทศจีนอีกด้วย คุณโจจึงเป็นคนหนุ่มที่ได้รับการจับตามาตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ จนถึงวันนี้ความสำเร็จของเขากลายเป็น “แรงบันดาลใจ” ของคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็น “นายของตัวเอง”
หัวใจนักธุรกิจรุ่นใหม่ : อดทน มองไกล ไม่ย่อท้อ
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคนที่เริ่มธุรกิจด้วยตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย “โจ ฮอร์น พัธโนทัย” ฝากคำแนะนำเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเริ่มทำธุรกิจของตัวเองว่า “ในโลกของความเป็นจริงการทำงานจะไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด แต่สามารถประสบความสำเร็จได้ ถ้าเรา ‘อดทน’ และ ‘ตั้งใจจริง’
“ตอนผมเริ่มทำงานเอง อายุแค่ 25 ปี ตอนนั้นคิดว่าจะง่าย แต่จริง ๆ ไม่ง่ายเลย สำหรับคนรุ่นใหม่ สิ่งแรกที่อยากบอกคือ ‘ถ้าอยากทำให้ทำไปเลย’ แต่เมื่อคิดจะทำต้องคิดต่อด้วยว่า ‘มันจะไม่ง่ายอย่างที่เราคิด’ ครั้งแรกที่เริ่มต้น ผมเริ่มจากทำแผนธุรกิจ (Business Plan) อย่างดี ด้วยความตั้งใจมาก และในแผนธุรกิจวางแผนไว้ว่า 6 เดือนแรกจะเริ่มมีกำไร แต่ความเป็นจริงทำไปแล้ว 2 ปีรายได้ยังไม่เข้าเป้า แผนที่วางไว้มันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ กว่าจะเจอโมเดลที่ถูกต้องก็ใช้เวลาสักพัก ดังนั้น สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุดคือ ‘ความอดทน’ ต้องกัดฟันทำต่อให้สำเร็จ จนในที่สุดก็ได้ลูกค้าใหญ่รายแรก คือ ธนาคารกสิกรไทย ตอนนั้น มีเงินเหลืออยู่ในบัญชีที่ใช้ได้อีกประมาณ 2 เดือน ค่าเช่าไม่ได้จ่ายมาหลายเดือน ยืดรายจ่ายมาทุกอย่าง ยังคิดว่าตอนนั้นถ้าใจอ่อนกลับไปทำงานแบงก์ ก็คงไม่มีวันนี้แล้ว”
จีน : ภูมิปัญญา สืบสานวัฒนธรรม ผสานความเปลี่ยนแปลง
แม้ว่าในช่วงแรกของการทำธุรกิจ คุณโจยังไม่ชัดเจนว่า อยากทำธุรกิจอย่างไร แต่สิ่งที่ชัดเจนมาตลอดคือ “อยากทำสิ่งที่เชื่อมโยงธุรกิจกับประเทศจีน” สืบเนื่องมาจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็ก สิ่งที่ได้รับสืบทอดมาจากคุณแม่ และประสบการณ์การทำงานร่วมกับบริษัทจีนหลาย ๆ แห่ง เช่น ธนาคารไอซีบีซีของจีนในครั้งที่ตัดสินใจซื้อยูเนี่ยนแบงก์ที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นการซื้อธนาคารในต่างประเทศธนาคารแรกของจีนในปี 2000
“ผมโชคดีที่ผมได้ประสบการณ์ในช่วงเติบโตจากทั้งโลกตะวันออกและโลกตะวันตก ทำให้ผมสามารถเชื่อมตะวันออกกับตะวันตกเข้าด้วยกันได้ โดยในช่วงประถมต้นผมเรียนที่ไทย ประถมปลายที่จีน มัธยมที่ฝรั่งเศส ก่อนจะจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเคมบริจด์ซึ่งทั้งหมด ถ้าคุณแม่ไม่ได้วางแผนให้ ก็คงทำแบบนี้ไม่ได้
“เพื่อนของคุณแม่ถามว่า ‘คุณส่งลูกไปเรียนที่จีนทำไม ไม่มีประโยชน์ จนจะตาย’ แต่ในตอนนั้นกับวันนี้ ประเทศจีนเปลี่ยนไปมาก ทั้งในแง่ของความเจริญและแม้แต่ ‘นิสัย’ หลายอย่างของคนจีนก็เปลี่ยนไป ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ในสมัยก่อนโครงสร้างของสังคมจีนเป็นครอบครัวขยาย สามารถมีลูกหลายคนได้ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายของจีนที่บังคับให้มีลูกคนเดียว สิ่งนี้เปลี่ยนแปลงแทบทุกอย่างของสังคมจีน โดยเฉพาะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยน บางธุรกิจเติบโตมาก เช่น ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุและเยาวชน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การมีลูกคนเดียวจะส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไม่เร็วอย่างที่ควรจะเป็น
“อีกอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป คือ เดิมคนจีนชอบลูกผู้ชาย แต่การอนุญาตให้มีลูกคนเดียว ทำให้ประเทศจีนขาด ‘ลูกสาว’ ที่ตอนนี้ครอบครัวไหนมีลูกสาวกลายเป็น ‘สุดยอด’ เพราะผู้หญิงมีน้อย ผู้ชายมีมาก ในประเทศจีนมีสุภาษิตที่ว่า ‘แม่น้ำและภูเขาย้ายง่าย แต่นิสัยของคนเปลี่ยนยาก’ ดังนั้น การเปลี่ยนค่านิยมของจีนที่เกิดขึ้นได้นี้ ทำให้ผมรู้สึกทึ่งมาก”
จีน : น่าลงทุน และน่าร่วมทุนไปอีก 30 ปี
ในแง่เศรษฐกิจ คุณโจมองว่า สายเลือดของคนจีนเป็น “ทุนนิยม” หลายพันปีที่ผ่านมา คนจีนเป็นพ่อค้าที่เก่งมาก มีดีเอ็นเอของทุนนิยมอยู่ในสังคมจีนมาโดยตลอด แค่ในช่วงคอมมิวนิสต์ต้น ๆ ที่นิสัยนี้โดนกดไว้ แต่หลังจากที่ท่าน “เติ้ง เสี่ยว ผิง” มีแนวคิดเปิดประเทศหลังจากที่เศรษฐกิจจีนตกต่ำอย่างหนัก แนวทางทุนนิยมก็กลับมา
“วันนี้ แม้ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอาจจะไม่ได้สูงมากเหมือนแต่ก่อน หลายคนอาจจะมองว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัว หนี้เสียสูง ไม่น่าสนใจแล้ว แต่หากมองในมุมของผม ในฐานะที่ปรึกษาทางธุรกิจ ผมยืนยันว่า จากนี้ไปอีก 30 ปี จีนยังคงเป็น ‘แหล่งลงทุน’ ที่น่าสนใจสำหรับการทำธุรกิจอยู่ และยังเป็น ‘แหล่งหาเงินทุน’ ที่น่าสนใจด้วย”
ทั้งนี้ ถ้ามองย้อนไป 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนอาจจะเป็นแค่ประเทศที่ “น่าจะไปลงทุน” แต่วันนี้เมื่อเศรษฐกิจจีนแข็งแกร่งพอ สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นมา คือ “การไปหาแหล่งเงินทุนจากประเทศจีน” และส่วนที่น่าสนใจกว่า คือ หลายคนไม่รู้ว่า ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เศรษฐกิจจีนหันไปสู่การสร้าง “นวัตกรรม” จากบทเรียนของ “วิกฤตต้มยำกุ้ง”
เพราะก่อนต้มยำกุ้งนั้น จีนยังสองจิตสองใจว่าจะพัฒนาไปทางไหนดี แต่หลังวิกฤต จีนเริ่มเห็นว่า “Tiger Model” การซื้อเทคโนโลยีของประเทศอุตสาหกรรมเข้ามา แล้วโตด้วย “การรับจ้างทำของ” อย่างเดียว ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง แต่การเป็นเจ้าของการวิจัยพัฒนา “เทคโนโลยีและนวัตกรรมของตัวเอง” เป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากกว่า ทำให้จีนเร่งวิจัยและพัฒนาจนกลายเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยีและการก่อสร้าง
“เราต้องเรียนรู้ที่จะเข้าถึงตลาดจีน ต้องใช้ตลาดที่มีคน 1,300 ล้านคนให้เป็นประโยชน์ และวันนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย คือ การขายสินค้าออนไลน์ แอปพลิเคชั่นผ่านมือถือ ข้อดีของประเทศไทยคือเรามีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยปีละ 10 ล้านคน ทำให้เราสามารถทดสอบตลาดได้ว่า สินค้าอะไรที่คนจีนสนใจ โดยไม่ต้องไปถึงเมืองจีน ขณะที่หากมองในภาพรวม ภาคธุรกิจที่เติบโตมากในจีนในขณะนี้ คือ ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุและเยาวชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เพราะจีนลงทุนเทคโนโลยีสูงมาก”
สงครามการค้าเปลี่ยนการทำธุรกิจ : จีนเจ็บกว่าสหรัฐฯ
ประเด็น “สงครามการค้า” คุณโจกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ สหรัฐฯ เป็นคนเริ่มต้น โดยที่จีนไม่ได้ต้องการให้เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อสหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการกีดกันทางการค้า การขึ้นภาษีต่าง ๆ ประเทศจีนก็จำเป็นต้องมีการตอบโต้ เพราะถ้าจีนไม่ตอบโต้ สหรัฐฯ ก็จะไม่มีแรงจูงใจที่จะทำให้เลิกสงครามการค้า
“จีนต้องทำให้สหรัฐฯ เจ็บ แต่ก็หวังด้วยว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่ทำให้ตัวเองเจ็บมาก เพราะทุกครั้งที่จีนทำให้สหรัฐฯ เจ็บ ตัวเองก็เจ็บด้วย แต่หากถามว่าผลจากสงครามการค้ามีผลกระทบกับจีนแค่ไหน ต้องบอกว่าวันนี้จีนเจ็บตัว และเจ็บตัวมากกว่าสหรัฐฯ ด้วย ดังนั้น หากสหรัฐฯ ยอมถอย ผมเชื่อว่าจีนก็ยินดี”
ส่วนผลของสงครามการค้าต่อประเทศไทยมีมากแค่ไหนนั้น คุณโจวิเคราะห์ให้ฟังว่า โดยรวมแล้วไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก แม้เราถูกกระทบจากสินค้าที่เป็นห่วงโซ่การผลิตที่ผู้ผลิตไทยส่งไปจีน และส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีพอสมควร แต่ส่วนที่เป็นปัจจัยบวก คือบริษัทจีนที่จะสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมีมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ผมเริ่มเห็นมากขึ้นแล้ว แม้ว่าหลายบริษัทของจีนอาจจะ “ยังไม่ลงทุน” แต่ไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่เปรียบเทียบแล้ว “ยังน่าสนใจ” ในช่วงที่จีนกำลังปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ปรับห่วงโซ่การผลิต เพื่อรับมือมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ และยุโรป
อย่างไรก็ตาม สงครามทางการค้า เป็นเพียงยกแรกของการทะเลาะกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งก็อาจจะจบไปแบบรอมชอมกันได้ และอาจจะเจ็บตัวไป 1 ปี จากนั้นอาจจะคลายตัวไป 1 ปี แต่ก็จะกลับมาใหม่ ดังนั้น หากใครทำธุรกิจระหว่างประเทศ ก็อาจจะเจอกับกฎเกณฑ์ที่ไม่ยุติธรรมนัก ซึ่งคงจะอยู่กับเศรษฐกิจโลกของเราต่อไปเรื่อย ๆ ในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ที่ต้องการกีดกันคู่แข่งอย่างจีน
