​Bangkok FinTech Fair 2019

Collaboration for the Future of Finance


 

ในยุคที่เทคโนโลยีทางการเงินหรือ ฟินเทค (FinTech) พัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนมีคำพูดว่าฟินเทค จะเปลี่ยนโลกการเงินในอนาคต สิ่งสำคัญคือ ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่มีการบูรณาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รูปแบบธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน Bangkok Fintech Fair 2019 ภายใต้แนวคิด "Collaboration for the Future of Finance" เพื่อสนับสนุน และกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรมการเงินของไทย รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและการประยุกต์ใช้ฟินเทคในการให้บริการและเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร

 

 

งาน Bangkok FinTech Fair ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 นี้ ครอบคลุมเนื้อหาหลากหลายมิติ อาทิ ความร่วมมือของผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลายในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกัน นวัตกรรมและการเข้าถึงบริการทางการเงิน การเชื่อมโยงบริการทางการเงินระหว่างประเทศ การพัฒนาข้อมูลอย่างบูรณาการ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนา รวมถึงความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยภายในงานแบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่ ห้อง Main Conference Hall เป็นห้องเสวนาหลักด้านความก้าวหน้าของฟินเทคที่เป็นโครงการชั้นนำของไทยและต่างประเทศ ห้อง Technology Talk มีการพูดคุยถึงเทคโนโลยีทางการเงินอย่างเจาะลึก และห้อง ASEAN FinTech Connectivity ที่ประมวล ความสำเร็จของความร่วมมือด้านฟินเทคในอาเซียน นอกจากนั้น มีการออกบูธจัดแสดงความก้าวหน้าของบริการทางการเงินและเทคโนโลยีทางการเงินทั้งในและต่างประเทศจากสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการชำระเงิน บริษัทด้านฟินเทคและเทคโนโลยี และหน่วยงานภาครัฐ Global Trend ฉบับนี้ จึงขอยกไฮไลท์ของงานบางส่วนมาแบ่งปันให้ผู้อ่านทุกท่าน

 

 


คุณค่าของเครือข่ายการเงิน

 

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า "ขณะที่เรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปิดรับเทคโนโลยียังคงเป็นเรื่องสำคัญ อีกประเด็นสำคัญของบริการทางการเงินที่เราต้องไม่ลืม เมื่อเราขับเคลื่อนวาระฟินเทค คือ คุณค่าของเครือข่ายการเงิน (Value of Financial Network)"

 

"บริการทางการเงินแตกต่างจากสินค้าและบริการอื่น ๆ ตรงที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและสังคมได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อเงิน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเงินสดหรือเงินดิจิทัล สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีโดยไม่มีต้นทุนและข้อจำกัด ซึ่งในโลกดิจิทัลปัจจุบัน นับเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนและสังคมสามารถได้รับประโยชน์จากธุรกรรมทางการเงินและข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น การรักษาและสร้างความเข้มแข็งในคุณค่าของเครือข่ายการเงิน จะเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาระบบการเงินต่อไป

 

"ในทางตรงกันข้ามกับเครือข่ายการเงินที่แข็งแกร่ง คือ การกระจายตัว (Fragmentation) ซึ่งระบบการเงินและบริการชำระเงินได้เกิดการกระจายตัวเนื่องมาจากการใช้โครงสร้างพื้นฐานหลักที่แตกต่างกัน หรือมาตรฐานที่แตกต่างกันที่ถูกควบคุมโดยผู้เล่นที่ทรงอิทธิพลเพียงน้อยราย เมื่อมาตรฐานและระบบหลักแตกต่างกัน ธุรกรรมทางการเงินและการเคลื่อนย้ายข้อมูลจะเผชิญกับข้อจำกัด ซึ่งจะกีดกันการแข่งขัน ความร่วมมือ และนวัตกรรม ในโลกของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ การสร้างความเข้มแข็งให้กับคุณค่าของเครือข่ายการเงินของเรานับเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจขนาดเล็ก เช่น ประเทศไทย และจำเป็นต้องทำ เพื่อให้ระบบของเรายังคงมีพลวัต มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนระบบนิเวศที่เอื้อต่อนวัตกรรมและการแข่งขัน ธรรมชาติของบริการทางการเงินทำให้เราต้องเน้นย้ำถึงการสร้างความเข้มแข็งของระบบการเงินที่มีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการเงินแบบดิจิทัล (Digital Finance) จึงไม่ใช่ความพยายามของ บริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น และเราจำเป็นต้องมุ่งเน้นที่การสร้างระบบนิเวศของระบบการเงินแบบดิจิทัล โดยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลาย"


4 หลักการกำหนดทิศทางฟินเทค

 

ผู้ว่าการ ธปท. ได้กล่าวถึง 4 หลักการสำคัญในการกำหนดทิศทางวาระฟินเทคของ ธปท. โดยหลักการเหล่านี้จะสร้างความเข้มแข็งให้กับคุณค่าของเครือข่ายทางการเงิน และการพัฒนาระบบนิเวศของระบบการเงินแบบดิจิทัล

 

1. โครงสร้างพื้นฐานแบบเปิด (Open Architecture Framework) โครงสร้างพื้นฐานสำคัญต้องเปิดกว้าง เพื่อให้ทั้งผู้เล่นรายเก่าและรายใหม่ที่สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานทั้งด้านธุรกิจและด้านเทคนิคที่กำหนดสามารถเชื่อมโยงกันได้ง่าย และสามารถแชร์ต้นทุนของการพัฒนาและการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม รวมถึงไม่สร้างความเสี่ยง ด้านเสถียรภาพทางการเงิน โครงสร้างพื้นฐานแบบเปิดนี้จะสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน และขจัดการกีดกันการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ ซึ่งมักจะนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาพร้อมด้วย

 

2. ระบบที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ (Interoperability of Systems) ผู้ให้บริการทางการเงินแต่ละรายอาจดำเนินงานบนระบบที่แตกต่างกัน แต่เราต้องแน่ใจว่า ระบบที่แตกต่างกันเหล่านี้สามารถสื่อสารกันได้ เงินและข้อมูลสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างกันได้ โดยผ่านการมีมาตรฐานกลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างข้อมูล การชำระเงินผ่าน QR Code หรือการยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ (Biometrics) ซึ่งจะทำให้เราได้ประโยชน์จากการแข่งขันระหว่างระบบการให้บริการ ขณะที่มั่นใจได้ว่าบริการต่าง ๆ ที่แข่งขันกันสามารถเชื่อมโยงกันได้ และระบบการเงินโดยรวมไม่เกิดการกระจายตัว นอกจากนั้น แนวคิดการเชื่อมโยงยังสามารถต่อยอดไปสู่ระดับสากล ดังที่ได้เห็นจากกรณี ของบริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR Code ในภูมิภาคอาเซียน

 

3. การสร้างโครงสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม (Creating the Right Incentive Structure) นอกจากเรื่องความสะดวกและราคาแล้ว ความเชื่อมั่น คือเรื่องสำคัญที่จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการทางการเงินแบบดิจิทัล โดยผู้บริโภคจำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ และในส่วนของผู้ให้บริการเอง ก็ควรมีโครงสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม ไม่บิดเบือนอำนาจตลาด โดยเฉพาะจากผู้เล่นรายใหญ่ ที่จะลดทอนการแข่งขัน และนำไปสู่การกีดกันนวัตกรรมในที่สุด ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นรากฐานสำหรับการเปิดรับบริการทางการเงินแบบดิจิทัลของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับบริการของผู้ให้บริการทางการเงิน และการเข้าถึงตลาดของผู้เล่นรายใหม่ที่มีนวัตกรรม

 

4. การสร้างกรอบการกำกับดูแลที่ส่งเสริมความคล่องตัว (Creating Regulatory Framework that Promotes Agility) โดยยังคงรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งผู้กำกับดูแลต้องมีการพิจารณาทบทวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่ากรอบการกำกับดูแลยังเหมาะสมในบริบทของโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และด้วย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี สามารถพบได้ว่าการริเริ่มนวัตกรรมทางการเงินมักจะเริ่มต้นภายในธุรกิจขนาดเล็ก จากนั้นจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ผู้กำกับดูแลต้องคำนึงถึงหลักการสัดส่วนเหล่านี้ (Concept of Proportionality) เพื่อให้สามารถดูแลกิจกรรมทางการเงินที่มีความเสี่ยงในระดับที่แตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม และสามารถมุ่งเป้าหมายในการตรวจสอบกิจกรรมที่อาจสร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงินได้ดียิ่งขึ้น

