​ภาพรวม FinTech กับระบบการเงินของไทย

ในโลกการเงินปัจจุบัน หนึ่งในคำที่ได้ยินบ่อย คือ ฟินเทค หรือ เทคโนโลยีทางการเงิน ซึ่งถ้าตีความกว้าง ๆ คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความสะดวก รวดเร็ว ความปลอดภัย ลดต้นทุนที่เกิดขึ้น และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการได้ดียิ่งขึ้น BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ จึงขอสรุปภาพรวมพัฒนาการของฟินเทคในระบบการเงิน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงการผลักดันระบบนิเวศฟินเทคของ ธปท.

 

ฟินเทคถูกคาดหวังว่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินในส่วนที่เทคโนโลยีแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ได้ด้วยขีดจำกัดทางความชำนาญด้านเทคโนโลยี วัฒนธรรม องค์กร แนวคิดการให้บริการแบบเดิม ๆ หรือกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตามในฐานะสถาบันการเงินก็ดี โดยในแต่ละประเทศมีการพัฒนาฟินเทคในมิติที่แตกต่างกัน ตามสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป

 

หนึ่งในพัฒนาการที่เห็นได้ชัด คือ การเกิดขึ้นของบริษัทฟินเทคเกิดใหม่ หรือที่เรียกว่า ฟินเทคสตาร์ทอัป (FinTech Startups) ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน โดยมีจุดเด่นคือความชำนาญในด้านเทคโนโลยีและลักษณะการดำเนินธุรกิจ (Business Model) รูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถปิดช่องว่างที่เกิดขึ้นสำหรับลูกค้า โดยเน้นการให้บริการเฉพาะด้านและมีความคล่องตัวสูง ส่งผลให้มีบริษัทฟินเทคเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักรมีบริษัทฟินเทคราว 1,600 บริษัท ส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการชำระเงินและการโอนเงินระหว่างประเทศ (Payments and Remittances) และซอฟต์แวร์ด้านการเงิน (Financial Software) ประเทศสิงคโปร์มีบริษัทฟินเทคราว 500 บริษัทที่ส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) การให้กู้เงินแบบทางเลือก (Alternative Lending) และการชำระเงิน ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียมีบริษัทฟินเทคราว 260 บริษัท เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Payment) และการให้กู้เงินแบบทางเลือก


ความก้าวหน้าของฟินเทคในประเทศไทย

 

 

สำหรับประเทศไทยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ฟินเทคเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก โดยมีผู้เล่นจากทั้งในและนอกประเทศ โดยมีฟินเทคสตาร์ทอัปที่เป็นสมาชิกของสมาคมฟินเทคประเทศไทยจำนวนเกือบ 70 บริษัท นอกจากนี้ สถาบันการเงินในไทยก็มีความตื่นตัวในการนำฟินเทคมาปรับปรุงวิธีการดำเนินงานและรูปแบบธุรกิจของตัวเอง เร่งเปลี่ยนแปลงและพัฒนาความสามารถ เพื่อให้แข่งขันในยุคดิจิทัลได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงและขยายกลุ่มลูกค้า เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด รวมทั้งทำให้ประชาชนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินสามารถเข้าถึงได้ดียิ่งขึ้นด้วย

 

ฟินเทคกำลังก้าวเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันจนแทบจะขาดไม่ได้ หนึ่งในพัฒนาการด้านฟินเทคที่เด่นชัดที่สุดของไทยคือ การพัฒนามาตรฐาน QR Code เพื่อการชำระเงิน ที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Payment) ให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถรับชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการขยายช่องทางการรับชำระเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ทำให้ร้านค้ามีต้นทุนต่ำลง

 

ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนยังสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินบนโทรศัพท์มือถือได้ (Mobile Banking) โดยไม่ต้องจำชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านให้ยุ่งยาก โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล หรือ Biometrics ที่เพียงแค่สแกนลายนิ้วมือหรือใบหน้า ผู้ใช้บริการก็สามารถยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้งาน Mobile Banking ได้ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังเริ่มใช้ Biometrics ในการเปิดบัญชีเงินฝาก เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความถูกต้องแม่นยำของการยืนยันตัวลูกค้า เป็นส่วนเสริมนอกเหนือจากการตรวจสอบโดยพนักงาน ด้วยเทคโนโลยีการใช้ข้อมูล Biometrics ที่กำลังจะมีบทบาทและความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต การพัฒนาระบบ National Digital Identity (NDID) โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลการพิสูจน์ยืนยันตัวตนลูกค้าระหว่างหน่วยงาน ด้วยวิธีที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง จะช่วยให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานหลายครั้งเช่น การเปิดบัญชีและการขอสินเชื่อกับผู้ให้บริการรายใหม่ได้สะดวกมากขึ้น โดยใช้หลักการตรวจสอบยืนยันข้อมูลกับหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือผู้ให้บริการที่เคยรู้จักตัวตนของผู้ขอใช้บริการแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดการให้บริการใหม่อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น Digital Lending หรือ Bio-Payment (อาทิ การชำระเงินด้วยใบหน้าและลายนิ้วมือ)

 

นอกจากเทคโนโลยี "หน้าบ้าน" หรือเทคโนโลยีที่ผู้ใช้บริการได้ใช้งานโดยตรงที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ยังมีเทคโนโลยี "หลังบ้าน" ที่จะเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานของผู้ให้บริการ ให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนที่ถูกลง ตัวอย่างเช่น


Distributed Ledger Technology (DLT)

 

เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่ได้นำมาประยุกต์ใช้ในภาคการเงินมากที่สุด ด้วยคุณลักษณะเด่นของบล็อกเชนที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลชุดเดียวกัน โดยข้อมูลไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้ที่เดียว มี ระบบ Consensus ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องรับทราบและยอมรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูล ทำให้ข้อมูลในระบบมีความโปร่งใส มีความน่าเชื่อถือสูง สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา และมั่นคงปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ โดยในภาคการเงินไทย ได้เริ่มมีการนำบล็อกเชนมาใช้ในการให้บริการหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) ที่ช่วยให้สถาบันการเงินมีกระบวนการผลิต จัดเก็บ และนำส่งหนังสือค้ำประกันที่รวดเร็ว ปลอดภัย และน่าเชื่อถือได้ดีกว่าในรูปแบบกระดาษ ซึ่งนั่นหมายถึงประโยชน์ต่อภาคธุรกิจที่จะสามารถมั่นใจได้ว่าหนังสือค้ำประกันมีความถูกต้อง แม่นยำและลดต้นทุนในการจัดเก็บและนำส่งหนังสือค้ำประกันไปให้กับคู่ค้าอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาบล็อกเชนเข้ามาใช้เพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลง และรวดเร็วมากขึ้นด้วย


Artificial Intelligence (AI)

 

หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะมีความสำคัญไม่แพ้กัน AI คือการสร้างความฉลาด ความเข้าใจ ความรู้ ที่มีในมนุษย์ให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต โดย AI นั้นสามารถประยุกต์ใช้ในการให้ บริการทางการเงินได้หลากหลาย อาทิ การรู้จำตัวอักษร (Optical Character Recognition: OCR) เช่น การอ่านข้อมูลบัตรประชาชน ด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ ช่วยเพิ่มความรวดเร็ว และลดความผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลผิด การรู้จำคำพูด (Speech Recognition) เช่น การพูดคำสั่งเมื่อโทรเข้า Call Center ที่เป็นระบบอัตโนมัติที่เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ และการเรียนรู้ของเครื่อง หรือ Machine Learning ที่สามารถเรียนรู้ และทำนายข้อมูลได้ผ่านการศึกษาและสร้างอัลกอริทึม (Algorithm)

 

ในภาคการเงินได้เริ่มมีการนำ AI เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ โปรแกรมตอบกลับการสนทนาผ่านตัวอักษรแบบอัตโนมัติ (Chatbot) ซึ่งช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการและลดการใช้แรงงานมนุษย์ลง การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินคุณภาพของลูกค้าผู้ขอกู้เงินด้วย AI ที่ใช้ Machine Learning ในการเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต ลักษณะการใช้จ่ายและการชำระเงิน เพื่อวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ วงเงินปล่อยกู้ที่เหมาะสม มาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

 

Application Programming Interface (API)

 

เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเชื่อมต่อฐานข้อมูลแอปพลิเคชัน (Application) หรือระบบงานต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการทั้งสถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้นตามความประสงค์ของผู้ใช้บริการบนพื้นฐานของความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการจัดการความปลอดภัยที่เหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม การจะดึงศักยภาพของฟินเทคให้ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ การร่วมกันสร้างระบบนิเวศให้สมบูรณ์ ครบวงจร และเติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือในทุกภาคส่วน ดังนั้น ลักษณะการทำธุรกิจและการแข่งขันของผู้ให้บริการจะต้องเปลี่ยนแปลงไป และมีความร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการให้ได้มากที่สุด

 

ผลักดันนวัตกรรมทางการเงิน สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์

 

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดำเนินการเพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินพร้อมกับระบบนิเวศที่สมบูรณ์ในหลายด้าน ได้แก่ การสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมทางการเงินผ่านกลไกการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (Regulatory Sandbox) ที่เอื้อให้ผู้ให้บริการทางการเงินทั้งสถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงินสามารถพัฒนาบริการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และทดลองให้บริการได้ โดยเริ่มจากการทดสอบการให้บริการในขอบเขตจำกัด ก่อนจะให้บริการในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจและได้รับประโยชน์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ได้อย่างเต็มที่ รวดเร็ว และปลอดภัย โดยที่ ธปท. ยังสามารถติดตาม ประเมินความเสี่ยงได้อย่างใกล้ชิดและเหมาะสม

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังได้เริ่มประยุกต์ใช้บล็อกเชนในงานของ ธปท. เอง เพื่อให้ ธปท. และผู้เกี่ยวข้องได้เรียนรู้บล็อกเชนในเชิงลึกและประเมินความเหมาะสมในการนำไปใช้จริงต่อไป โดยได้ดำเนินโครงการนำร่อง 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการอินทนนท์ที่ทดสอบใช้บล็อกเชนในการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน และ (2) โครงการ DLT Scripless Bond ที่นำบล็อกเชนมาทดสอบใช้ในงานจำหน่ายพันธบัตรเพื่อช่วยลดความซับซ้อน ลดขั้นตอน และเวลาในการดำเนินงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง

 

ธปท. ยังมุ่งส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนา ต่อยอดบริการในอนาคต อาทิ การจัดตั้ง Thailand Blockchain Community Initiative ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคการเงินและภาคธุรกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับบล็อกเชนและส่งเสริมการนำบล็อกเชนมาพัฒนาบริการทางการเงินที่หลากหลาย รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานภาครัฐ และสมาคม ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ ในการติดตามพัฒนาการ แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และแนวทางการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาฟินเทคในประเทศไทยเป็นไปอย่างยั่งยืน ทันการณ์ สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน และสามารถช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคการเงินไทยให้เท่าเทียมกับนานาประเทศได้