“คนที่หวังจะทำธุรกิจแบบง่าย ๆ ต้องตระหนักว่าการค้าเสรีจะไม่ตรงไปตรงมาเหมือนเมื่อก่อน นักธุรกิจไทยต้องเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จาก ‘ความใกล้ชิด’ ที่เรามีกับจีน เพราะผมมองว่า การมีตลาดจีนอยู่ใกล้ ๆ เป็นโอกาสมากกว่าวิกฤต นอกจากนั้น ในภาพรวมของประเทศไทยที่ติดต่อค้าขายและทำธุรกิจกับจีน ผมมองว่าเราควรจะมีแผนยุทธศาสตร์กับจีนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือธุรกิจใหญ่ รวมถึงควรจะมียุทธศาสตร์แห่งชาติกับจีน วางกลยุทธ์ในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศเพื่อให้เราได้ประโยชน์มากที่สุดและไม่เสียเปรียบ”
การเรียนรู้จาก “บุคคลต้นแบบ”
คุณโจเล่าถึงประสบการณ์พิเศษ เมื่อครั้งได้ใช้ชีวิตเป็น“ทูตสัมพันธไมตรี” ที่จีน ซึ่งบุคคลที่ล้อมรอบตัวในขณะนั้น ล้วนเป็น “บุคคลต้นแบบ” (Role Model) ที่ประสบความสำเร็จ และสามารถเลือกนำมาใช้เป็นแบบอย่างในการทำงานได้เป็นอย่างดี
“Role Model ของผม ส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว รวมทั้ง ท่านโจว เอิน ไหล ซึ่งได้รับการถ่ายทอดแนวคิดผ่านมาทางคุณแม่ หลายบทเรียน หลายวิธีคิด ทัศนคติ การแก้ปัญหาซึ่งได้ฟังผ่านคุณแม่ อีกท่านคือ คุณปั้น ‘บัณฑูร ล่ำซำ’ ซึ่งท่านสอนหลายอย่าง ทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็ก เช่น ครั้งหนึ่งผมเคยถามท่านว่า ทำไมโต๊ะทำงานท่านไม่ค่อยมีเอกสารอะไรบนโต๊ะเลย คุณปั้นบอกว่า ‘ที่นี่เป็นที่แจกงาน ไม่ใช่ที่ทำงาน’ ผมก็พยายามกลับมาเคลียร์โต๊ะทำงาน และก็แจกงานให้ทีม แต่ 2 เดือนก็รกอีก หลังจากนั้นเราถึงค่อยปรับวิธีทำงานโดยเทรนลูกน้องและ ‘เชื่อใจ’ ทีมที่เราทำงานด้วย เพื่อให้เราสามารถเอาเวลาไปทำ หรือคิดอย่างอื่นได้”
“Work Right, Play Right” สมดุลชีวิตสร้างสุข
ในแง่มุมส่วนตัว แม้ว่าทุกวันนี้คุณโจจะสนุกกับการทำงาน แต่การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ก็เป็นสิ่งที่คุณโจให้ความสำคัญมาก เพราะประเด็นหนึ่งที่คนรุ่นเดียวกับคุณโจต้องรู้ และเตรียมตัวไว้คือ “ชีวิตทำงานในวันนี้จะไม่เหมือนเมื่อก่อน” อีกแล้ว
“จากไอเดียเดิม ๆ ที่เราจะเกษียณอายุที่ 60 ปี หรือบางคนอยากจะเกษียณที่ 45 ปีเพราะ Burn Out ทำงานหนักเกินไป ผมว่าโมเดลนั้นมันไม่เวิร์กแล้ว แบบนั้นเป็นแนวทางของคนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว วันนี้เราต้องเตรียมตัวทำงานจนถึง 75 ปีตามสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น วิธีการทำงาน และวิถีของการใช้ชีวิตก็ต้องปรับไปด้วย
“ในสังคมที่คนจะมีอายุที่ยืนยาวขึ้น เราต้องปรับชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวให้สมดุลกัน เราจะต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้น จะทำงานอย่างเดียว จนไม่ได้เที่ยว ไม่ได้พักผ่อน หรือมาเที่ยวตอนที่ไปไม่ไหวแล้วคงไม่ได้ ในสังคมวันนี้ ผมว่าคอนเซ็ปต์ Work Hard, Play Hard มันใช้ไม่ได้แล้ว ต้อง Work Right, Play Right
“สำหรับผมสิ่งที่ชอบทำนอกเวลางาน คือ การท่องเที่ยว จริง ๆ แล้วด้วยงานก็ต้องเดินทางบ่อยอยู่แล้ว แต่ถ้ามีเวลาก็ชอบที่จะไปเที่ยวและถ่ายรูปมาก ซึ่งผมจะใช้กล้องฟิล์มมากกว่ากล้องดิจิทัล เพราะสามารถสื่อถึงอารมณ์และความรู้สึกได้มากกว่า การที่ชอบถ่ายรูปส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากคุณพ่อ ผมได้กล้องตัวแรกจากท่านตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ เป็นกล้อง Canon ที่เป็น Single Lens Reflex รุ่นแรก ๆ จำได้ว่าคุณพ่อให้กระดาษ A4 มา 1 แผ่น สำหรับสอนให้ถ่ายรูป สอนการจับโฟกัสภาพ จึงกลายเป็นความชอบถ่ายรูป และสะสมกล้องต่อมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกล้องที่ได้มาจากคุณปู่ คุณตา เป็นกล้องตั้งแต่สมัยสงครามโลก บางตัวเป็นกล้องหายาก แต่ยังใช้ถ่ายได้ทุกตัว และพอมีภรรยา ผมก็ชวนให้ภรรยาชอบถ่ายรูปด้วย แล้วเขาก็ถ่ายรูปได้สวย และวันนี้กลายเป็นกิจกรรมที่ทำด้วยกันมาตลอด
“ส่วนการแบ่งเวลาของผม เหมือนกับไม่ได้แบ่งเวลา เพราะผมพยายามที่จะทำไปด้วยกัน เช่น ถ้าไปทำงานต่างประเทศ ก็อยู่ต่ออีกวันสองวัน เพื่ออยู่เที่ยวต่อ และตอนนี้มีลูกแล้วก็พาลูกเที่ยวด้วย ซึ่งลูก ๆ ก็ชอบไปเที่ยวมาก ยิ่งพอมีลูกการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่คิดว่าจะเที่ยวน้อยลง กลับเที่ยวมากขึ้น เพราะอยากจะพาลูกไปเที่ยวในที่ต่าง ๆ ด้วย
“ผมคิดว่า ช่วงสุดสัปดาห์เป็นเวลาที่สำคัญที่จะอยู่กับลูก เพราะเขามีเวลากับเราทั้งวัน เทียบกับวันจันทร์ถึงศุกร์ที่ลูกต้องไปเรียน เราจะมีเวลากับเขาแค่วันละไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้น เมื่อก่อนหากไปทำงานต่างประเทศวันศุกร์ และต้องทำงานต่อในวันจันทร์ เสาร์-อาทิตย์ผมจะอยู่ที่นั่นเลย ไม่บินกลับมาไทย แต่เมื่อมีลูกแล้ว เสาร์-อาทิตย์ผมจะบินกลับมาก่อน แล้วค่อยบินกลับไปใหม่ในวันจันทร์
“สำหรับลูก ๆ ผมไม่ได้ตั้งเป้าหมายให้เขาเป็นอย่างผม หรือเป็นอย่างใคร อยากให้เขาหาหนทางของเขาเองที่จะสืบต่อความสัมพันธ์พิเศษของเราที่มีต่อประเทศจีน ไม่จำเป็นต้องทำแบบที่เราทำ หรือทำบริษัท แต่ผมก็เตรียมแผนไว้ให้เขาบ้าง เตรียมโรงเรียนไว้ให้เขาที่จีน เพราะคุณแม่ของผมท่านอยากให้สืบทอดความสัมพันธ์กับจีน แต่ท่านไม่ได้ผลักดันหรือบอกเราตรง ๆ เพราะกลัวเราจะต่อต้าน
“และท้ายที่สุด คือ ‘การตอบแทนสังคม’ เป็นอีกทางหนึ่งที่ผมอยากทำทั้งในประเทศไทยและในประเทศจีน ผมกับน้องชายได้ตั้ง ‘มูลนิธิฉางอ้าย’ เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในจีน โดยปีนี้เป็นปีที่ 10 แล้ว และเป็นปีที่เราจะกลับมาทบทวน และปรับมาตรการความช่วยเหลือในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น”