ธานินทร์ ทิมทอง

Education Technology กับการยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทย



 

 

 

พัฒนาการของเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ทำให้เราเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในหลายมิติ รวมถึงทำให้สิ่งที่เราทำไม่ได้ในอดีตสามารถทำได้ ทว่าความท้าทายอยู่ที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของประเทศ เช่น เรื่องการศึกษาได้อย่างไร คุณธานินทร์ ทิมทอง และเพื่อน เชื่อว่าเทคโนโลยีมีศักยภาพที่จะช่วยยกระดับคุณภาพ และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษาไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยในปัจจุบัน และถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ชมเป็นผู้แก้ปัญหา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ที่ตั้งใจนำเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนการศึกษาด้วยดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อแก้ปัญหาจำนวนครูไม่พอและพัฒนาคุณภาพการเรียนในพื้นที่ห่างไกล จากกลุ่มเล็ก ๆ ได้ขยายขึ้นเรื่อย ๆ จนวันนี้มีโรงเรียน 160 แห่งใน 44 จังหวัดทั่วประเทศ ที่ได้เรียนผ่านระบบดิจิทัลคอนเทนต์ของ เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น


จุดเริ่มต้นของ "เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น
"

 

ช่วงประมาณปี 2554 คุณธานินทร์และเพื่อนมักได้ยินข่าว บ่อยครั้งว่าการศึกษาในประเทศไทยไม่ดีนัก จุดเริ่มต้นของ "บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น" จึงเกิดจากความตั้งใจที่จะเปลี่ยนจากการเป็นผู้ชมมาเป็นผู้ลงมือแก้ปัญหา ถึงแม้ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา แต่ด้วยเพราะได้คลุกคลีกับโรงเรียนจำนวนมาก จึงทำให้ทราบถึงปัญหาและความต้องการของโรงเรียนเป็นอย่างดี

 

"เราเจอปัญหาซ้อนปัญหา 2 เรื่อง คือคุณภาพการศึกษาและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในต่างจังหวัด ภาพที่คุ้นตาของโรงเรียนในต่างจังหวัด ครูหนึ่งท่านสอนหลายวิชา และสอนหลายระดับชั้น นั่นหมายความว่า ไม่ว่าครูท่านนั้นจะจบอะไรมาก็ตาม จะมีบางวิชาที่ท่านสอนได้ไม่เต็มคุณภาพ เพราะขาดความเชี่ยวชาญ แต่ด้วยความจำเป็นและจิตใจเปี่ยมไปด้วยความเป็นครู จึงทำให้หลายท่านยังต้องสอนหลายวิชาอย่างที่เราเห็น

 

"หลายคนมักพูดว่า ที่การศึกษาไม่ดีเป็นเพราะครู แต่สิ่งที่ผมอยากบอกคือ ครูส่วนใหญ่เป็นครูที่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู เขาถึงมาทำอาชีพนี้ แต่ปัจจุบันครูยังขาดปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ เยอะมาก ทั้งเครื่องมือ เทคโนโลยี สื่อการเรียนการสอน ที่จะช่วยให้ครูพัฒนาอนาคตของชาติได้อย่างเต็มที่

 

"เมื่อก่อน ถ้าจะพัฒนาโรงเรียนต้องพัฒนาครู ต้องหาครูเก่ง ๆ ไปสอนให้มากเพียงพอกับปริมาณเด็ก โรงเรียนไหนโชคดีได้ตามนี้ ก็จะมีมาตรฐานสูง ในขณะที่บางโรงเรียนมีครูเก่ง แต่มีอยู่ 5 - 6 คน ครูก็ดูแลเด็กเต็มไปหมด หรือหาครูที่มีความเชี่ยวชาญได้น้อย ทำให้จัดการศึกษาลำบาก"


จัดการเรียนการสอนด้วยดิจิทัลคอนเทนต์

 

หลังจากวิเคราะห์ปัญหาในระดับหนึ่งแล้ว คุณธานินทร์และทีมงานจึงคิดว่าจะหาอะไรมาช่วยสนับสนุนระบบการศึกษาได้บ้าง ทั้งเครื่องมือและระบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม จึงเป็นที่มาของการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ รวมถึงแพลตฟอร์มแผนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อให้มีความน่าสนใจและน่าสนุกยิ่งขึ้นสำหรับเด็กด้วย ที่สำคัญยังสามารถใช้งานได้ในพื้นที่ที่ห่างไกล

 

"เราคุยกับคุณครูว่า นอกจากดิจิทัลคอนเทนต์แล้วต้องการอะไรเพิ่มอีกบ้าง สิ่งที่ครูบอกเรามา คือ เขาอยากได้แผนการสอน และเครื่องมือที่ช่วยให้เขาประเมินเด็ก คำว่า 'ประเมิน' ในความหมายของครู คือ สามารถเห็นพัฒนาการของเด็ก เด็กคนไหนที่พัฒนาการยังไม่ถึงเกณฑ์ ครูจะช่วยเข้าไปดูแลได้ถูก

 

"พอผมฟังแล้วก็เกิดความคิดว่าต้องทำ Learning Platform ควบคู่ไปกับดิจิทัลคอนเทนต์ที่น่าสนใจ ถึงจะประกอบภาพในห้องเรียนได้สมบูรณ์มากขึ้น พอทำตรงนี้ เราใช้เวลาทำวิจัยเก็บข้อมูลที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นระยะเวลา 1 ปี ผลที่ได้คือเด็กที่เรียนกับระบบของเรามีคะแนนเพิ่มขึ้นเราจึงลองใช้คอนเทนต์และแพลตฟอร์มนี้กับโรงเรียนอื่นที่มีความท้าทายไม่แพ้กัน คือโรงเรียนเอกชนสงเคราะห์ นักเรียนเป็นเด็กชาวเขาที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

 

"โรงเรียนนี้อยู่ห่างจากสนามบิน 80 กิโลเมตร แต่เดินทาง 3 ชั่วโมง โรงเรียนต้องปั่นไฟเรียน และไม่มีครูสอนชั้นมัธยม ถ้าไม่ไปช่วยตอนนั้น ก็ไม่สามารถเปิดชั้นมัธยมได้ เด็กชาวเขาตรงนั้นก็จะได้เรียนแค่ ป. 6 พอเราเข้าไปดำเนินการ อีกสิ่งที่เห็น คือ เมื่อมีเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ เข้าไป แววตาเด็กเขาจะเป็นประกาย เพราะสิ่งที่เคยไกลตัวเขาไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป พวกเขาตั้งใจเรียนมาก จนบางครั้งเราก็ประหลาดใจว่าคะแนนสอบท้ายภาคของเด็กมีคะแนนดีขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด"

 

"ระบบการเรียนการสอนของเลิร์น เอ็ดดูเคชั่น ได้ขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงแค่โรงเรียนชาวเขาเท่านั้น ยังรวมถึงโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนปริยัติธรรม วัดสวนดอกที่ให้เณรมาบวชเรียนด้วย ทำให้ปัจจุบันมีโรงเรียนที่ใช้ระบบดังกล่าวถึง 160 โรงเรียนทั่วประเทศ ใน 44 จังหวัด โดยในกรุงเทพฯ มี 2 - 3 โรงเรียน ส่วนที่เหลือเป็นต่างจังหวัดครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสาน เหนือ กลาง และใต้ตามลำดับ" ในจำนวนนี้ มีอยู่ 4 โรงเรียน ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)


เทคโนโลยีดีไซน์เพื่อการศึกษ

 

 

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วการเรียนการสอนที่ใช้ดิจิทัลคอนเทนต์ผ่านเลิร์น เอ็ดดูเคชั่นเป็นอย่างไร คุณธานินทร์ได้อธิบายว่า "ตัวอย่างชั่วโมงคณิตศาสตร์เรื่อง เศษส่วนและทศนิยม เมื่อเริ่มชั่วโมงเรียน ครูจะเป็นผู้พูดเปิดบทเรียน บอกวัตถุประสงค์การเรียนในบทนั้น ๆ ว่าสำคัญอย่างไร จากนั้นเด็กจะเรียนผ่านเนื้อหาในคอมพิวเตอร์ สำหรับวิชาคณิตศาสตร์เนื้อหาจะยาวแค่ 15 นาที เพราะเรารู้ว่าการที่เด็กเรียนต่อยาว ๆ ความสนใจเขาจะน้อยลง

 

 

"ระหว่างเรียน เด็กจะใส่หูฟัง ดูคลิปวีดีโอเนื้อหาการเรียนผ่านคอมพิวเตอร์แบบ 1 ต่อ 1 ซึ่งเด็กทุกคนสามารถปรับระดับความเร็วในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง แก้ปัญหาการเรียนไม่ทันเพื่อนได้ด้วย โดยมีครูทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และผู้อำนวยความสะดวกคอยสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน คนไหนจดไม่ทัน ครูจะอธิบายเป็นรายบุคคลทันที เด็กที่เรียนรู้ได้ช้าจะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น เด็กที่ไม่เข้าใจจะกล้ายกมือถามมากขึ้น พอผ่าน 15 นาทีไปแล้ว ครูจะอธิบายในสิ่งที่เด็กไม่เข้าใจเพิ่ม และให้ทำแบบฝึกหัดผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเด็กลอกกันไม่ได้ เพราะใช้วิธีสุ่มเลือกโจทย์ พอเด็กทำเสร็จ ข้อมูลจะส่งไปเครื่องคอมพิวเตอร์ของครูเพื่อวิเคราะห์ว่า เด็กมีคะแนนเฉลี่ยเท่าไร มีเด็กกี่คนที่คะแนนเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐาน ถ้าคะแนนสูงจะสอนเรื่องต่อไป แต่ถ้าครูประเมินแล้วว่าเด็กไม่เข้าใจหัวข้อนี้ และในระบบจะประเมินให้ด้วยว่าเด็กผิดหัวข้ออะไร ครูก็สามารถอธิบายซ้ำได้ และมีการทดสอบอีกครั้งและสรุปผลอีกครั้ง

 

 

"การออกแบบการเรียนการสอนของเรา ไม่ได้บังคับว่าเด็กต้องเรียนกับระบบทุกคาบ ใน 4 คาบ อาจเรียนกับระบบ 2 คาบ อีก 2 คาบเรียนกับครู แบบนี้ครูจะออกแบบได้ว่าชั่วโมงที่เหลือจะมีการเรียนการสอนอย่างไร ซึ่งต่างจากเดิมที่ครูต้องสอนเองทั้งหมด สิ่งที่เราต้องไม่ลืม คือเทคโนโลยีเป็นเครื่องเอื้อประโยชน์และเป็นเครื่องมือก็จริง แต่ก็เป็นความท้าทายกับคนที่อยู่ในระบบเดิมด้วย จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบเรียนของเราเข้าไปอบรมครูว่าต้องทำอย่างไร เราพยายามทำระบบที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป เพื่อให้ครูและนักเรียนใช้งานง่ายและเกิดประโยชน์ที่สุด"

 


เทคโนโลยีช่วยพัฒนารูปแบบกา
รสอน

 

 

คุณธานินทร์เสริมว่า "เพราะปัจจุบันการศึกษาไม่ได้แข่งกันระหว่างโรงเรียน แต่ในภาพรวมกำลังแข่งกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยีทำให้คอนเทนต์ต่าง ๆ กระจายไปได้หมด แล้วธรรมชาติของคนก็จะวิ่งเข้าหาสิ่งที่เติมเต็มอารมณ์ สบายใจ สนุก น่าสนใจ ก่อนเสมอ

 

 

"เทคโนโลยีช่วยเอื้อให้ความรู้มีความหลากหลายขึ้น มีคุณภาพสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับโลกยุคถัดไป ไม่ใช่แข่งกันที่ความรู้ แต่แข่งที่ทักษะมากขึ้น ครูควรเปลี่ยนบทบาทตนเองจากให้ความรู้เป็นกระตุ้นความรู้และการคิดให้กับเด็ก เมื่อมีเทคโนโลยีเข้าไป ครูจะสามารถทำบทบาทตรงนี้ได้ง่ายมากขึ้น ได้สมบูรณ์มากขึ้น ไม่ต้องกังวลกับการสอนเหมือนที่เคยเป็นมา"

 

 

ความท้าทายของการศึกษาในอนาคต

 

"คำถามเรื่องนี้ ผมต้องขอย้อนกลับไปดูคำนิยามว่า การศึกษาคืออะไร การศึกษาคือการสร้างคนดี คนเก่ง คนที่มีความสุข หรือคนที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าสำหรับผม การสร้างคนดีในอนาคต คือ ต้องทำให้ชีวิตคนดีขึ้นและสังคมดีขึ้น ถ้าโจทย์เป็นแบบนี้แล้วมองไปข้างหน้า สิ่งที่ท้าทายที่สุด โลกจะเปลี่ยนเร็วมาก จนสิ่งที่เป็นกรอบเดิมที่เราเคยประสบมา อาจไม่มีอยู่จริงอีกแล้ว

 

"เด็กคนหนึ่งอาจต้องทำ 3 - 4 อาชีพ จนกว่าจะทำงานไม่ไหว จนกว่าจะเกษียณ เด็กต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ดังนั้น ผมว่าความท้าทายที่สุดมีอยู่ 2 ระดับ เราต้องทำให้ทิศทางการศึกษาในบ้านเรา ทำให้คนมีทั้งความรู้ ทักษะ และคิดเป็น เพื่อที่ในอนาคตไม่ว่าเขาจะเจออะไร เขาสามารถรับกับความเปลี่ยนแปลงได้ นี่คือความท้าทายในวันนี้ที่ต้องรีบทำยิ่งช้าก็ยิ่งไม่ทัน

 

"แต่ถ้ามองไปอีกในอนาคต ผมมองภาพว่า แต่ละช่วงเจเนอเรชันจะถูกหล่อหลอมด้วยปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในที่แตกต่างกันคนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้การหาความสุขและความหมายของชีวิตให้เจอ มันลึกกว่าที่เราเคยเจอมา อย่างเช่น เด็กบางคนมีทักษะมาก มีพรสวรรค์มาก เรื่องดนตรี เรื่องกีฬา หรืออื่น ๆ ถ้าเขาได้เรียน ได้ทำในสิ่งที่เขามีความสุข และมีความหมายกับเขา ผมว่าแบบนี้จะตอบโจทย์การศึกษาจริง ๆ

 

"การศึกษาในอนาคต ต้องเตรียม 2 เรื่อง หนึ่ง คือ Mindfulness ทำอย่างไรให้คนเข้าใจตัวเอง และสอง คือ เห็นทางเลือกที่มีอยู่ในอนาคต"

 

การเชื่อมต่อความรู้ทางการเงินผ่านวิชาพื้นฐาน

 

"ความรู้ทางการเงินเป็นความรู้ที่ทุกคนต้องมี ไม่ใช่เฉพาะคนที่จบการเงินมา แต่ในปัจจุบันในประเทศเรา คนส่วนมากไม่มีความรู้เรื่องการเงิน ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีมีความคล่องตัว เป็นไปได้ไหมที่เราจะเชื่อมต่อความรู้ทางการเงินต่าง ๆ เข้าไปในวิชาพื้นฐาน

 

"ผมยกตัวอย่าง ทำไมเราไม่สอนเรื่องการออมแทรกเข้าไปในวิชาคณิตศาสตร์ ทำไมเราไม่สอนเรื่องหน้าที่การเสียภาษีเข้าไปในวิชาสังคม พวกนี้เป็นหน้าที่ที่เราควรทำไม่ใช่ภาระ หรือแม้กระทั่งการสอนศัพท์เทคนิคทางการเงินเข้าไปในวิชาภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ เมื่อเด็กเจอศัพท์เหล่านี้ข้างนอกหรือตามสื่อต่าง ๆ ก็จะมีความเข้าใจและรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป พอเป็นแบบนี้จะทำให้มันแทรกซึมเข้าไปได้"

 

คุณภาพชีวิตที่ดีกับการแบ่งปันเพื่อสังคม

 

เมื่อการศึกษากับคุณภาพชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องไปควบคู่กัน เรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องหนี้ครัวเรือน และเรื่องหนี้จากการใช้จ่ายอย่างไม่ระวัง ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้น

 

"โดยพื้นฐานเลย คือ ให้เด็กรู้ว่าเงินไม่ได้หามาได้ง่าย ๆ เขาควรแบ่งกองใช้อย่างเหมาะสม จะมีประโยชน์ทั้งตัวเขาเอง ครอบครัว และสังคม ความเชื่อของผม ผมเชื่อเรื่องการมีส่วนร่วมของทุกคนในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน สถาบันครอบครัว องค์กรทั้งรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ธปท. ก็เป็น Role Model ที่ดีในการส่งเสริมความรู้การเงิน ทำอย่างไรที่เราจะสร้างหนทางร่วมกันว่าคนแต่ละช่วงอายุต้องเจอความท้าทายเรื่องการเงินอะไรบ้าง ต้องเตรียมอะไรไว้ก่อน เพื่อในอนาคต เขาจะได้เข้าใจและตอบสนองอย่างเหมาะสม

 

"มิติเรื่องการเงิน ผมอยากให้มองทั้งเรื่องการหา การใช้ และการช่วยเหลือผู้อื่น เงินเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับใช้ในการช่วยเหลือผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะผ่านกลไกทางภาษี หรือกลไกการไปช่วยคนที่เขาอยากช่วย แบบนี้จะเป็นการต่อจิ๊กซอว์ชีวิตให้กับคนบางคนได้ เราไม่ได้เกิดมาเพื่อสำเร็จ มีเงิน และตาย แต่เกิดมาแล้วเราใช้กลไก ส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับผู้อื่น ให้กับสังคม"