"เราต้องตระหนักว่า ผลิตภัณฑ์และกิจกรรมทางการเงินกำลังขยายบริการข้ามขอบเขตอำนาจของหน่วยงานกำกับดูแลที่แตกต่างกัน กรอบการกำกับดูแลจึงควรต้องเปลี่ยนจากกฎระเบียบที่อิงกับองค์กร (Entity-based Regulations) ไปสู่กฎระเบียบที่อิงกับกิจกรรม (Activity-based Ones) โดยสิ่งสำคัญที่สุด คือการกำกับดูแลต้องมี ความคล่องตัว (Agile) และสามารถปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของโลกดิจิทัล" ดร.วิรไทกล่าว


The Art of Collaboration

 

การเสวนาเริ่มด้วยด้วยหัวข้อ "Driving National Infrastructure: The Art of Collaboration with Multiple Stakeholders" มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย คุณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท., Mr. Colin Pou, Executive Director (Financial Infrastructure), Hong Kong Monetary Authority, Mr. Shashi Verma, Chief Technology Officer, Transport for London และ Mr. Paul Sin, FinTech Leader, Deloitte

 

คุณรณดลกล่าวถึง 4 ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญของไทย คือ โครงการพร้อมเพย์ โครงการอินทนนท์ และโครงการ National Digital ID ให้ ประสบความสำเร็จ คือ (1) การออกแบบบริการที่ดีและเป็นประโยชน์ ต่อส่วนรวม (2) การขับเคลื่อนโครงการที่เหมาะสมตามลักษณะของ ผู้เกี่ยวข้องผ่านคณะทำงานที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยการหารือครอบคลุมทั้งประเด็นด้านธุรกิจ เทคนิค และกฎหมาย (3) การวางแผนการสื่อสารโดยคำนึงถึงการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ และ (4) การติดตามพัฒนาการอย่างเท่าทัน มีการปรับปรุงแผนงานให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยให้การบริหารโครงการขนาดใหญ่สามารถบรรลุเป้าหมายและประชาชนผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์สูงสุด

 

Mr. Shashi Verma ได้ยกประเด็นสำคัญคือการคำนึงถึงความ ต้องการของผู้บริโภคในการพัฒนาบริการทางการเงิน โดยยกตัวอย่างของ Transport for London ว่าได้มีการศึกษาวิจัยและพบว่าผู้ใช้บริการไม่ได้ต้องการที่จะมาซื้อตั๋วและตัวบริษัทเองก็ไม่ได้ต้องการจะขายตั๋วเช่นเดียวกัน จึงนำมาสู่การพัฒนาใช้เทคโนโลยี NFC และ บัตร Contactless เพื่อให้สามารถให้บริการแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งมาจากทั่วโลกซึ่งมีบัตรประเภท Contactless อยู่แล้วได้อย่างคล่องตัวตามแนวทาง Open Infrastructure & Interoperability

 

Mr. Colin Pou กล่าวถึงประสบการณ์ในฮ่องกงว่า แม้ผู้กำกับดูแล และบริษัทฟินเทคและเทคโนโลยี จะมีลักษณะและวัฒนธรรมแตกต่างกัน อาทิ ฟินเทคเน้นสร้างนวัตกรรม แต่ผู้กำกับดูแลและธนาคารกลางให้คุณค่ากับการรักษาเสถียรภาพ ต้องการปกป้อง ผู้บริโภคและนักลงทุน ทั้งสองฝ่ายต่างมีเป้าประสงค์ร่วมกัน คือ ต้องการสร้างประสบการณ์ผู้บริโภคที่ดีขึ้นต่อผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มากขึ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ในฮ่องกงมีความร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ

 

Mr. Paul Sin ได้แบ่งปันแนวคิดจากการบริหารโครงการว่า ฟินเทคไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในภาคการเงินแต่ยังเป็นการเปลี่ยน Mindset จากการแข่งขันมาเป็นการสร้างความร่วมมือกันซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยน Mindset ในเรื่องนี้ ก็จะไม่มีใครสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทรงพลังอย่าง AI Blockchain และ Open Banking ได้อย่างเต็มที่

 


Inclusive Digital Finance

 

 

