ASEAN Payment Connectivity

เปิดประตูสู่โลกใหม่ของการชำระเงิน

ปัจจุบัน เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนให้เข้มแข็งขึ้น ทั้งในด้านการค้า การลงทุนและบริการต่าง ๆ ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 2 - 5 เมษายน 2562 ณ จังหวัดเชียงราย ซึ่งกระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพนั้น นอกจากจะมีการหารือถึงประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การธนาคารเพื่อความยั่งยืน การสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น และการเตรียมความพร้อมเรื่องภัยไซเบอร์แล้ว อีกด้านสำคัญที่มีการกล่าวถึงและได้รับความสนใจอย่างมาก คือ การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในอาเซียน โดยมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางของอาเซียน การจัดงานแถลงข่าวและการจัดแสดงนวัตกรรมทางการชำระเงินที่มีการเชื่อมโยงในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) นับเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของความร่วมมือของกลุ่มประเทศในภูมิภาค ซึ่งได้นำเทคโนโลยีทางการเงินมาพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

 

ในด้านความร่วมมือระหว่างธนาคารกลาง ธนาคารกลางอินโดนีเซีย กับ ธปท. และ ธนาคารกลางแห่ง สปป. ลาว กับ ธปท. ได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือด้านระบบการชำระเงินและนวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นอันดีในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลระบบการชำระเงิน รวมทั้งการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการชำระเงินระหว่างประเทศและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินของภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

ในด้านนวัตกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศ ภายในงานมีการแถลงข่าวและการจัดแสดงนวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของสถาบันการเงิน บริษัทฟินเทค ผู้ให้บริการชำระเงิน Non-bank และผู้ให้บริการเครือข่ายบัตร (Card Scheme) ภายในอาเซียน ซึ่งได้ร่วมกันพัฒนาบริการในประเทศต่าง ๆ ทั้งการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ การโอนเงินของแรงงานและธุรกิจ และการให้บริการทำธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้า (Trade Finance) โดยมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้

การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Payment (กัมพูชาและไทย)ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกับสาขาของธนาคารในกัมพูชาได้พัฒนาและทดสอบบริการชำระเงินด้วย Interoperable QR Code ที่ให้นักท่องเที่ยวไทยสามารถใช้ Mobile Banking Application ของธนาคารไทยสแกน QR Code เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการให้กับร้านค้าในกัมพูชาที่ร่วมให้บริการได้


บริการธุรกรรม Letter of Credit (L/C) ระหว่างอินโดนีเซียและไทย และภายในอาเซียนด้วย Enterprise Blockchain (อินโดนีเซียและไทย / ภายในอาเซียน)

 

ธนาคารกรุงเทพร่วมกับบริษัท GC Marketing Solutions Company Limited (GCM) ผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเป็นบริษัทในกลุ่มของ PTT Global Chemical Company Limited (GC) ได้ทดสอบการทำธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซียโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน

 

การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Payment และ Blockchain Interledger: การโอนเงินระหว่างประเทศแบบ Real-Time สำหรับภาคธุรกิจ (สปป. ลาวและไทย)

 

ธนาคารธนชาตและ Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao Public (BCEL) ร่วมกันพัฒนาบริการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Code โดยลูกค้าของ BCEL สามารถใช้ BCEL Mobile Banking Application สแกน QR Code เพื่อชำระเงินที่ร้านค้าในไทย และคนไทยสามารถใช้ Mobile Banking Application ของธนาคารไทยสแกน QR Code เพื่อชำระเงินที่ร้านค้าใน สปป. ลาว ซึ่งจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ใช้นวัตกรรมบล็อกเชนในการโอนเงินระหว่างประเทศแบบทันที (Real-Time) สำหรับภาคธุรกิจจาก สปป. ลาว มายังไทย และส่งต่อจากไทยไปยังสิงคโปร์ในเวลาที่รวดเร็ว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในด้านการบริหารจัดการ ลดต้นทุน และช่วยลดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน


การโอนเงินระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยี Blockchain (เมียนมาและไทย
)

 

ธนาคารกรุงไทยและ Shwe Bank เมียนมา ร่วมกับ Everex บริษัทผู้พัฒนา Blockchain Platform ซึ่งลูกค้าจะสามารถโอนเงินโดยไม่จำกัดสถานที่และเวลา ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้ผ่านบริการ Mobile Application ของธนาคารกรุงไทย โดยผู้รับเงินในเมียนมาสามารถเลือกรับเงินได้หลายช่องทาง เช่น การส่งเงินถึงบ้าน หรือรับเงินจากสาขาของธนาคาร Shwe Bank หรือการโอนเข้าบัญชี Shwe Bank โดยตรง ซึ่งจะเริ่มเปิดใช้บริการในอนาคตอันใกล้นี้

 

การโอนเงินระหว่างประเทศผ่านเทคโนโลยี API1 การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Payment และการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย Interoperable QR Payment (สิงคโปร์และไทย)

 

ธนาคารกสิกรไทยและธนาคาร DBS ได้ร่วมพัฒนาบริการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้เทคโนโลยี API (API-based Funds Transfer Service) เพื่อรองรับการโอนเงินจากสิงคโปร์มาไทย บริการดังกล่าวมีความพิเศษที่อนุญาตให้ผู้โอนสามารถตรวจสอบสถานะบัญชีของผู้รับโอนก่อนการโอนเงิน และสามารถโอนเงินได้สูงสุด 1.5 ล้านบาท ต่อรายการ ซึ่งได้เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน 2562

 

AIS mPay และ Singtel เริ่มให้บริการ GLOBAL Pay ซึ่งเป็น Mobile Wallet Application ที่สามารถใช้บริการชำระเงินด้วย QR Code ผ่าน VIA ซึ่งเป็นเครือข่ายการชำระเงินระหว่างประเทศของ Singtel Group ซึ่งผู้ใช้บริการชาวไทยสามารถสแกน QR Code ณ จุดรับชำระที่มีสัญลักษณ์ VIA และชาวสิงคโปร์สามารถสแกน QR Code ในไทยได้ ซึ่งในการทำธุรกรรมผ่าน VIA ลูกค้าจะได้รับความสะดวก ปลอดภัย และมีอัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้ผ่าน Mobile Wallet ของประเทศนั้น ๆ ซึ่งได้เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ปลายปี 2561

 

ธนาคารกรุงเทพร่วมกับผู้ให้บริการ Thai Payment Network และ UnionPay ทดลองการชำระเงินด้วย QR Code โดยใช้มาตรฐาน EMV ซึ่งลูกค้าชาวไทยสามารถใช้ BBL BeWallet Application ที่ผูกกับบัตรเดบิต Be1st ในการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านเครือข่ายของ UnionPay ที่ร้านค้าของ United Overseas Bank สิงคโปร์

 

การโอนเงินระหว่างประเทศผ่านเทคโนโลยี API (มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย)

 

CIMB Group ให้บริการ SpeedSend บริการโอนเงินระหว่างประเทศของ CIMB Group ซึ่งเชื่อมโยงกับ 10 ประเทศอาเซียนผ่านเทคโนโลยี API และเครือข่ายของธนาคารซึ่งมีความร่วมมือกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการโอนเงินในหลากหลายประเทศ โดยปัจจุบันรายการส่วนใหญ่ของธนาคาร CIMB ไทยเป็นการโอนเงินไปยังฟิลิปปินส์ ช่วยสนับสนุนการโอนเงินกลับบ้านของผู้ที่ทำงานระหว่างประเทศได้อย่างดี

 

ภาพความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงนี้ ได้จุดประกายความคิดและกระตุ้นการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในอาเซียนในลักษณะ Open & Interoperable Infrastructure ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานสำคัญ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของบริการชำระเงิน ลดต้นทุนการดำเนินการ เพิ่มช่องทางบริการและนวัตกรรมที่หลากหลาย สะดวกปลอดภัย เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียนให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลไปพร้อมกัน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของอาเซียนต่อไป

1 Application Programming Interface (API) เป็นช่องทางการเชื่อมต่อ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลจากระบบหนึ่งไปสู่ระบบหนึ่งที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ลดความซ้ำซ้อนและต้นทุนในการพัฒนาระบบ และรองรับการต่อยอดนวัตกรรม

 

 

>> ดาวน์โหลด PDF Version
>> อ่าน e-Magazine