พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในความทรงจำ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมไว้อาลัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ หรือ “ป๋าเปรม” อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของท่านที่ฝากไว้ ในแผ่นดิน BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจาก คุณปราโมทย์ ฝ่ายอุประ อดีตผู้สื่อข่าวไทยรัฐ สื่อมวลชน รุ่นใหญ่ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มากว่า 10 ปี สมัยท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาร่วมถ่ายทอดความทรงจำถึงรัฐบุรุษที่เป็นหนึ่งในตำนานของไทย
เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน
คุณปราโมทย์เล่าว่า เมื่อระลึกถึง พลเอก เปรม คนจะนึกถึง ความซื่อสัตย์สุจริต ความจงรักภักดี และความมุ่งมั่น ทำคุณประโยชน์เพื่อประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอด ระยะเวลา 8 ปีที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะท่านเป็นคนเด็ดขาด มองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และรู้จักเลือกใช้คนที่หลากหลายมาร่วมรัฐบาล
“ป๋าแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์ ท่านเน้นมากเรื่องเกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน และทำเป็นตัวอย่างมาตลอด ท่านสอนเสมอว่าต้องให้คนดีปกครอง นอกจากนี้ ท่านยังให้ความสำคัญกับงานที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า อย่างแบงก์ชาติ สภาพัฒน์ ท่านให้ความเป็นอิสระเต็มร้อย ไม่เข้ามาแทรกแซง สมัยนั้นทีมเศรษฐกิจแข็งแกร่งยิ่งใหญ่มาก” คุณปราโมทย์เล่าถึงการให้ความเป็นอิสระทางการเมืองแก่หน่วยงานรัฐ และยังเล่าต่อถึงการให้ความสำคัญต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
“สมัยนั้น เศรษฐกิจโชติช่วงชัชวาล เพราะป๋าเปิดโอกาสให้คณะ นักธุรกิจร่วมเดินทางไปเจรจาการค้าด้วย รอบละกว่า 50 คน”
และถึงแม้ท่านจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ทว่าการทำงานของท่านนั้น ติดดิน มีการลงพื้นที่จริง ไม่มีจังหวัดไหนที่ท่านไม่เคยไป ซึ่งหลายครั้งคุณปราโมทย์ได้ร่วมติดตามไปทำข่าวด้วย
“ป๋าเป็นนายกฯ ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน ท่านลงพื้นที่เพื่อพบปะพูดคุยกับประชาชนในทุกจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งตอนนั้นยังใช้ลำโพงกระจายเสียง เพื่อเสนอข่าวให้ได้ยินทั้งชุมชน”
เมื่อท่านวางมือจากการเมือง พลเอก เปรม ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ 9 แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี รัฐบุรุษ และประธานองคมนตรี ด้วยความอุทิศตนและทุ่มเท ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นประธานองคมนตรีในรัชกาลที่ 10 ด้วย
ฉายา “เตมีย์ใบ้”
เป็นที่ทราบกันว่า พลเอก เปรม เป็นคนพูดน้อย จนได้ฉายาว่า“เตมีย์ใบ้” แต่คำพูดที่เอ่ย มีความหนักแน่น จริงจัง และเชื่อถือได้เสมอ ดังนั้น ทุกครั้งที่ท่านให้สัมภาษณ์นักข่าวไม่ว่าสั้นหรือยาว จึงเป็นประเด็นขึ้นหน้า 1 บ่อยครั้ง
“สมัยเป็น รมช. กระทรวงมหาดไทย ท่านเป็นคนมีอัธยาศัยดี คุยข่าวได้ตลอด ไม่ว่าเวลาเช้า กลางวัน เย็น นักข่าวถามอะไร ท่านตอบทุกคำถาม แต่พอเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่านพูดน้อยลง” คุณปราโมทย์เสริมว่า ด้วยความที่ภาระหน้าที่ท่านยิ่งใหญ่ขึ้น ท่านจึงระมัดระวังทุกคำพูดมากขึ้น เพราะอาจกระทบกับคนอื่น กระทบกับประเทศ
“ป๋าเคยเล่าว่าที่พูดน้อยลงเพราะตอนอยู่กระทรวงมหาดไทย ยังมีคนใหญ่กว่ามาแก้ข่าวให้ แต่พอดำรงตำแหน่งสูงสุดในรัฐบาลแล้ว หากพูดผิดไป ก็ไม่รู้ว่าใครจะมาแก้ข่าวให้
“ป๋ารักษาคำพูด ไม่เคยต้องแก้ข่าว ท่านถือเรื่องนี้มาก บางครั้งมีเรื่องที่อยากพูด ท่านก็ให้คนสนิทโทรมานัดแนะให้นักข่าวช่วยถามเรื่องนี้ เพื่อจะได้ขยายความให้สื่อช่วยสื่อสารต่อ ตอนนั้นป๋าเป็น ผู้ริเริ่มจัดตั้งห้องข่าวในตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาลด้วย”
คุณปราโมทย์กล่าวทิ้งท้ายว่า พลเอก เปรม เป็นผู้นำที่มีความซื่อสัตย์สุจริต และเป็นคนตรง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ท่านนำพาบ้านเมืองผ่านวิกฤตการเมืองในช่วงนั้นได้
“พลเอก เปรม” กับ ธปท.
ธปท. ได้รับเกียรติต้อนรับพลเอก เปรม ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อท่านยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และลงพื้นที่ พบปะพ่อค้าข้าราชการและประชาชนในจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2530 โดยคุณเตชะพิทย์ แสงสิงแก้ว (ผู้อำนวยการสำนักงานภาคใต้ ในขณะนั้น) ให้การต้อนรับ
อีกครั้งเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2543 ซึ่งท่านในฐานะประธานองคมนตรีและประธานกรรมการจัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเนื่องในอภิลักขิตสมัยมหามงคลวันราชาภิเษกสมรส และวันบรมราชาภิเษก ครบ 50 ปี ให้เกียรติร่วมประชุมกับคณะทำงาน ซึ่ง ธปท. น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์ธนบัตรชุดนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระอิสริยยศขณะนั้น)