ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด
บทบาทของภาครัฐในการสร้าง Digital Ecosystem เพื่อต่อยอดนวัตกรรม FinTech

ปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร หรือทำ.ธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านสมาร์ทโฟนได้มากขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่ภาครัฐจะพัฒนาต่อยอดเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการข้อมูลของภาครัฐ และสามารถทำธุรกรรมกับภาครัฐผ่านระบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น

 

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (Digital Government Development Agency: DGA) เป็นหน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบเรื่อง Digitization ของภาครัฐ ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ยุคดิจิทัลที่มีการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างภาครัฐและประชาชน จึงต้องอาศัยระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่มีองค์ประกอบของ 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ การชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital Payment) การยืนยันตัวตน (National Digital ID) และข้อมูล (Data) ที่มั่นคง ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ

 

BOT พระสยาม MAGAZINE ได้สนทนากับ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และกรรมการระบบการชำระเงิน เพื่อสอบถามถึงแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินจากภาครัฐไปสู่สังคมดิจิทัล รวมถึงการเตรียมกรอบกฎหมายที่เหมาะสม ซึ่งจะเอื้อให้ภาคเอกชนและประชาชนได้ประโยชน์จากการพัฒนานี้อย่างสูงสุด

 

Payment and Digital ID

 

          หน่วยงานภาครัฐเริ่มต้นทำเรื่องการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ตอนที่มีโครงการ National e-Payment และได้รับแรงสนับสนุนจากระบบพร้อมเพย์ โดย ดร.ศักดิ์มองว่า ฟินเทค (FinTech) จะมาเติมเต็มขั้นตอนสุดท้ายของการทำธุรกรรมภาครัฐที่ครบวงจร

 

          “หากประชาชนมั่นใจใช้ฟินเทคสำหรับจ่ายเงินอย่างทุกวันนี้ ผมคิดว่าก็ไม่น่ามีปัญหาในการที่เขาจะใช้ในการทำธุรกรรมอื่น ๆ ของภาครัฐ เช่น การเสียภาษี และการลงทะเบียนกับหน่วยงานต่าง ๆ” ดร.ศักดิ์กล่าว

 

          จิ๊กซอว์สำคัญอีกประการที่จะผลักดันเรื่อง Digital Payment ให้สมบูรณ์ขึ้น คือ National Digital ID ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมช่วยกันผลักดัน

 

         “หลักการของ Digital ID เป็นเรื่องการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อสังคมดิจิทัล แทนที่รัฐบาลจะออก ID ใหม่มาให้ทุกคนลงทะเบียนใช้ ก็เปลี่ยนเป็นการใช้ ID เดิมที่เรามีอยู่แล้วให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น เช่น ผมมี ID ของธนาคาร A ผมก็บอกธนาคาร A ว่าผมจะใช้ ID นี้ เป็น Digital ID ของผม ถ้าผมจะไปทำธุรกรรมภาครัฐ เช่น เสียภาษี แทนที่จะใช้ Username และ Password จากกรมสรรพากร ผมก็สามารถเลือกได้ว่าผมจะใช้ Digital ID ของธนาคาร A ในการเสียภาษี ระบบหลังบ้านก็จะไปจัดการดึงข้อมูลกันเอง รวมถึงบริการอื่น ๆ เช่น การลงทะเบียนต่าง ๆ ของภาครัฐ จากเดิมที่ต้องไปออก Username และ Password ของหน่วยงานภาครัฐแต่ละที่ซึ่งยุ่งยากมาก แต่ถ้าระบบเชื่อมโยงกันบนพื้นฐานที่ต้องได้รับความยินยอม (Consent) ในการเปิดเผยข้อมูลจากบุคคลนั้น ก็จะสะดวกมากขึ้น ตอนนี้อุปสรรคแรกที่ประชาชนไม่อยากลงทะเบียนทำธุรกรรมออนไลน์กับภาครัฐ คือ การเสียเวลาลงทะเบียน และข้อมูลไม่อัปเดต”

 

         ดร.ศักดิ์เสริมว่า “ต่อไปจะมีผู้ให้บริการ Digital ID จากภาคเอกชนเกิดขึ้น และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) จะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเรื่องการยืนยันตัวตน และความปลอดภัยในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งจุดเด่นของประเทศไทย คือ Digital ID จะใช้งานได้ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยเป็นเรื่องการยืนยันตัวตนและมีความปลอดภัยในการทำธุรกรรมต่าง ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ บริการต่าง ๆ ของภาคเอกชน ถ้าใช้ Digital ID จะสามารถลดขั้นตอนการลงทะเบียนของประชาชนได้ เพราะ ID เดียวสามารถใช้ได้หมด”

 

           ดร.ศักดิ์กล่าวว่า “ถ้าประชาชนมีความมั่นใจในการใช้งาน และรัฐบาลได้เตรียมกรอบกฎหมายกำกับที่เหมาะสม ภาคเอกชนก็พร้อมจะต่อยอดให้เกิดนวัตกรรม ถ้ามองในเรื่องของฟินเทค โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมเหล่านี้ จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น Peer-to-Peer (P2P) Lending และนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในที่สุด”

 

Digital Building Block

 

          ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า หากระบบนิเวศท้้งสามครบ คือ (1) Digital Payment (2) Digital ID และ (3) Data การขยายดิจิทัลให้ลงไปถึงเรื่องต่าง ๆ จะไม่มีปัญหา เพราะทั้งสามเรื่องนี้จะเป็นโครงสร้างหลัก (Building Block) ของดิจิทัลทั้งหมด

 

         “เรื่องแรก Digital Payment ปัจจุบันประชาชนมีความเชื่อมั่นในระบบอยู่แล้ว จึงมีการโอนเงินกันมาก เรื่องที่สอง Digital ID อยู่ในขั้นตอนที่กำลังรอ ซึ่งทางธนาคารกำลังจะเริ่มก่อน โดยมี e-KYC (Electronic Know Your Customer) เป็นจุดเริ่มต้น ประเทศไทย โชคดีที่มีธนาคารเป็นตัวนำ เพราะถ้าเรื่องเงินสามารถทำได้ เรื่องอื่นก็ไม่ใช่เรื่องยาก และเรื่องที่สาม Data อยู่ในระหว่างดำเนินการ การทำให้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐเป็นดิจิทัล เริ่มจากโครงการยกเลิกสำเนาเอกสาร โดยต่อไปสำเนาที่ภาครัฐส่งหากันจะเป็นสำเนาดิจิทัล ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างรอประกาศออกกฎหมาย 3-4 ฉบับ1 เพื่อรองรับในเรื่องการทำเรื่องดิจิทัลให้ถูกต้องตามกฎหมาย”

 

 

         กฎหมายที่จะเอื้อต่อการทำเรื่องดิจิทัล ประกอบด้วย พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฉบับใหม่2 ซึ่งจะมีเรื่องการกำกับ Digital ID และธุรกิจต่าง ๆ พ.ร.บ. การบริหารงานและการใช้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล ที่จะทำให้การเชื่อมฐานข้อมูลภาครัฐเอื้อต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ ซึ่งในที่สุดจะทำให้เกิด One-Stop Service นอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่ส่งผ่านดิจิทัลไม่มีปัญหาและทำให้การเชื่อมข้อมูลดิจิทัลสามารถข้ามจากภาครัฐไปภาคเอกชนได้ รวมถึงจะมีระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ที่การันตีได้ว่า ถ้าหากมีปัญหาขึ้นมา จะมีหน่วยงานไปดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ

 

 

      ดร.ศักดิ์กล่าวว่า “รัฐบาลได้วางโครงสร้างทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะมีหน่วยงานเกิดขึ้นใหม่ 2 หน่วยงาน คือ ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคล ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่ามีการกำกับดูแลที่เหมาะสม”

 

         นอกจากนั้น ในร่าง พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล จะมีมาตราหนึ่งที่ระบุถึงเรื่องธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) “ถ้าข้อมูลภาครัฐที่ปล่อยออกไป ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่มีความถูกต้อง ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะโลกดิจิทัลเป็นเรื่องของการเชื่อมข้อมูลเข้าด้วยกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นภาครัฐต้องทำเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ข้อมูลที่เปิดออกไปมีความถูกต้อง” ดร.ศักดิ์กล่าวเสริมว่า สำหรับกรณีข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้จะไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูล แต่จะมีการแลกเปลี่ยนกันได้ ในเงื่อนไขที่เจ้าตัวยินยอม

 

         “ถ้า Digital ID สามารถทำให้ประชาชน Consent ได้ แสดงว่าฟินเทคนั้น สามารถเชื่อมข้อมูลจากภาครัฐเอาไปใช้ต่อได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป ฟินเทคอาจต้องกำกับโดย ETDA หรือหน่วยงานด้านคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่า แม้จะได้รับ Consent แล้ว แต่ระบบในการนำข้อมูลไปใช้ต้องดีด้วย เหตุผลที่เราต้องทำแบบนี้คือ การกำกับในเรื่องความเป็นส่วนตัว”

 

         ดร.ศักดิ์กล่าวว่า ตอนนี้จิ๊กซอว์ทุกอย่างครบแล้ว ประเทศไทยเหลือแค่การนำไปปฏิบัติ “ถ้าทำดี ๆ มันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เหมือนกับที่ ธปท. ทำให้ประชาชนมีการโอนเงินเยอะมากผ่านระบบพร้อมเพย์ เรากำลังจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดจริง ๆ

 

          “สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเชื่อมต่อข้อมูลถึงกันผ่านดิจิทัล คือ ตรวจสอบข้อมูลได้หมด เกิดความโปร่งใสในกระบวนการต่าง ๆ มากขึ้น เช่น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การที่รัฐจ่ายเบี้ยโดยตรงให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือผู้สูงอายุ”

 

Payment Ecosystem in Asean

 

         หากมองในภาพกว้างออกไป ระบบนิเวศดิจิทัลในประเทศอาจไม่เพียงพอที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค แนวคิดเรื่องระบบนิเวศในอาเซียนจึงเป็นสิ่งที่ ดร.ศักดิ์ให้ความสนใจและคาดหวังให้เกิดขึ้น

 

         “ผมอยากให้เกิดระบบนิเวศในอาเซียน เราอย่ามองเรื่อง Digital ID แค่ประเทศไทย ผมยังคิดว่า จะเป็นไปได้ไหมที่จะมี Digital ID ของอาเซียน ไม่มีประโยชน์ที่จะทำ Digital ID ของประเทศเราแล้วคุยกับประเทศอื่นไม่ได้ ถ้าทำให้เกิดระบบนิเวศในอาเซียนได้ โดยที่ลดค่าบริการ (Overhead) ต่าง ๆ จะตอบโจทย์มากขึ้น และในปีนี้เราเป็นประธานของอาเซียน ผมเสนอไอเดียว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการชำระเงินภายในอาเซียนในลักษณะที่ทุกคนได้ประโยชน์ไปด้วยกันทั้งหมด (Win-Win)”

 

         ดร.ศักดิ์กล่าวว่า “ภายใต้กรอบคิดเรื่องนี้ ในภูมิภาคอาเซียนย่อมจะมีประเทศที่พร้อมและประเทศที่ไม่พร้อม ดังนั้นหลักการต้องเน้นเรื่องความยุติธรรม (Fairness) ธรรมาภิบาล (Governance) และการรักษาสมดุล (Balance)

 

         “โดยรวมแล้ว ผมมองว่าโจทย์เรื่องฟินเทคและดิจิทัลที่สำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะลดค่าบริการที่ไม่จำเป็นและลดให้ได้มากที่สุด ถ้าเป็นไปได้ ไม่มีเลย ทุกวันนี้คนชอบใช้ Mobile Banking เพราะไม่ต้องเสียค่าโอน คนก็พร้อมจะโอนเงิน ซึ่งต่อไปจะเกิดโอกาสใหม่ ๆ ในการระดมทุนหรือทำธุรกิจผ่านฟินเทคมากขึ้น เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งนำเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์แก่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนมากขึ้น ผมจึงมองว่า ฟินเทค คือ Backbone ของยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง”

 

 

[1] ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 แล้ว โดยมีผลบังคับใช้ วันที่ 28 พฤษภาคม 2562

 

[2] พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2562