ในการเสวนาหัวข้อสุดท้าย "Collaboration for Inclusive Digital Finance: How to Make It Happen?" มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. Mr. Anthony Tan ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Grab คุณจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ และคุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท T2P

 

Mr. Anthony Tan กล่าวว่า Grab เพิ่งฉลองครบรอบ 7 ปีของบริษัท และในอีก 7 ปีข้างหน้า ความเร็วของนวัตกรรมจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะเรื่องฟินเทค การชำระเงิน การให้สินเชื่อ และการประกันภัยรายย่อย โดยในกรณีของ Grab บริษัทได้ข้อมูลจำนวนมหาศาล และข้อมูลเหล่านั้นก็ทำให้บริษัทนำเสนอบริการใหม่ ๆ ที่ทำให้คนเข้าถึงบริการทางการเงิน อาทิ การให้สินเชื่อ หรือการเข้าถึงเครดิตในรูปแบบที่เป็นทางการและโปร่งใส โดยไม่ได้เพิ่มหนี้ครัวเรือน และเคลื่อนย้ายพวกเขาจากเงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยสูงไปสู่การเข้าถึงสินเชื่อที่โปร่งใสและติดตามได้

 

คุณจรัมพรอธิบายว่า แต่เดิมนั้นธนาคารเป็นผู้ให้บริการหลัก แต่ปัจจุบันธนาคารต้องคิดว่าตัวเองเป็นแพลตฟอร์มในรูปแบบที่ฟินเทค หรือ Solution เข้ามา "ปลั๊กแอนด์เพลย์" อย่างรวดเร็ว เพื่อให้บริการในรูปแบบใหม่ ๆ คุณจรัมพรยกตัวอย่างเรื่องเทคโนโลยี Biometrics เช่น การใช้ใบหน้ายืนยันตัวตน และอื่น ๆ อีกมากมาย และเสริมว่า ธนาคารจะเชื่อมต่อได้เร็วแค่ไหน "การเชื่อมโยงกันได้ คือกุญแจสำคัญ แต่เดิมนั้นทุกอย่างคือการทำตามความต้องการของธนาคาร ในปัจจุบันต้องเน้นไปที่มาตรฐานและการเชื่อมโยงกันได้ การมุ่งไปสู่ระบบที่อิง API ทำให้เราสามารถรวมนวัตกรรมจำนวนมากเข้าสู่ระบบได้"

 

ทางด้านคุณณัฐวุฒิกล่าวว่า การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านฟินเทคให้ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากการสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างกัน (Collaboration Framework) แล้ว ยังจำเป็นต้องสร้างความตระหนัก ถึงความท้าทายจากภายนอกที่จะกระตุ้นให้ทุกคนต้องร่วมมือกัน นอกจากนั้น ความร่วมมือระหว่างผู้กำกับดูแลและผู้เล่น รวมทั้งการขับเคลื่อนโดยการแข่งขันที่แข็งแรง คือกุญแจไปสู่ความสำเร็จของฟินเทคและประโยชน์ของผู้บริโภค

 

 

ดร.วิรไทกล่าวว่า ธปท. มีหลายบทบาท โดยนอกจากบทบาทหลักในการเป็นผู้กำกับดูแลแล้ว ธปท. ยังมีบทบาทเป็น Enabler และ Catalyst ที่ทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศเกิดขึ้น บทบาทที่แตกต่างกันนับว่ามีความสำคัญในการกำกับ ประสาน และสร้างโครงสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมในระบบนิเวศ "การ สร้างโครงสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน และนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เป็นหลักการที่เราใช้ตลอดการเดินทางของฟินเทค" ดร.วิรไทเสริมอีกว่า ฉากต่อไปของวาระฟินเทคประเทศไทย คือ ระบบนิเวศฟินเทค (FinTech Ecosystem) เพราะความก้าวหน้าในการเดินทางของฟินเทคนั้น ระบบนิเวศคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นที่มาของธีมงาน Collaboration for the Future of Finance

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความสำเร็จของงาน Bangkok FinTech Fair 2019 นี้ ได้เน้นย้ำให้เห็นว่า พัฒนาการและความสำเร็จต่าง ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือ (Collaboration) จากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และภาคเทคโนโลยี ซึ่งความร่วมมือร่วมใจอย่างสร้างสรรค์จะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาฟินเทคให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก