ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้สร้างกระแสต้านโกงและวางกลไกต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ

 

 

 

 

ความพยายามต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในไทยเกิดขึ้นมาหลายสิบปี แต่สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้น โดยดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในภาครัฐ (Corruption Perceptions Index) ปี 2561 ของไทยลดลงมาอยู่ที่อันดับ 99 จาก 180 ประเทศ1 โดยอยู่ในกลุ่มเดียวกับฟิลิปปินส์และโคลัมเบีย อย่างไรก็ดี เกือบทศวรรษแล้ว ที่ภาคธุรกิจรวมตัวกันก่อตั้งองค์กร ต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อเป็นแกนหลักในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน และมีส่วนสร้างความตื่นตัวในภาคประชาชน สื่อมวลชน จนเกิดกระแส "ต้านโกง" ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หนักแน่นขึ้นจนเป็นพลังสำคัญและทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า นี่คือความหวังของไทยในการขจัดปัญหานี้ได้ในอนาคต BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจาก ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มาให้ความกระจ่างเกี่ยวกับสถานการณ์ และพัฒนาการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย

 

สถานการณ์และพัฒนาการคอร์รัปชันในไทย

 

"สถานการณ์คอร์รัปชันของไทยยังอยู่ในขั้นวิกฤต การทุจริตยังมีอยู่มาก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปเมื่อดูจากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศคือ คอร์รัปชันขนาดเล็ก ซึ่งหมายถึง การเรียกรับสินบนจากประชาชนที่ไปติดต่อส่วนราชการลดลง แต่ที่เพิ่มขึ้นคือคอร์รัปชันขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มเหมือนกันทั่วโลก กล่าวคือ คอร์รัปชันขนาดกลางคือ การที่คนติดต่อส่วนราชการในระดับธุรกิจถูกเรียกเงินใต้โต๊ะมากขึ้น และคอร์รัปชันขนาดใหญ่ หรือคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่คนใช้อำนาจหน้าที่ของตัวเองไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ส่วนตัว หรือให้พวกพ้องของตัวเองได้เปรียบคนอื่น"

 

 

ปัจจัยที่ทำให้คอร์รัปชันฝังรากลึกในสังคมไทย

 

"การที่คอร์รัปชันฝังรากลึกในสังคมไทยมาจากหลายปัจจัยที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขและพัฒนาอย่างจริงจัง ได้แก่ (1) Mindset แบบระบบอุปถัมภ์ การให้ความสำคัญกับคนร่ำรวยหรือคนมีอำนาจที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง (2) ระบบราชการที่เป็นจุดตั้งต้นการคอร์รัปชันไม่เคยมีการปฏิรูปกันมานาน ขาดความโปร่งใส ทำอะไรก็ตรวจสอบไม่ค่อยได้ (3) กฎหมายจำนวนมากเปิดโอกาสให้ข้าราชการใช้ดุลพินิจ และเป็นช่องทางคอร์รัปชัน (4) การขาดกลไกปกป้องคุ้มครองประชาชนที่พยายามต่อสู้ที่จะไม่จ่ายสินบน หรือเปิดโปงการทุจริต และ (5) การเอาผิดคนโกงทำได้ยาก เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ หรือมีการช่วยเหลือกัน เชื่อหรือไม่ว่า ทุกวันนี้เรื่องที่สามารถเอาผิดลงโทษได้มีไม่ถึงร้อยละ 5 ของเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในมือของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีไม่ถึงร้อยละ 5 ของจำนวนเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ที่สำคัญ ในภาคการเมือง ผู้นำประเทศไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนและจริงจังว่าเขารังเกียจการโกง และจะเล่นงานคนโกงอย่างเท่าเทียมไม่เลือกหน้า

 

 

"สุดท้ายคอร์รัปชันที่เคยจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ ทุกวันนี้กระจายไปสู่ทุกกลุ่มในสังคม เพราะมีแบบอย่างให้เห็นว่า เมื่อผู้ใหญ่ระดับสูงทำกัน ทำให้ข้าราชการระดับรองลงมาก็ทำ เมื่อข้าราชการทำ พ่อค้าก็ทำได้ พระสงฆ์ก็ทำได้ นักการเมืองท้องถิ่นก็ทำได้ ดังนั้น ชาวบ้านเมื่อมีโอกาส เขาจึงโกงเพื่อความสุขสบายของตัวเองจึงไม่แปลกใจที่ทุกวันนี้เราจะเห็นคนทุกอาชีพเป็นข่าวที่เกี่ยวพันกับการโกง"

 

ผลของคอร์รัปชันที่กระจายตัวในทุกกลุ่มในสังคม

 

 

"ผมคิดว่า คอร์รัปชันเป็นการเอารัดเอาเปรียบ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม และเป็นเหตุให้สังคมแตกแยก กล่าวคือ ภาครัฐ เราจะได้ยินว่า ข้าราชการจำนวนหนึ่ง นักการเมืองจำนวนมากดิ้นรนเข้าสู่อำนาจ เพื่อจะให้ตัวเองได้ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและเกื้อหนุนพวกพ้อง จนบั่นทอนประสิทธิภาพของระบบราชการ

 

 

"ภาคเศรษฐกิจ แทนที่นักธุรกิจจะแข่งขันกันเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เมื่อเขาเรียนรู้ว่า สภาพแวดล้อมในระบบเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยต่อการแข่งขันอย่างเท่าเทียม ทุกคนก็จะหาช่องทางเพื่อให้ตัวเองได้งาน ได้ผลประโยชน์มากขึ้นเกินกว่าปกติ ซึ่งก็คือ Rent Seeking ถ้าวันนี้ ประเทศไทยยืนอยู่เพียงประเทศเดียวเราจะ เดินหน้าไปอย่างพิการแบบนี้ แต่ความจริงเราต้องแข่งขันในระดับโลก การที่เราไม่พัฒนาศักยภาพตัวเอง ความสามารถในการแข่งขันของไทยจึงถดถอยลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

 

 

"ภาคประชาชน การที่สังคมไม่เป็นธรรม เราจึงเห็นความแตกแยกในสังคม สุดท้ายประชาชนรับต้นทุนที่หนักกว่าเงิน และถ้าเราไม่ทำอะไรเลย นับวันสิ่งเหล่านี้ มีแต่จะเลวร้ายลงไปเรื่อย ๆ"

 

 

ทัศนคติของคนไทยต่อการคอร์รัปชัน

 

"ถ้าย้อนหลังไป 7 - 8 ปีที่แล้ว ผลการสำรวจทัศนคติคนไทยพบว่า คนส่วนใหญ่เห็นว่า คอร์รัปชันไม่เป็นไรถ้ามีผลงาน แต่ทุกวันนี้ ผลการสำรวจจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ Global Corruption Barometer (GCB) ปี 2560 ให้ข้อมูลที่ตรงกันว่า คอร์รัปชันเป็นสิ่งที่คนไทยยอมรับไม่ได้ และ GCB วิเคราะห์ว่า คนไทยมองสถานการณ์คอร์รัปชันดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิก กล่าวคือ คนไทยเพียงร้อยละ 17 เห็นว่าคอร์รัปชันจะมากขึ้นในอนาคตซึ่งน้อยกว่าญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ขณะที่คนไทยร้อยละ 72 บอกว่า พร้อมจะให้การสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ด้านหนึ่งอาจตีความได้ว่า คนไทยจำนวนมากรังเกียจคอร์รัปชัน"

 

 

ปัจจัยที่ทำให้ทัศนคติคนไทยดีขึ้น

 

"หลายปีที่ผ่านมาเราพยายามรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชน ผ่านสื่อต่าง ๆ มากขึ้น ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็พยายามขุดคุ้ยพฤติกรรมการโกงให้เห็น และ Social Media ช่วยขยายผลได้มาก นอกจากนี้ งานวิชาการที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและวัดขนาดความเสียหายได้รับการสนับสนุนมากขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่รังเกียจคอร์รัปชันมากขึ้นคือ พวกเขาได้สัมผัสความไม่เป็นธรรมด้วยตัวเอง และเรียนรู้ว่าเศรษฐกิจที่มีปัญหาทุกวันนี้ เพราะทุกคนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

 

"ในแง่ของเด็กที่จบใหม่เข้าตลาดแรงงาน คนที่อยากรับราชการจำนวนมากต้องเผชิญกับระบบเส้นสาย จ่ายเงินใต้โต๊ะ และแม้เมื่อทำงานแล้ว จะย้ายหน่วยงาน ก็ต้องมีเส้นสายและจ่ายเงินใต้โต๊ะ ที่ได้ยินกันมากคือ วงการตำรวจ หรือที่เริ่มมีข่าวออกมามากขึ้นคือ วงการครู หรือพยาบาล หากต้องการย้ายไปประจำโรงเรียนหรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน พวกเขาต้องจ่ายค่าย้ายตามระยะทาง ตามขนาดของโรงเรียน"

 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อทัศนคติด้านคอร์รัปชันของคนไทยเปลี่ยนไป

 

"เมื่อคนไทยส่วนใหญ่พร้อมจะให้การสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน รัฐบาลเริ่มตอบรับกับข้อเรียกร้อง จะเห็นว่า ในปี 2559 - 2560 มีการออกกฎหมายหรือมาตรการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เช่น การออกพระราชกฤษฎีกาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย ทำให้การใช้อำนาจหรือดุลพินิจแสวงหาผลประโยชน์จากช่องโหว่ของกฎหมายยากขึ้น หรือการตั้งศาลคอร์รัปชัน ทำให้กระบวนการเอาผิดเอาโทษทำได้เร็วขึ้น โดยสามารถลดเวลาพิจารณาทางกฎหมายลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของเวลาที่เคยใช้ในอดีต"

 

บทบาทองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

 

"คอร์รัปชันเป็นสิ่งที่มีมานาน และทุกวันนี้เป็นปัญหาที่ใหญ่ มากเกินกว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือกลุ่มคนจำนวนหนึ่งจะแก้ไขปัญหาได้ เราจึงพยายามชักชวนและสร้างให้มีเครือข่ายที่มองเห็นปัญหานี้ และร่วมลงมือกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมากขึ้น ด้วยการ 'ปลูกฝัง-เปิดโปง-ป้องกัน' ในเรื่อง 'การปลูกฝัง' ผ่านการรณรงค์ ให้ความรู้กับสังคม และ 'การเปิดโปง' เพื่อกระตุ้นให้มีการปราบปรามอย่างจริงจังเป็นสิ่งที่ต้องทำ

 

 

"สำหรับ 'การป้องกัน' ด้านหนึ่งเราพยายามทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างบางอย่าง เช่น มีกฎหมาย ที่จะลดปัจจัยในการทุจริต หรือกฎหมายที่จะทำให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลของรัฐสู่สาธารณะให้มากขึ้น รวมถึงกฎหมายหรือนโยบายของรัฐที่จะทำให้ประชาชนมีสิทธิและมีบทบาทเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจ การใช้เงิน การกำหนดนโยบายสาธารณะให้มากยิ่งขึ้น ผมคิดว่า 'ตรงนี้มีความสำคัญมากกว่ากฎหมายที่คอยเอาผิดลงโทษเสียอีก' เพราะถ้าการใช้อำนาจรัฐ การใช้งบประมาณ โปร่งใส ได้รับการเปิดเผย โอกาสโกงย่อมยากขึ้น และเมื่อโกงไปแล้ว โอกาสรอดก็จะยากเป็นทวีคูณ เพราะในสังคมที่คนมีสิทธิ์มีเสียง เขาจะไม่ปล่อยอะไรง่าย ๆ จะเกิดการเรียกร้อง ซึ่ง 'การเรียกร้องในสังคม' จะเป็นแรงกดดันไปถึงระดับนักการเมืองว่า การที่เขาเข้ามาสู่อำนาจ เขาได้ทำอะไรบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เพราะที่ผ่านมา ปัญหาหลายอย่างของประเทศไม่สามารถแก้ไขได้และวิกฤตลง เพราะถูกบ่อนทำลายด้วยการทุจริต หรือผลประโยชน์ของพวกพ้อง

 

 

"อีกด้านเราพยายามระดมทรัพยากรในภาคเอกชน เพื่อสร้างเครื่องมือให้สื่อมวลชนหรือภาคประชาชนได้ใช้ในเรื่องของการตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูล เช่น ทุกวันนี้ ในกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง พูดไว้แล้วว่าต้องใช้ข้อตกลงคุณธรรม หรือในโครงการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน ใช้หลักความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ หรือ Construction Sector Transparency (CoST) ตรงนี้จะเป็นกลไกให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลภาคบังคับ มีตัวแทนประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม

 

 

"นอกจากนี้ ล่าสุดเราร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สร้าง 'ACT AI' สำหรับการต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวคือ ถ้าอยากรู้ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐก็สามารถเข้ามาค้นหาได้ ถ้าหน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมือ ต่อไปเราจะรู้ได้เลยว่า ใน 1 ปี ที่ผ่านมา มีการสร้างศาลากลางจังหวัดกี่แห่ง ในภาคเหนือมีบริษัทไหนได้ บริษัทนี้ทั้งภาคเหนือหรือทั้งประเทศได้ไปกี่งาน แต่ละงานได้ในราคาเท่าไร แต่ละงานมีใครเป็นบริษัทคู่เทียบ คู่เทียบแต่ละราย เมื่อตรวจสอบจะทราบว่า มีใครเป็นผู้ถือหุ้น แต่ละบริษัทที่มาประมูล เอา Bank Guarantee มาจากไหน และใช้หลักทรัพย์อะไรประกอบ เมื่อทำเช่นนี้ จะรู้เลยว่ามี การฮั้วประมูลหรือไม่ และบรรดาคู่เทียบ ซึ่งในหลายโครงการตอนนี้ ใครเป็นคนได้งานจะเป็นคนทำ Bank Guarantee มาแจก ดังนั้นเราจะรู้ทันทีว่า โครงการไหนที่บริษัทที่มาประมูลใช้โฉนดเดียวกันเป็น Bank Guarantee แสดงว่าฮั้วกัน นอกจากนี้ ยังติดตามได้ว่า คนนามสกุลนี้ หลังจากร่วมรัฐบาลแล้ว ร่ำรวยขึ้นเท่าไร หรือหลังจากคนนามสกุลนี้เป็น รมต.คมนาคม มีที่ดินตามแนวตัดถนนแค่ไหน นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังจะเห็น แต่ในช่วงเริ่มต้น มีแค่กรมบัญชีกลางที่ยอมเปิดเผยข้อมูล แต่ระบบจะสมบูรณ์ได้จะต้องข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ธนาคาร กรมสรรพากร กรมที่ดิน กรมศุลกากร กรมพัฒนาธุรกิจหากได้ข้อมูลจากหน่วยงานเหล่านี้ จะเปรียบเหมือนเรานำกระดิ่งไปผูกคอคนโกง และจะช่วยยกระดับกระบวนการติดตาม ตรวจสอบให้เข้มข้นขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ"

 

 

อะไรคือความท้าทายที่สำคัญที่ส

 

"สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือ ทำอย่างไรให้ทุกคนเชื่อว่า การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องทำ เพราะถ้าเราคอยโยนภาระให้รัฐบาล ป.ป.ช. หรือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ แล้ว การขจัดคอร์รัปชันไม่มีทางสำเร็จ"

 

 

ทำอย่างไรให้แก้ปัญหาคอร์รัปชันสำเร็จอย่างยั่งยืน

 

 

"Key Success มี 2 ตัว ตัวแรกคือ Political Will ของผู้นำประเทศ ถ้าผู้นำไม่เอาจริง ไม่มีทางสำเร็จ อาทิ เวลาถูกกดดันก็ทำ แต่ไม่มีการกำกับดูแล หรือปราบคอร์รัปชันไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม คนก็จะไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธา Key Success ตัวที่สองคือ ความตื่นตัวและความเข้าใจ ของประชาชนว่า คอร์รัปชันเป็นมหันตภัยของชาติ ของอนาคตพวกเราทุกคน รวมทั้งลูกหลานเราด้วย ถ้ามีสองปัจจัยนี้ คอร์รัปชันจึงถูกแก้ไขอย่างยั่งยืน แต่ไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกัน และตัวที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้คือ ภาคประชาชนที่เข้มแข็ง ซึ่งการสร้างแนวร่วมที่เข้มแข็งต้องอาศัยพลังและความอดทนมาก ผมเชื่อว่า ถ้าคนไทยทุกคนทำในบทบาทที่ตัวเองทำได้ ไม่ว่าจะเป็นในภาคอุตสาหกรรม ในกลุ่มการค้า ในกลุ่มวิชาชีพ ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น ทำในบทบาทที่ตัวเองทำได้มากบ้างน้อยบ้าง อย่างนั้นจึงจะสำเร็จ

"

 

 

กำลังใจที่ช่วยให้ต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันอย่างไม่หวั่นไห

 

 

 

"ผมไม่เคยคิดว่าเก่งกาจอะไร คิดแค่เรื่องนี้ต้องมีคนทำ มีคนอธิบายให้สังคมฟังถึงพิษภัยของคอร์รัปชัน ถ้าทุกคนคิดว่า 'ไม่ใช่ธุระ' ประเทศนี้จะไม่ไปไหน ยิ่งเมื่อเข้ามาร่วมงานในองค์กรนี้ทำให้พบว่า ยังมีผู้ใหญ่ที่มุ่งมั่นทำในสิ่งที่ถูกต้องให้ประเทศมาก ยังมีคนไทยที่คิดดีทุ่มเทเพื่ออนาคตของประเทศอีกมาก เมื่อรวมพลังกันได้ นี่คือ อนาคตของประเทศ สิ่งที่ผมระลึกไว้เสมอคือ พระราชดำรัสของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า ความดีทำยากและใช้เวลา แต่ต้องทำ ท่านทรงเป็นกำลังใจให้คิดเสมอว่า ไม่ว่าจะยากแค่ไหนก็ต้องทำ ต้องสู้กันต่อไป"

 

 

สิ่งที่อยากฝากไว้

 

"แม้ปัญหาคอร์รัปชันจะฝังลึกในสังคมไทย แต่ผมเชื่อว่า ยังมีคนไทยจำนวนมากที่รักประเทศ ผมอยากฝากบอกพวกเขาว่า ช่วยกันลุกขึ้นมาเป็นพลัง 'ต้านโกง' ทำให้คนโกงไม่มีที่ยืนในแผ่นดิน พวกเราคงไม่มีใครอยากเห็นลูกหลานของเราต้องอยู่ในสังคมอย่างหวาดระแวงกับบ้านเมืองที่มีแต่คนที่คิดจะเอาเปรียบกันหรือได้รับอุบัติเหตุจากบริการสาธารณะที่ไม่ได้มาตรฐาน มาร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อให้ลูกหลานเราใช้ชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีบนแผ่นดินที่พวกเขาภูมิใจได้ว่า ที่พวกเขามีชีวิตที่ดีได้ เพราะบรรพบุรุษเขาร่วมกันขจัดคอร์รัปชันให้หมดสิ้นไป"

 

 

นี่คือ ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้สร้างกระแสต้านโกงและวางกลไกต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบจนประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า มีโอกาสหลุดพ้นจากวงจรคอร์รัปชันได้ในอนาคต แต่ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วย 2 เงื่อนไขคือ Political Will ของผู้นำประเทศ และความตื่นตัวของประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน และวันนี้อนาคตของประเทศอยู่ในมือพวกเรา มาร่วมกันเป็นพลังต้านโกง ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานไทยด้วยกันเถอะ

 

https://www.transparency.org/cpi2018

https://www.transparency.org/news/feature/global_corruption_barometer_citizens _voices_from_around_the_world